posttoday

ประสารย้ำธปท.พร้อมพาไทยฝ่าวิกฤตศก.

24 กันยายน 2555

"ประสาร" ชี้วิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น แต่ธปท.จะยืนยันทำหน้าที่ให้ประเทศพ้นวิกฤตด้วยความเป็นอิสระ

"ประสาร" ชี้วิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น แต่ธปท.จะยืนยันทำหน้าที่ให้ประเทศพ้นวิกฤตด้วยความเป็นอิสระ

ประสารย้ำธปท.พร้อมพาไทยฝ่าวิกฤตศก. ประสาร

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 “บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” ว่า เศรษฐกิจไทย ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐ วิกฤตการเงินโลก และต่อเนื่องมาจนถึงวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป โดยวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ก่อนมักคิดว่าเกิดขึ้นทุก ๆ 10 ปี แต่ระยะหลังมานี้กลับเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจแทบทุกปี และแต่ละครั้งดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลให้วิกฤตเศรษฐกิจลุกลามจากภูมิภาคหนึ่งไปสู่ภูมิภาคอื่นได้รวดเร็วขึ้น

และผลจากปัญหาวิกฤตลุกลามจากสหรัฐไปสู่ประเทศเล็ก ๆ ในทวีปยุโรปในระยะเวลาอันสั้น และมีทีท่าว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปยังประเทศหลัก จนผลักดันให้ธนาคารกลางหลายประเทศจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งให้ความช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่องในแบบที่เคยคิดว่าไม่ควรทำมาก่อน แต่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเผชิญกับปัญหาใด สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ ความคาดหวังของสาธารณชนต่อบทบาทของธนาคารกลางที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้ประเทศพ้นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในที่สุด จนบางครั้งเกิดเป็นความคาดหวังที่สูงเกินไป ดังที่เห็นจากเหตุการณ์ในประเทศตะวันตกขณะนี้

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้กรอบนโยบายการเงินใด หน้าที่ของธนาคารกลางที่เป็นที่ยอมรับของสากล คือ การรักษาเสถียรภาพราคา เพราะการวางแผนธุรกิจ การตั้งราคาสินค้า และการวางแผนการออม จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากประชาชนไม่สามารถคาดคะเนได้ว่า รายได้ที่ประมาณการไว้วันนี้ จะมิถูกเงินเฟ้อ หรือค่าเงินที่ด้อยถอยลง ริดรอนไปในอนาคต และหากมองว่าหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินคือ การหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จำเป็นต้องปรับกรอบนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเงิน และความเข้มแข็งของสถาบัน

นายประสาร กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อน และเปิดกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน ธปท.มีบทบาทหน้าที่สำคัญที่ช่วยรองรับผลกระทบจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และความผันผวนที่มีความรุนแรงขึ้นเทียบกับในอดีต เงินทุนไหลเข้าส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น  แต่ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายที่มีความยืดหยุ่นในปัจจุบัน ธปท.อาจเข้าดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวที่บิดเบือนไปจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และใช้เครื่องมือนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหลัก ร่วมกับเครื่องมืออื่นไม่ว่าจะเป็น อัตราแลกเปลี่ยน หรือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยป้องกันความไม่สมดุล( macro prudential) ในการสนับสนุนการเติบโตและลดความผันผวนของเศรษฐกิจในระยะสั้นไปพร้อมกัน

"การดำเนินงานของธปท. ไม่เพียงแต่จะต้องยึดมั่นในหลักการดำเนินงาน เพื่อประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจการเงินมาโดยตลอด แต่ยังต้องอาศัยความมีอิสระในการดำเนินนโยบาย เพราะหากธนาคารกลางจะต้องคำนึงถึงความพอใจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โอกาสที่จะคิดนโยบายใหญ่ ๆ คิดอย่างมีกลยุทธ์ และหวังผลสัมฤทธิ์ในระยะยาวก็จะน้อยลง จึงเป็นที่มาของหลักการทำงานของธนาคารกลางที่ต้องเป็นอิสระ ที่ทุก ๆ ประเทศให้การยอมรับ"นายประสารกล่าว

นายประสาร กล่าวว่า  ประเด็นสำคัญที่ควรตระหนักในการดำเนินงานของธนาคารกลาง คือความสำเร็จขององค์กรไม่สามารถประเมินได้จากผลกำไรหรือราคาหุ้น ที่กิจการของเอกชน ที่มักใช้เป็นเครื่องสะท้อนผลประกอบการ หรือการชี้วัดความน่าเชื่อถือจากผู้ถือหุ้น หรือสาธารณชน เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่มุ่งรักษาเสถียรภาพโดยรวม มิใช่การดำเนินงานเพื่อแสวงหาผลกำไร และแม้ว่า ในปัจจุบัน นักวิเคราะห์เริ่มมีการให้คะแนนผลการดำเนินงานของธนาคารกลางต่าง ๆ ว่าสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียงใด  ซึ่งธปท.ก็ไม่ได้รับการยกเว้น