posttoday

นักลงทุนไทย ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงมากน้อยแค่ไหน

31 สิงหาคม 2562

กลุ่มกองทุนรวมไทยที่ลงทุนในหุ้นจีนหรือฮ่องกงมี 40 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4.2 หมื่นล้านบาท ส่วนกองทุนที่มีการลงทุนเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงมี 19 กองทุน

กลุ่มกองทุนรวมไทยที่ลงทุนในหุ้นจีนหรือฮ่องกงมี 40 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4.2 หมื่นล้านบาท ส่วนกองทุนที่มีการลงทุนเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงมี 19 กองทุน อสังหาฯที่ลงทุนมีอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย  มีสัดส่วนการลงทุนตั้งแต่ 0.3-35.9 % ของพอร์ต

การชุมนุมประท้วงของชาวฮ่องกงที่กินเวลากว่า 2 เดือน ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฮ่องกง ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นหลักทรัพย์ เจ้าของกิจการร้านค้า และธนาคาร

ขณะที่ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยไปลงทุนในฮ่องกงผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้บ้างหรือไม่ ในช่วงแรกของการประท้วง บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ระบุว่า ตลาดหุ้นฮั่งเส็ง Hang Seng (HSI) ยังไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก มีการปรับตัวขึ้นช่วงต้นเดือนเม.ย.62 และทรงตัวมาจนช่วงเดือนพ.ค.ที่มีการปรับตัวลง

ทางด้านกองทุนรวมไทยที่มีการลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงนั้น จะอยู่ในกลุ่มกองทุนหุ้นจีน (China Equity) ข้อมูลจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ฯ ระบุว่ากลุ่มกองทุนรวมที่มีการลงทุนในหุ้นประเทศจีนหรือฮ่องกงจำนวน 40 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4.2 หมื่นล้านบาท โดย 28 กองทุนเป็นการลงทุนแบบฟีดเดอร์ฟันด์( feeder fund )หรือการลงทุนไปที่กองทุนหลักกองเดียว

ในจำนวน 28 กองทุนนี้มีทั้งแบบที่ลงทุนใน China A-share (หุ้นบริษัทจีนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จีน) และ China H-share (หุ้นบริษัทจีนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง) โดยนักลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ในหนังสือชี้ชวนกองทุนในส่วนของนโยบายว่าลงทุนอย่างไร หากเป็นการลงทุนในกองทุนหลักเพียงกองทุนเดียวก็สามารถดูรายชื่อกองทุนมาสเตอร์ฟันด์ ตามตารางด้านล่างนี้

นักลงทุนไทย ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงมากน้อยแค่ไหน

ที่มา: Morningstar Direct ข้อมูลผลตอบแทนถึงวันที่ 20 ส.ค.2562 , มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ 31 ก.ค. 2562

หากดูข้อมูล China A % (ซึ่งเป็นการบอกสัดส่วนการลงทุนหุ้น A-share) และผลตอบแทน (ตั้งแต่เดือนม.ค.62 ถึงวันที่ 20 ส.ค.62 ) พบว่ากองทุนที่ลงทุนใน A-share เป็นสัดส่วนหลักมีผลตอบแทนที่ดีกว่าตามภาวะตลาดหุ้นจีน และหากมาดูที่มูลค่าการลงทุนในมาสเตอร์ฟันด์ 3 อันดับแรกจะพบกว่าเป็นการลงทุนในตลาดฮ่องกงรวม 2 หมื่นล้านบาทหรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าทรัพย์สินของกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม การมีสัดส่วนหุ้น A-Share น้อยไม่ได้หมายความว่าจะมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ในฮ่องกงมาก เพราะ H-Share คือ หุ้นบริษัทจีนที่ซื้อขายในตลาดฮ่องกง ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดฮ่องกงทั้งหมด

กองทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่นักลงทุนอาจกังวลว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกันคือ กลุ่มกองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ หรือ Property - Indirect Global ในปัจจุบันมีจำนวน 30 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 9.7 หมื่นล้านบาท รูปแบบการลงทุนอาจเป็นการลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) หุ้น หรือลงทุนผ่านฟีดเดอร์ฟันด์

นักลงทุนไทย ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงมากน้อยแค่ไหน

 

จากกราฟแสดงสัดส่วนการลงทุนฮ่องกงและสิงคโปร์ หากดูเฉพาะในส่วนของกองทุนที่มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงจะมีทั้งหมด 19 กองทุน อสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนจะเป็นประเภทอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า หรือที่อยู่อาศัย เป็นต้น มีสัดส่วนการลงทุนตั้งแต่ 0.3-35.9 % ของพอร์ต แต่โดยส่วนใหญ่มีสัดส่วนที่ไม่สูงนัก (จากจุดแสดงตำแหน่งตามแนวแกนนอน) หรือโดยเฉลี่ย 8.7 % ของพอร์ต (ข้อมูล ณ 31 มีนาคม 2019)

ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่ค่อนข้างได้รับความนิยมสำหรับกองทุนกลุ่มนี้ จากทั้งหมด 30 กองทุนของกลุ่ม Property - Indirect Global ที่ได้กล่าวไปตอนต้น ซึ่งมีกองทุนลงที่ทุนในสิงคโปร์จำนวน 23 กองทุน โดยมีสัดส่วนการลงทุนตั้งแต่ 1.5% ถึง 58.1% หรือ เฉลี่ย 31.2% ของพอร์ต

แม้ว่ายังไม่มีใครทราบได้ว่าสถานการณ์ในฮ่องกงจะจบลงเช่นไร แต่สิ่งที่นักลงทุนสามารถทราบได้คือ พอร์ตการลงทุนของตัวเอง ฉะนั้นการศึกษาข้อมูลกองทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจถึงลักษณะการลงทุนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และไม่ตื่นตระหนกไปกับสถานการณ์ต่าง ๆ