posttoday

เลือกเฟ้นกองทุนรวม สไตล์ SCBS

26 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ Wealth Design โดย...ธัญญา โลหะนันทชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

คอลัมน์ Wealth Design โดย...ธัญญา โลหะนันทชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

A: กองทุนในตลาดเมืองไทยมีเป็นพันกอง แล้วเราจะเลือกลงทุนกองไหนดี?

B: มีคนบอกว่ากองทุน ABC ดี เราจะเชื่อได้หรือเปล่านะ?

นั่นสินะครับ กองทุนรวมในตลาดมีมากมายไปหมด ยิ่งในอนาคตอุตสาหกรรมกองทุนรวมเติบโตขึ้น ก็มีแต่จำนวนกองทุนรวมจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และการที่จะประสบความสำเร็จด้านการเงินหรือถึงเป้าหมายทางการเงินนั้นประกอบไปด้วยหลายปัจจัย แต่หนึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือการเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ดี เพราะที่ผ่านมาถ้าดูสถิติผลตอบแทนกองทุนรวมที่ได้ที่หนึ่งกับที่สุดท้ายนั้นต้องบอกว่าต่างกันมากเลยทีเดียว ปัญหาคือแล้วเราจะเลือกเฟ้นกองทุนรวมมาลงทุนอย่างไรดี? ในบทความนี้จะมาเล่าวิธีการเลือกกองทุนของทีมคณะกรรมการลงทุนว่าเรามีวิธีเลือกอย่างไร

ก่อนที่เราจะเลือกลงทุนในกองทุนอะไรนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยจุดประสงค์ของการคัดเลือกกองทุนก่อนว่าเราต้องการลงทุนในกองทุนประเภทไหน ถ้าหากเราต้องการกองทุนรวมหุ้นไทยเราก็ต้องการคัดเลือกกองทุนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน เช่นกองทุนหุ้นไทยก็นำมาเปรียบเทียบกับกองทุนหุ้นไทย แต่ไม่ควรนำกองทุนรวมหุ้นไทยไปเปรียบเทียบกับกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ อีกประการหนึ่งคือ เราจะเลือกกองทุนที่มีประวัติการดำเนินงานมาพิจารณาถ้าหากเป็นกองทุนที่เพิ่งเริ่มจัดตั้งขึ้นมาใหม่เลย เราคงไม่สามารถที่จะนำข้อมูลอะไรมาวิเคราะห์ต่อได้ ยกเว้นว่าจะเป็นกองทุนรวม (Feeder fund) ที่มีกองทุนรวมหลัก (Master fund) ดำเนินงานอยู่แล้ว ซึ่งเราสามารถที่จะไปติดตามผลการดำเนินงานที่ผ่านมากับกองทุนหลักได้

สำหรับการพิจารณาเลือกกองทุนรวมเราแบ่งเกณฑ์การพิจารณาเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ

1. ผลการดำเนินงานย้อนหลัง (ผลตอบแทนและความเสี่ยง)

2. ความสามารถในการสร้างผลตอบแทนในอนาคต

3. เกณฑ์การพิจารณาอื่นๆ

1. ผลการดำเนินงานย้อนหลัง

จะเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา เราจะดูที่สถิติข้อมูลต่าง ๆ ของกองทุนแล้วนำมาเปรียบเทียบกัน โดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่มักจะดูผลการดำเนินงานย้อนหลังเพียงแค่ในมุมของผลตอบแทน แต่จริง ๆ แล้วผลการดำเนินงานย้อนหลังยังมีอีกหลายมุมมองที่สามารถนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบกันได้

ในแกนผลตอบแทนแน่นอนว่าเราต้องเลือกลงทุนในกองทุนที่มีผลตอบแทนที่ดี สำหรับ SCBS แล้วเราจะเน้นเลือกกองทุนที่มีผลตอบแทนสม่ำเสมอและไม่ได้มุ่งเน้นที่จะเลือกกองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงที่สุด โดยเราจะดูข้อมูลในหลายๆช่วงเวลาว่ากองทุนนั้นๆสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอคงเส้นคงวาในทุกช่วงเวลาหรือไม่ นอกจากจะดูในมุมมองของตัวเลขผลตอบแทนแล้ว เราก็สามารถดูในมุมเปรียบเทียบผลการดำเนินงานแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ก็จะสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าในแต่ละช่วงเวลา กองทุนนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนๆในกลุ่มเดียวกันสามารถสร้างผลการดำเนินงานเป็นลำดับต้นๆได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งการเปรียบเทียบแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ผู้อ่านสามารถหาดูได้จาก Fund fact sheet ของกองทุนรวมได้ ถ้ากองทุนใดที่สามารถอยู่ในระดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ต้นๆ หรือได้ผลตอบแทนดีเป็นอันดับต้นๆของกลุ่มอยู่ตลอดเวลาเราก็จะให้คะแนนกองทุนนั้น

ในแกนของความเสี่ยง แน่นอนว่าเราก็จะต้องชอบกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่น สำหรับวิธีการดูเราก็อาจจะดูที่ค่าความผันผวนของการดำเนินงานถ้ายิ่งน้อยก็ยิ่งดี เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ไทล์ก็ต้องดูว่าเสี่ยงต่ำกว่าเพื่อนอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ในอีกมิติหนึ่งของความเสี่ยงที่เป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องพิจารณาเลยก็คือ ผลขาดทุนสูงสุดที่เกิดขึ้นจริง (Maximum Drawdown) เพราะบางครั้งค่าความผันผวนอาจจะตอบไม่ได้ว่าที่ผ่านมากองทุนติดลบกี่เปอร์เซ็นต์ อาจจะมีบางช่วงเวลาที่ราคากองทุนค่อยๆไหลซึมลง นั่นก็จะทำให้ตัวเลขความผันผวนไม่สูง แต่ขนาดของการขาดทุนสูงมากเลยทีเดียว ดังนั้นการดูว่าในช่วงเวลาแย่ๆกองทุนเคยขาดทุนมากที่สุดเท่าไหร่จึงเป็นอีกตัวเลขที่ไม่ควรมองข้าม ถ้าจะให้ดีก็ควรเลือกกองทุนที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของตัวเราด้วย เช่น ถ้าเรายอมรับการติดลบได้ไม่เกิน 10% เราก็ควรจะเลือกกองทุนที่ผลขาดทุนสูงสุดไม่เกินเกณฑ์ที่เราตั้งไว้ เพราะถ้าหากผลขาดทุนสูงเกินกว่าที่เราจะสามารถยอมรับได้จะกลายเป็นเราเองที่ถอดใจและขายขาดทุนออกมา และค่าตัวเลข Maximum Drawdown ก็จะกลายเป็นค่าที่ทำให้เราลงทุนไม่สำเร็จ

2. ความสามารถในการสร้างผลตอบแทนในอนาคต

ในข้อนี้ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่เราจะต้องวิเคราะห์ทีมผู้จัดการกองทุนและขั้นตอนในการทำงานของเขา ซึ่งข้อนี้เราจะให้น้ำหนักกับทีมผู้จัดการกองทุนที่บริหารกองทุนเป็นหลักเพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลยุทธ์การลงทุนและการตัดสินใจการลงทุนของผู้จัดการนั้นมีผลกับการลงทุนเราโดยตรง ซึ่งสำหรับในข้อ 2 นี้ต้องแจ้งให้ทราบก่อนว่าการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้อาจจะจำกัดโดยผู้อ่านอาจจะใช้โอกาสในงานสัมมนาต่างๆที่มีทีมกองทุนมาให้ข้อมูลซึ่งสอบถามข้อมูลกับทีมงานได้

โดยปกติแล้วก่อนที่เราจะไปพูดคุยกับผู้จัดการกองทุน เราก็จะต้องทำการบ้านดูข้อมูลผลการดำเนินงานย้อนหลังในข้อแรกก่อน เพราะข้อมูลเหล่านี้จะสะท้อนถึงกลยุทธ์และวิธีการดำเนินงานของทีมงานว่าเป็นอย่างไร เช่นเราดูข้อมูลแล้วว่าที่ผ่านมากองทุนสามารถทำได้ดีมาโดยตลอด แต่มีช่วงหลังๆที่ผลงานดีขึ้นหรือแย่ลงไปจากเดิม อันนี้ก็ต้องเป็นประเด็นเก็บไปสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น? ภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? หรือมีวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไปอย่างไร? มีการเปลี่ยนแปลงในทีมงาน?

ในช่วงที่ได้พูดคุยกับทีมงานเราจะต้องศึกษาว่า ใครเป็นผู้จัดการกองทุน, สไตล์การลงทุนเป็นอย่างไร, และที่สำคัญก็คือ ขั้นตอนในการทำงานเป็นอย่างไร เช่นขั้นตอนการเลือกหลักทรัพย์แต่ละตัวมาอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ (Universe) ขั้นตอนและหลักการในการเลือกหยิบหลักทรัพย์ที่อยู่ใน Universe เข้ามาลงทุนใน portfolio ขั้นตอนในการติดตามผลการดำเนินงาน รวมถึงหากการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดจะมี action plan ในการทำงานอย่างไรบ้าง โดยข้อมูลทั้งหมดนี้จะต้องมีการจดบันทึกไว้ว่าทีมงานเคยให้ข้อมูลไว้อย่างไร เมื่อวันเวลาผ่านไปสามารถทำได้ตามที่ให้ข้อมูลไว้หรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลเกี่ยวกับทีมงานและขั้นตอนในการทำงานแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนที่เราจะวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจุดประสงค์หลักคือเราต้องการรู้ให้ลึกถึงที่มาของผลตอบแทน (source of return) ว่าในอนาคตทีมงานจะไปหาผลตอบแทนให้เราจากที่ไหน

3 ข้อมูลอื่นๆ

ในส่วนนี้เราจะพิจารณาถึงข้อมูลอื่น ๆ ในหลาย ๆ มิติของกองทุนรวมมาประกอบการพิจารณาอีกด้วย เช่น ขนาดกองทุนที่ไม่ใหญ่มากก็อาจจะเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้จัดการกองทุนในการบริหารพอร์ตได้ง่ายขึ้น, ค่าธรรมเนียมในการบริหารที่ถูกกว่าที่ใช้ดูกับกองทุนแบบ Passive fund หรือกองทุนดัชนี เพราะถ้าเป็นดัชนีเดียวกันเราก็ควรที่จะเลือกกองทุนที่มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า แต่ในกรณีกองทุน Active fund อาจจะพิจารณาถึงผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วว่ากองทุนยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเราได้หรือไม่

เมื่อทราบหลักเกณฑ์ของทาง SCBS แล้วว่า เราคัดเลือกกองทุนอย่างไร ผู้อ่านก็สามารถนำไปเป็นแนวทางในการคัดเลือกกองทุนรวมด้วยตนเองได้เช่นกัน ซึ่งผู้เขียนอยากให้ความสำคัญกับการรู้จักตัวเองก่อนว่าผู้อ่านเองมีความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงได้ขนาดไหน แล้วจึงเลือกกองทุนที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองสามารถยอมรับได้ พออ่านมาถึงจุดนี้ต้องบอกได้เลยว่าขั้นตอนในการพิจารณาเลือกกองทุนนั้นเป็นงานที่ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจบไปเพราะยังจะต้องมีการติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง และโดยเฉพาะข้อมูลในข้อที่สองก็เข้าถึงทีมงานได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นต้องถือว่าการเลือกเฟ้นกองทุนก็เป็นเรื่องที่ใหญ่และไม่ง่ายเลยทีเดียว ถ้าหากผู้อ่านไม่ต้องการที่จะต้องมาทำขั้นตอนการเลือกเฟ้นกองทุนด้วยตัวเองก็สามารถหันมาใช้บริการ ROBO ADVISOR เป็นบริการออกแบบและบริหารพอร์ตกองทุนรวมอัตโนมัติ โดยที่ SCBS จะมีคณะกรรมการลงทุนพิจารณาคัดเลือกกองทุนรวมมาให้ลูกค้าลงทุน สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.scbs.com/roboadvisor

*ข้อมูลขั้นตอนการเลือกวิเคราะห์ลงทุนในกองทุนรวมนี้เชื่อว่าเป็นขั้นตอนที่น่าจะเชื่อถือได้ แต่ทั้งนี้ มิได้ยืนยันหรือรับรองถึงความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือรับประกันผลตอบแทนจากการทำตามกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด