posttoday

กำลังซื้อกระชากศก.พ้นเหว

15 สิงหาคม 2555

ไทยพาณิชย์มั่นใจเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 5.8% ไตรมาสสุดท้ายพุ่งทะยาน 16% อานิสงส์การบริโภคและการลงทุนของเอกชน

ไทยพาณิชย์มั่นใจเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 5.8% ไตรมาสสุดท้ายพุ่งทะยาน 16% อานิสงส์การบริโภคและการลงทุนของเอกชน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะยังขยายตัวได้ดีในอัตรา 5.6-5.8% โดยในไตรมาส 3 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.4% และในไตรมาส 4 คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 16.45% โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ขณะที่ในปี 2556 คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัว 4.7-5.2% แต่ภาคการส่งออกจะเป็นความเสี่ยงหลักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยการส่งออกที่ชะลอตัวลงในช่วงปลายไตรมาส 2 และมีสัญญาณว่าจะชะลอตัวต่อไป เนื่องจากดัชนีการสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมของต่างประเทศยังหดตัว โดยปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปอาจทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้ มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้เพียงราว 10% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของการส่งออกยังไม่กระทบการใช้จ่ายในประเทศ การใช้จ่ายในประเทศยังขยายตัวได้ในระดับสูง โดยดัชนีการบริโภคและดัชนีการลงทุนที่จัดเก็บโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขยายตัว 4.8% และ 18.3% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว การใช้จ่ายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งซื้อรถยนต์ที่น่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายเวลาการรับรถ

ศูนย์วิจัยฯ ระบุว่า สิ่งที่ต้องจับตามองคือผลกระทบของการส่งออกต่อการจ้างงาน เนื่องจากจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การใช้จ่ายในประเทศของไทยอ่อนแรงลงได้ เศรษฐกิจโลกจะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2556 วิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปน่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในปลายปี 2555 จนถึงกลางปี 2556 หากเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวได้ตามคาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 เศรษฐกิจไทยจะมีแรงสนับสนุนจากการส่งออก ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้ 4.7-5.2%

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังคาดว่า ธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% จนถึงสิ้นปี 2555 ซึ่งระดับดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังสามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศได้หากเศรษฐกิจยุโรปไม่หดตัวรุนแรง และคาดว่าในปี 2556 ธปท.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้จนกว่าจะมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัว และคงจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี 2556 เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2555 ยังเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2-3.7% โดยการเก็งกำไรและปัจจัยด้านอุปทานน้ำมันในตลาดโลกเริ่มตึงตัวจากเหตุการณ์ในตะวันออกกลางที่ยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้นระดับราคาในหมวดพลังงานจึงยังได้รับแรงกดดันต่อไป ถึงแม้ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติตรึงราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนต่อไป จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือน ส.ค.นี้ ทำให้ยังมีแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่

ทั้งนี้ ในปี 2556 คาดว่าเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5-4% ยังมีแรงกดดันเงินเฟ้อสูงจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงานตามนโยบายของภาครัฐที่จะมีผลในช่วงต้นปีหน้า เช่น การจัดเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงและการลอยตัวราคาแอลพีจี จะทำให้ราคาพลังงานขายปลีกในประเทศเพิ่มสูงขึ้น  รวมทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ก็เป็นแรงกดดันเงินเฟ้อในปี 2556 เช่นกัน

ศูนย์วิจัยฯ ยังมีมุมมองค่าเงินบาทในปีนี้ คาดว่าเงินแกว่งตัวในช่วง 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และค่าเงินยังคงผันผวนจากความกังวลต่อปัญหาหนี้ในยุโรป โดยค่าเงินบาทน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในปีหน้า เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกโดยรวมลดลง ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงปี 2556 เช่นเดียวกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัว 4.5-5.5% โดยการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งในส่วนของการเร่งเบิกจ่ายและผลักดันการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะในส่วนที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐบาลจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของในครึ่งปีหลัง