posttoday

บลจ.กสิกรไทย จ่ายปันผลกองทุน K-PROP กว่าพันล้าน

05 กันยายน 2562

เผย"อสังหาฯ-กองรีท’สตรองต้านผันผวนได้ดีกว่าหุ้น กองทุนเค พร็อพเพอร์ตี้ฯ โชว์ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีที 12.65 % ต่อปี

เผย"อสังหาฯ-กองรีท’สตรองต้านผันผวนได้ดีกว่าหุ้น กองทุนเค พร็อพเพอร์ตี้ฯ โชว์ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีที 12.65 % ต่อปี

น.ส.ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจ่ายปันผลกองทุนเปิดเค พร็อพเพอร์ตี้ เซคเตอร์ (K-PROP) สำหรับรอบผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค.62 ในอัตรา 0.58 บาทต่อหน่วย โดยมีกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 13 ก.ย.62 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,146.49 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุน K-PROP มีนโยบายที่เน้นลงทุนในตราสารหมวดอสังหาริมทรัพย์ทั้งในไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะในสิงคโปร์ อาทิ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงหน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) เป็นต้น ซึ่งนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อปี 2559 กองทุนได้มีการจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันทุกปี รวมแล้วทั้งสิ้น 10 ครั้ง เป็นเงิน 3.50 บาทต่อหน่วย

สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือน 1 ปี และ 3 ปี ของกองทุน K-PROPอยู่ที่ 15.50 %, 20.85 % ต่อปี และ 12.65% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งสามารถเอาชนะเกณฑ์มาตรฐานได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยกองทุนมีอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน 4 ไตรมาสย้อนหลังอยู่ที่ 14.21% ต่อปี (คำนวณอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ วันที่ 2 ก.ย. 62)

น.ส.ธิดาศิริ กล่าวว่า กองทุนรวมอสังหาฯ และกองรีท ในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับตัวขึ้นมามาก โดยได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลให้แนวโน้มดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นผลดีต่อการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ อีกทั้งสินทรัพย์ดังกล่าวยังคงมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้น โดยการลงทุนในกองทุนอสังหาฯและกองรีทของไทยและสิงคโปร์ มีอัตราจ่ายปันผลอยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งสูงกว่าตลาดโดยรวม

ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการเข้าลงทุนในกองทุนอสังหาฯและกองรีท โดยมองว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจภายใต้สภาวะตลาดที่มีความผันผวนดังเช่นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามประเด็นสงครามการค้ารวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อการลงทุนในระยะยาว