posttoday

ขุนคลังการันตีไม่ขึ้นภาษี

25 เมษายน 2555

“กิตติรัตน์” ยืนยันรัฐบาลไม่มีนโยบายเพิ่มอัตราภาษี

“กิตติรัตน์” ยืนยันรัฐบาลไม่มีนโยบายเพิ่มอัตราภาษี

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 7% ซึ่งเป็นผลจากนโยบายสร้างกำลังซื้อและเพิ่มรายได้ของคนในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจมีสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง และรัฐบาลไม่มีนโยบายปรับเพิ่มภาษีประเภทใดทั้งสิ้น

“มีข่าวลือในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า รัฐบาลจะเพิ่มภาษี ผมขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายปรับเพิ่มภาษีใดๆ ทั้งนั้น ภาษีแวตที่เก็บที่ 7% ก็ยังเก็บเท่าเดิม” นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ ย้ำว่า การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีแวตในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้ 5.38 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเดือน ก.พ.ของปีที่แล้วที่จัดเก็บภาษีแวตได้แค่ 4.38 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาท เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า กำลังซื้อของคนในประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
นอกจากนี้ รายรับของภาครัฐที่ได้จากการจัดเก็บภาษีบริโภค หรือภาษีแวต ภาษีสรรพากร และภาษีอื่นๆ สามารถชดเชยรายได้ของภาครัฐที่หายไปจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล

นายกิตติรัตน์ ระบุว่า ในส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กังวลกับการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนั้น หากเป็นเอสเอ็มอีที่ขายสินค้าในประเทศ เมื่อสังเกตให้ดีจะพบว่ากำลังซื้อของคนในประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรกำลังปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การปรับอัตราภาษีใหม่ รวมทั้งแนวทางปรับลดค่าหักลดหย่อนภาษีลงมา ซึ่งได้หารือร่วมกับ นายทนุ ศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง และจะนำเสนอให้กระทรวงการ คลังพิจารณาต่อไป

ก่อนหน้านี้ นายทนุศักดิ์ ในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานเกี่ยวกับแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีสรรพ สามิตเรียบร้อยแล้ว และได้นำเสนอให้ นายกิตติรัตน์ พิจารณาแล้ว โดยแนวทางการดำเนินการเบื้องต้นจะเป็นการปรับโครงสร้างทั้งในส่วนของฐานภาษีเก่า และมีการปรับปรุงฐานภาษีใหม่ เพื่อให้มีความเหมาะ สมมากยิ่งขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันก็ได้มอบหมายให้ นางเสาวนีย์ กมลบุตร รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ เป็นประธานในการจัดทำแนวนโยบายของกระทรวงการคลังในการก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 รวมไปถึงการปรับโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับประเทศในกลุ่มเออีซีว่าควรดำเนินการอย่างไร