posttoday

เศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.โผล่พ้นน้ำ

27 กุมภาพันธ์ 2555

เศรษฐกิจไทยม.ค.มีสัญญาณฟื้นจากอุทกภัยต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีชี้วัดการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว

เศรษฐกิจไทยม.ค.มีสัญญาณฟื้นจากอุทกภัยต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีชี้วัดการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว

นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2555 มีสัญญาณการฟื้นตัวจากวิกฤตอุทกภัยต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่สามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.0 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -9.8 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -28.1

ขณะที่การลงทุนก็มีสัญญาณที่ดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 29.1 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -46.9

นอกจากนี้ ข้อมูลเบื้องต้นของการส่งออกบ่งชี้ว่า มูลค่าการส่งออกสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -2.0 สะท้อนถึงความสามารถในการผลิตเพื่อการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น

สำหรับเครื่องชี้ด้านการผลิตพบว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวดีขึ้นเทียบกับช่วง 2 เดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตอุทกภัย โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมใน เดือนมกราคม 2555 หดตัวร้อยละ -15.1 เทียบกับที่หดตัวลงร้อยละ -25.2 ในเดือนก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นดัชนีในหมวดน้ำมันปิโตรเลียม แร่อโลหะ และอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มสามารถฟื้นตัวได้เป็นสำคัญ ในขณะที่การผลิตภาคการเกษตรยังคงขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลง และภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวดีขึ้นในเดือนมกราคม 2555 เช่นกัน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 จะหดตัวค่อนข้างมากถึงร้อยละ -9.0 โดยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตอุทกภัย ส่งผลให้ทั้งปี 2554 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.1 ต่อปี อย่างไรก็ตาม จากการติดตามเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยล่าสุดพบว่า มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ทั้งจากในด้านการผลิตและการใช้จ่าย ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ต่อไป

ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค  สรุปว่า  เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2555 บ่งชี้ถึงทิศทางการฟื้นตัวจากวิกฤตอุทกภัยต่อเนื่อง ในระยะต่อไป จะต้องมีการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ในประเด็นความคืบหน้าในการแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยบวกจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ในการสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะได้มีการทบทวนและปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2555