posttoday

ผลวิจัยชี้ธนาคารกลางต้องมีอิสระ

24 กันยายน 2555

ผลวิจัยระบุ ธนาคารกลางยันต้องมีอิสระ-ธรรมาภิบาลในการทำหน้าที่เพื่อประสิทธิภาพในการทำนโยบายและส่งเสริมเอกชน

ผลวิจัยระบุ ธนาคารกลางยันต้องมีอิสระ-ธรรมาภิบาลในการทำหน้าที่เพื่อประสิทธิภาพในการทำนโยบายและส่งเสริมเอกชน   

นายพูมใจ นาคสกุล หัวหน้านักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) น.ส.กฤตชญา จั่นเจริญ เศรษฐกรอาวุโส  และนายสุพริศร์ สุวรรณิก ผู้เสนอบทความเรื่อง”หลักการและบทบาทของธนาคารกลาง” มองว่า ธนาคารกลางควรมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งด้านเสถียรภาพการเงิน จากการดูแลปริมาณเงินให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ

ขณะที่ในด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินก็เป็นผู้ให้กู้แหล่งสุดท้ายในยามที่สถาบันการเงินขาดสภาพคล่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการรักษาค่าเงินให้มั่นคง โดยผ่านการรักษาเสถียรภาพด้านราคา เพราะหากเกิดเงินเฟ้อยืดเยื้อและรุนแรงจะส่งผลเสียต่อการเติบโตในระยะยาว และสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม เพราะจะกระทบกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากที่สุด 

อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวหรือไม่ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางเป็นสำคัญ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อธนาคารกลางยึดมั่นในบาทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และสามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐและกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งความอิสระในที่นี้ คือ การแยกอำนาจการพิมพ์เงินกับอำนาจการใช้เงินออกจากกัน เพื่อดำรงไว้ซึ่งวินัยทางการเงิน

"การศึกษาเชิงประจักษ์ชี้ว่าธนาคารที่มีอิสระจะดูแลเงินเฟ้อได้ดี และเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยความเป็นอิสระต้องอยู่ภายใต้ธรรมมาภิบาล ซึ่งต้องมีความโปร่งใสของการเปิดเผยข้อมูลจนถึงกระบวนการตัดสินนโยบายและความรับผิดชอบต่อผลของนโยบาย ซึ่งการมีธรรมมาภิบาลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายและปกป้องความเป็นอิสระ"ผลวิจัยระบุ

ด้านนายวิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้วิจารณ์บทความ กล่าวว่า ความท้าทายต่อธนาคารกลางใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ในเรื่องการประสานงาน 1.การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ 2.การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังภายในประเทศ 3.การดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน และนโยบายตลาดทุน และ 4.ความท้าทายในการรักษาสมดุลระหว่างผู้พัฒนาตลาดการเงินและบาทบาทผู้กำกับนั้น ธนาคารกลางต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานช่วยส่งเสริมการแข่งขันให้ภาคเอกชน และเข้าในกลไกลต่างๆของระบบเศรษฐกิจ และสามารถสื่อสารต่อสาธารณชน มากขึ้นเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศและภาคธุรกิจที่จะไปแข่งกับโลกภายนอก