posttoday

กมธ.จี้ธปท.แจงเงื่อนไขใช้ทุนสำรองฯ

23 สิงหาคม 2555

กมธ.การเงิน การคลังฯ ตบเท้าเข้าพบ ผู้ว่าการ ธปท. สอบถามความเหมาะสมในการใช้ทุนสำรองไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและคลังน้ำมัน

กมธ.การเงิน การคลังฯ ตบเท้าเข้าพบ ผู้ว่าการ ธปท. สอบถามความเหมาะสมในการใช้ทุนสำรองไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและคลังน้ำมัน

เช้าวันนี้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายไชยา  พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกมธ. นำคณะเข้าเยี่ยม นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และคณะผู้บริหาร ธปท.เพื่อรับทราบข้อมูลทางเศรษฐกิจการเงิน

นายกรณ์   จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษา กมธ. กล่าวว่า การพบปะครั้งนี้ทางธปท.ได้นำเสนอข้อมูลภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันซึ่งยังขยายตัวได้ให้ฟัง พร้อมกันนี้กมธ.ยังได้มีการสอบถามในประเด็นที่เตรียมการมา คือ การกำหนดนโยบายการเงินที่ใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันกับระบบอื่นๆมีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร ผลการรับโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯมาให้ธปท.ดูแลมีผลต่อเงินฝาก ระบบสถาบันการเงินอย่างไร การนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ลงทุนคลังน้ำมันตามข่าวสามารถทำได้หรือไม่ และในเรื่องการเข้าถึงบริการของระบบสถาบันการเงินของประชาชนในปัจจุบันในราคาที่เป็นธรรม

“ในเรื่องการนำเงินทุนสำรองฯออกมาใช้ ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าทำไม่ได้ ผู้ว่าการธปท.ท่านอธิบายว่าถ้าใครจะใช้ทุนสำรองที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯต้องเอาเงินบาทมาแลกออกไป อีกอย่างธปท.ไม่มีอำนาจให้กู้ และถ้าให้กู้ก็มีผลต่อตลาดการเงินและการคลังมาก และกฎหมายให้ธปท.กู้ในประเทศไม่ได้ ทำให้เรื่องนี้ชัดเจนว่า ไม่ควรมีการนำทุนสำรองมาใช้ลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ หรือทำคลังน้ำมัน แม้ว่าทุนสำรองฯในปัจจุบันของไทยเราจะมีเพียงพอก็ควรลงทุนนอกราชอาณาจักรเท่านั้น ส่วนในประเทศเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการบริหารงบประมาณการลงทุนในประเทศ” นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องการทำนโยบายการเงินเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนดีกว่านโยบายการเงินที่ดูแลอัตราเงินเฟ้อในปัจุบันอย่างไร คงต้องให้คนที่อยากเปลี่ยนออกมาอธิบายเองว่าควรเปลี่ยนเพราะอะไร เปลี่ยนแล้วนี้อย่างไร เพราะคนที่อยากก็บอกไม่ชัดเจว่าอยากเพราะอะไร ขณะที่ในการเข้าถึงบริการทางการเงินนั้น ผู้ว่าการ ธปท.บอกว่า ปัจจุบันก็ยอมรับว่ามีประชาชนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงบริการเงินในระบบ อย่างเอสเอ็มอีที่อยู่ประมาณ 2.9 ล้านรายทั่วประเทศ ก็เข้าถึงเพียง 9 แสนรายเท่านั้น ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ธปท.พยามดำเนินการอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป