posttoday

เลวร้ายสุดยูโรฉุดศก.1%

17 กรกฎาคม 2555

คลังประเมินปัญหายูโรโซนลากยาว 5-10 ปี คาดผลกระทบต่อเศรษฐกิจแรงสุดไม่เกิน 1%

คลังประเมินปัญหายูโรโซนลากยาว 5-10 ปี คาดผลกระทบต่อเศรษฐกิจแรงสุดไม่เกิน 1%

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตหนี้ยูโรโซนส่อแววว่าจะยืดเยื้อออกไป 5-10 ปี เพราะเป็นปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งทางด้านสถาบันการเงิน ภาคการคลัง หนี้สาธารณะ ตลาดแรงงาน รวมไปจนถึงเรื่องทางการเมือง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหานาน

ขณะที่ผลกระทบในระยะสั้นนั้น ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบในภาคการส่งออก เพราะไทยส่งออกไปยุโรปคิดเป็นสัดส่วน 9.4% ของการส่งออก ซึ่ง สศค.คาดว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 12.8%

ทั้งนี้ สศค. คาดว่าปัญหาของยุโรปที่รุนแรงมากสุด จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง 0.5-1% จากเป้าหมายการเติบโตในปี 2555 ซึ่งคาดไว้ที่ 5.7% ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการประชุมของกลุ่มประเทศยูโรโซนในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการนำมาตรการแก้ไขปัญหาออกมาใช้อย่างชัดเจน

นายสมชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยพร้อมรองรับปัญหาของยุโรป เพราะมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% ด้านฐานะการคลังยังอยู่ในระดับที่มีช่องทางให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่ควบคุมได้อยู่ที่ไม่เกิน 3% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็เริ่มปรับตัวลดลง ทำให้ไม่เป็นภาระกับภาคเอกชนมากนัก ด้านภาคสถาบันการเงินยังมีความเข้มแข็งเห็นได้จากระดับของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ยสูงถึง 15% รวมทั้งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลทั้งระบบเฉลี่ยไม่เกิน 3%

สำหรับในระยะยาวนั้น การลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปก็คือต้องลดพึ่งพาการส่งออกลง โดยการใช้การบริโภคและการลงทุนเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งขณะนี้รัฐบาลพยายามปรับโครงสร้างดังกล่าว ด้วยการเตรียมลงทุนพัฒนาโครงสร้าง|พื้นฐานพร้อมกับมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

ด้านภาพรวมของเศรษฐกิจนั้น สศค.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 5.7% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 5.2-6.2% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วจากปีก่อนหน้า ที่ขยายตัวเพียง 0.1% ภายหลัง สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายลง

สาเหตุหลักมาจากภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาทำการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จ่าย อาทิ มาตรการปรับเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ โครงการจำนำข้าวเปลือก และมาตรการในส่วนของแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเริ่มลุกลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริง และภาคสถาบันการเงินของประเทศสมาชิกหลัก