posttoday

ธปท.ห่วงปีหน้าเศรษฐกิจชะลอตัว

10 กันยายน 2555

ธปท.ห่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจปีหน้าจะชะลอ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอาจกระทบเพิ่มขึ้น-ภาครัฐเบิกจ่ายน้อยลง

ธปท.ห่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจปีหน้าจะชะลอ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอาจกระทบเพิ่มขึ้น-ภาครัฐเบิกจ่ายน้อยลง

นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า สาเหตุที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ยังไม่มีการใช้นโยบายดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ เนื่องจากกนง.ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจปีนี้น่าจะยังขยายตัวได้ในระดับที่ดี เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศหรือการบริโภคภายในยังขยายตัวได้ แม้การส่งออกจะกระทบจากเศรษฐกิจโลกและยุโรปชะลอลง ทำให้เติบโตลดลงบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรง เศรษฐกิจปีนี้ก็ยังสามารถขยายตัวได้ ทำให้ยังไม่มีการปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปีนี้ ที่คาดไว้ 5.7%

นายทรงธรรม กล่าวว่า แต่สิ่งสำคัญที่ต้องตามดู คือ การชะลอของเศรษฐกิจโลกจะมีผลต่อการส่งออกปี 2556 มากขึ้นอย่างไร รวมถึงการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ปีนี้มีน้อยกว่าคาดแล้ว ยังไม่แน่ว่าปีหน้าอาจจะน้อยลงได้อีกหรือไม่ เพราะอย่างโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ก็เบิกจ่ายได้น้อยมาก ทำให้แรงส่งต่อเศรษฐกิจปีหน้ามีมากกว่าที่เราเคยคาดไว้ และอาจมีแนวโน้มชะลอลงได้ แม้เม็ดเงินที่รัฐบาลตั้งไว้จะยังไม่หายไปไหน หากจำเป็นรัฐบาลก็อาจจะมาเร่งเบิกใช้ได้

"จาก 2 ปัจจัยหลักนี้ ทำให้กนง.ต้องรอติดตามดูและเก็บเสบียงด้านนโยบายดอกเบี้ยไว้ก่อน และมองว่ายังไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ แต่หากจำเป็นที่จะต้องทำในปีหน้าก็สามารถทำได้ แต่ที่เราห่วงปีหน้าจะชะลอ เพราะห่วงเศรษฐกิจโลกกระทบเพิ่ม กนง.จึงต้องรอดูสถานการณ์หรือเวสแอนด์ซี"นายทรงธรรมกล่าว

ทั้งนี้ ในการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจจำเป็นต้องติดตามดูสถานการณ์ 2 ส่วน คือ 1.ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก จากปัญหายูโรโซนที่ยังชะลอลง อาทิ กรณีวันที่ 12ก.ย.นี้ ที่จะมีการตัดสินของศาลเยอรมัน ในเรื่องที่จะยอมให้กองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป(อีเอสเอ็ม) เข้าไปซื้อพันธบัตรเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องประเทศสมาชิกจะมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งถ้าเพิ่มสภาพคล่องให้ได้ก็ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ปรับดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความเศรษฐกิจยูโรโซนจะดีขึ้นจริงๆ เพราะการเสิรมสภาพคล่องให้ก็เหมือนการเพิ่มสภาพคล่องให้บริษัทที่ขาดทุน มีเงินหมุนเวียนมากขึ้นเท่านั้น ไมได้หมายความว่าบริษัทนั้นจะดีขึ้นและมีกำไรได้ จนสามารถเพิ่มกำลังซื้อในตลาดได้ ซึ่งภาวะนี้ต้องใช้เวลาและต้องติดตาม

นายทรงธรรม กล่าวว่า การทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ครั้งที่ 3 (คิวอี 3) ของสหรัฐฯ หากมีการทำจริงๆก็ไม่ได้มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจจริงของโลก เป็นเพียงการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงินมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่กระบวนการต่างๆที่จะนำมาใช้ให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐต้องใช้เวลา แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯคงไม่ซึมยาวเหมือนกับภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เนื่องจากโครงสร้างต่างกัน คาดว่าสหรัฐฯน่าจะปรับตัวได้ดีกว่าญี่ปุ่น