posttoday

อยากมีเงินล้าน...คุณทำได้

24 ตุลาคม 2562

อยากมีเงินล้าน...คุณทำได้

อยากมีเงินล้าน...คุณทำได้

เรื่องโดย พูลศรี เจริญ

........................................

ว่าด้วยเรื่องของ"เงินล้าน" ในที่นี้ เราจะหมายถึง"เงิน"ที่คุณเก็บหอมรอมริบด้วยตัวเอง โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เริ่มก้าวสู่วัยทำงาน สำหรับบางคนบอกว่า"ยาก"ที่จะพิชิตเป้าหมายนั้น

เชื่อซิ!ไม่ยากเลย... ก่อนอื่นมาสำรวจตัวเองกันก่อนว่า วิธีการจัดการเงินแบบเดิมๆ ที่เคยทำมานั้นเป็นแบบไหน เช่น “ใช้ก่อน ออมทีหลัง”ถ้ายังทำแบบนี้อยู่ก็ควรเลิกทันที ปรับเป็น"ออมก่อนใช้ "

โดยควรแบ่งเงินเป็น 2 บัญชี คือ บัญชีเงินเดือน กับบัญชีสำหรับพักเงินเพื่อรอลงทุนต่อ พอเงินเดือนออกก็ควรโอนเข้าบัญชีพักเงินทันทีอย่างน้อย 20 % ของเงินเดือน แต่ถ้าทำได้มากกว่านั้นก็จะทำให้คุณได้จับเงินล้านแรกเร็วขึ้น

ส่วนอีกวิธี คือ สร้างวินัยการออมการลงทุนด้วยการตัดบัญชีเงินเดือนทุก ๆ เดือน เข้าบัญชีออมหุ้น หรือออมกองทุน

แต่ถ้าคุณบอกว่ามีการ"ลงทุนสม่ำเสมอ" อยู่แล้ว ก็ให้สำรวจตัวเองว่า"เงินรั่ว"หรือไม่ หรือ"นำดอกผล" ที่ได้ไปใช้จ่ายหรือไม่ ถ้าทำแบบนี้ก็ควรเลิกเสีย และนำไปลงทุนต่อ หรือให้"เงินทำงาน"ไปเรื่อย ๆในเส้นทางการลงทุน ตามหลัก"สมการทบต้น"

สรุปง่ายๆ มี 3 รูปแบบที่คุณสามารถเลือกให้เหมาะกับการใช้ชีวิตได้ จากคำแนะนำของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มีดังนี้

- ลงทุนคงที่ทุกเดือน

- ลงทุนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี (แบบคงที่หรือแบบเป็นสัดส่วน)

- ลงทุนแบบมีเงินทุนตั้งต้น

สำหรับการลงทุนให้ถึงเป้าหมาย (ตามตาราง ) ควรใช้หลักการกระจายลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ โดยคำนึงถึงระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ จากนั้นเลือกเครื่องมือลงทุนสำหรับก้าวสู่เงินล้านแรก หรือการเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับผลตอบแทนที่ต้องการ รวมถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้

อย่างไรก็ดี คนที่อายุยังน้อย คุณสามารถรับความเสี่ยงได้สูง แต่ถ้าเป็นมือใหม่เพิ่งหัดลงทุน แนะนำว่าการลงทุนในกองทุนรวมประเภทหุ้นน่าจะเหมาะเพราะมีผู้จัดการกองทุนบริหารพอร์ตให้

แต่ถ้าอยากลงทุนเพื่อเป้าหมายเงินล้านแรกด้วย และอยากวางแผนภาษีหรือนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีด้วย การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก็เป็นช่องทางการลงทุนที่ไม่ควรมองข้าม

มาดูกันว่าเงื่อนไขการลงทุนกองทุน LTF มีอะไรบ้าง

-ระยะเวลาลงทุน : ถือครอง 7 ปีปฏิทิน เช่น หน่วยลงทุนที่ซื้อทั้งหมดในปี 2559 ขายคืนได้ตั้งแต่ต้นปี 2565

-ความต่อเนื่องในการลงทุน : ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ลงทุนปีไหนก็ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น

-จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปี :ไม่กำหนด

จำนวนเงินลงทุนขั้นสูงสุดต่อปี :ไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และต้องไม่เกิน 500,000 บาท

กรณีผิดเงื่อนไขการลงทุน :กรณีผิดเงื่อนไขการลงทุน ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบ 7 ปีปฏิทิน ยกเว้นทุพพลภาพหรือเสียชีวิต

ข้อปฏิบัติหากผิดเงื่อนไขการลงทุนกองทุนLTF

1) คืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นทั้งหมดทันที พร้อมจ่ายเงินเพิ่มให้รัฐ 1.5% ต่อเดือน โดยคิดย้อนหลังตั้งแต่เดือน เม.ย.ของปีที่เคยยื่นขอลดหย่อนภาษีไว้ จนถึงวันที่ยื่นคืน
ภาษี

2) กำไรที่ได้จากการขายคืนที่ผิดเงื่อนไข ถือเป็นรายได้ในปีที่ขายคืนซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณภาษีด้วย โดย บลจ.จะหักภาษี ณ ที่จ่ายเบื้องต้น 3%

3) หากขายคืนหน่วยลงทุนที่ถือครองต่ำกว่า 1 ปี จะเสียค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน 1.5%


ขอให้ฝันนั้นเป็นจริง...เงินออมล้านแรกของคุณ!