posttoday

รื้อใหญ่ลดหย่อนภาษีสะเทือนLTFพันธุ์ใหม่

10 ตุลาคม 2562

การลดหย่อนภาษีต่างๆ นานา จำนวนมาก ถือเป็นตัวกัดกร่อนการเก็บภาษีของกรมสรรพากรและรายได้ของประเทศ ทำให้ต้องมีการยดเครื่องกันยกใหญ่

การลดหย่อนภาษีต่างๆ นานา จำนวนมาก ถือเป็นตัวกัดกร่อนการเก็บภาษีของกรมสรรพากรและรายได้ของประเทศ ทำให้ต้องมีการยดเครื่องกันยกใหญ่

นายเอกนิติ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรทบทวนการลดหย่อนภาษีทั้งระบบ โดยจะให้คนที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อยได้ประโยชน์มากที่สุด จากปัจจุบันพบว่าคนที่มีรายได้มากได้ประโยชน์ เมื่อรวมการักลดหย่อนทั้งหมดจะมีวงเงินสูงถึง 2 ล้านบาท ซึ่งกรมสรรพบว่ามีคนรายได้สูงได้ประโยชน์เพียง 20% ของผู้เสียภาษีเท่านั้น

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลปัจจุบันมีผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 11 ล้านคน มีผู้เสียภาษีจริง 4 ล้านคน ที่เหลือ 7 ล้านคน เป็นคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2.6 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อหักลดหย่อนปกติที่ผู้เสียภาษีทุกคนได้สิทธิ์อยู่แล้ว ก็ไม่มีภาระต้องเสียภาษีแล้ว

ทั้งนี้ หากไปไล่ดูการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาที่กรมสรรพากรให้อยู่ปัจจุบันจะมีจำนวนมาก ประกอบด้วย

1. ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท

2. คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) 60,000 บาท

3. ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน120,000 บาท

4. บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรมหักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ต้องเข้าเงื่อนไข

5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาทหักค่าลดหย่อน คนละ 30,000 บาทและสามารถหักลดหย่อนสำหรับบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท

6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อน คนละ 60,000 บาท

7. ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10ปีขึ้นไป) ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน100,000 บาท

8. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสหักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

9. เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน10,000 บาท

10. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)ได้รับไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน หรือ ไม่เกิน 500,000 บาท

11. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญหักค่าลดหย่อนในอัตรา 15% ของเงินได้ แต่ละปีแต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี

13. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

14. ดอกเบี้ยกู้ยืมซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัยไม่เกิน 100,000 บาท

15. เงินสมทบประกันสังคมหักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง

16. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพหักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

17. เงินบริจาค สนับสนุนการศึกษาหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10%

การลดหย่อนทั้งหมด ยังไม่รวมกับการลดหย่อนกรณีพิเศษ เช่น รัฐบาลออกมาตรการชิมช้อปใช้ให้นำรายจ่ายซื้่อสินค้ามาหักลดหย่อนภาษีได้ หรือ กรณีน้ำท่วมมีการออกมาตรการช่วยเหลือให้บุคคลธรรมดานำรายจ่ายการซ่อมบ้านและรถหย่อนภาษีปลายปีได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีลดภาษีก้อนใหญ่ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้กับผู้ประกอบการเพื่อจูงใจให้ลงทุน โดยมีการเว้นภาษีเงินได้นิติบุุคลธรรมดาให้ 5-13 ปี ซึ่งเป็นการสูญเสียภาษีของกรมสรรพากรก้อนใหญ่ แม้ว่าตรงนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่เมื่อดูภาพรวมของการเก็บภาษีของกรมสรรพากร หรือ การเก็บรายได้ของประเทศ เป็นสิ่งที่ต้องนำมาคิดกับการยกเครื่องลดหย่อนภาษีให้กับบุคคลธรรมดาแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

รื้อใหญ่ลดหย่อนภาษีสะเทือนLTFพันธุ์ใหม่

ยังไม่รวมประเด็นร้อนที่รัฐบาลไปหาเสียงไว้ว่าจะลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ซึ่งจะทำให้ฐานภาษีผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาหายไป 3 ล้านรายทันที และสูญเสียภาษี 1.8 แสนล้านบาทต่อปี จนต้องนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง หาทางออกตั้งคณะกรรมการปฏิรูปภาษีทั้งระบบ เพื่อเป็นการซื้อเวลาการลดภาษีบุคคลธรรมดาตามที่สัญญาหาเสียงไว้

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ที่ รมว. คลังแต่งตั้ง เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้มีการประชุมครั้งแรก ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร โดยได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานกลับไปดูรายละเอียดแนวทางการเก็บภาษีในปัจจุบันทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และของโลกหรือไม่ อะไรที่เป็นอุปสรรคต้องแก้ไข

“คงต้องใช้เวลาประชุมกันอีกหลายครั้ง เพราะเรื่องภาษีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากสังคม ว่าทิศทางการจัดเก็บภาษีของประเทศควรจะเป็นอย่างไร” นายประสงค์ กล่าว

นายประสงค์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ตามนโยบายหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ต้องมีการศึกษาในภาพรวม คงไม่สามารถสรุปได้ภายในปีนี้ เพราะว่าต้องทำให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ประกอบการและประชาชน โดยประเทศไทยต้องการมีสวัสดิการที่ดี แต่ต้องการเสียภาษีน้อย

“การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% เป็นไปได้ แต่ต้องมองภาพรวม ต้องดูว่าลด 10% แบบไหน หากมีการลดจริง ที่เคยได้รับการยกเว้นก็จะไม่ได้รับการยกเว้น ที่ไม่เคยเสียภาษีก็ต้องมาเสียภาษี เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะลดภาษีแล้วไม่มีภาษีตัวอื่นมาชดเชยรายได้ของประเทศที่หายไป ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ” นายประสงค์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลน้อยมาก เพราะอัตราภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 20% แต่ยังต้องเสียภาษีเงินปันผลด้วยอีกส่วนหนึ่ง ทำให้เมื่อรวมกันแล้วผู้ประกอบการต้องเสียภาษีอยู่ที่ 28% ขณะที่บุคคลธรรมดาเสียภาษีอัตราสูงสุด 35% แต่เมื่อหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ทั้งหมดแล้ว จะเสียภาษีจริงอยู่ที่ 29% ซึ่งจะเห็นว่าการเสียภาษีที่แท้จริงของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลใกล้เคียงกันมาก แทบไม่มีความเหลื่อมล้ำกัน

เมื่อดูภาพรวมของการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดแล้ว จะเห็นภาพชัดว่า การลดภาษีเงินได้จากการซื้อหน่วยลงทุน LTF จึงไปต่อไม่ได้ และการคิดลดภาษีให้กับกองทุน LTF ที่จะแปลงร่างเป็นพันธุ์ใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย