posttoday

แนะรัฐเลิกประชานิยมไม่ด่วนผันเงินช่วยน้ำท่วม

21 ตุลาคม 2554

นักวิชาการประสานเสียงแนะรัฐบาลเลิกนโยบายประชานิยม เลิกขึ้นค่าแรง 300 บาท ปรับรับจำนำข้าว เร่งผันเงินช่วยเยียวยาน้ำท่วมและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นักวิชาการประสานเสียงแนะรัฐบาลเลิกนโยบายประชานิยม เลิกขึ้นค่าแรง 300 บาท ปรับรับจำนำข้าว เร่งผันเงินช่วยเยียวยาน้ำท่วมและฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้เป็นที่ปรากฏชัดเจนขึ้นว่า ส่งผลกระทบต่อศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างมาก และการดำเนินการแก้ไขของภาครัฐคงจะทำแค่แผนกั้นน้ำเข้าเขตกรุงเทพฯอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องวางระบบป้องกันในระยะยาวและเร่งลงทุนเพื่อการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ ซึ่งคงต้องใช้เงินมโหฬารพอสมควร เพราะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการป้องกันในระยะยาว และชดเชยผู้เดือดร้อนบางส่วน  และรัฐบาลควรจำมีแผนการป้องกันออกมาให้เห็นในระยะ 6-7 เดือนนี้

“ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเร่งทบทวนนโยบายประชานิยม หันมากอบกู้สถานการณ์น้ำท่วมและแนวทางในการฟื้นตัวก่อน ต้องบอกประชาชนไปเลย ว่ารัฐบาลไม่เบี้ยวประชาชนิยม แต่มีความจำเป็นต้องผันเงินมาใช้เยียวยาและป้องกันปัญหาน้ำท่วมก่อน  ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม เพราะอย่างน้อยต้องลงทุนต่อเนื่องในระยะ 10 ปีนี้  ผมจึงคิดว่านโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาท รถยนต์คันแรก บ้านหลังแรกจาก 5 ล้านบาท อาจจะเหลือแค่ 2 ล้านบาท ต้องทบทวน โดยเฉพาะการจำนำข้าวต้องปรับ เพราน้ำท่วมทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวน่าจะลดลงมหาศาลพอสมควร ไม่มีใครมีข้าวมาจำนำ” นายนิพนธ์

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย เศรษฐกิจมหภาค ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาผลกระทบจากน้ำท่วมขณะนี้ยังไม่สิ้นสุด ต้องดูว่าน้ำจะแผ่ไปกระทบวงกว้างมากขึ้นแค่ไหน เพราะพื้นที่เสี่ยงอย่างนิคมอุตสาหกรรมในฝั่งตะวันออกก็มีอีกมากพอสมควร อีกอย่างการท่วมนานเกินไป นานกว่า 1 เดือนก็ถือเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจเช่นกัน เพราะถ้าท่วมนาน 1 เดือน ถือเป้น 10% ของ 1 ปี ที่มี 12 เดือนแล้ว ซึ่งถ้าท่วมนานจะผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย และทำให้ใช้เวลานานมากขึ้นในการฟื้นตัว ที่ต้องมาซ่อมบำรุงเครืองจักรหรือจัดซื้อเข้ามาใหม่ เท่าที่ประเมินขณะนี้ถือว่าสร้างความเสียหายสูง คาดว่าน่าจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ประมาณ 1-2% ที่สำคัญจะกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลให้ลดลงด้วย

“งานนี้ รัฐบาลหนีไม่พ้นที่จะต้องกู้เงิน มาใช้ในการฟื้นฟูและเยียวยา เพราะต้องซ่อมแซม และฟื้นฟู ป้องกันความเสียหายต่างๆในแต่ภาคส่วนและแต่ละพื้นที่อีกพอสมควร รัฐบาลจึงควรเลิกโครงการประชานิยม เช่น การรับจำนำ เลิกนโยบายการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เพรานิคมอุตสาหกรรมสำคัญหลายแห่งเสียหายมาก แรงงานได้รับผลกระทบมากอาจจะถูกเลิกจ้าง รัฐบาลจึงควรเลิกเรื่องขึ้นค่าจ้างในตอนนี้ แล้วช่วยหามาตรการมาคงการจ้างงานไว้แทน” นายสมชัยกล่าว