posttoday

ต่อสู้ความเหลื่อมด้วยการกระจายความเจริญ

23 กรกฎาคม 2562

ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐที่จะเริ่มเปลี่ยนกรอบความคิด แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ กับดูแลให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม

ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐที่จะเริ่มเปลี่ยนกรอบความคิด แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ กับดูแลให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม

**********************
คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ความเจริญที่ผมจะพูดถึงนี้ คงจะไม่ได้หมายความถึงเฉพาะเพียงแค่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อยากให้หมายความรวมไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Economic Development) และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป้าหมายที่แท้จริง (อย่างจริงใจและตั้งใจ) ในระยะยาวของผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ลักษณะ (หรืออาการ) ของปัญหาเกิดขึ้นในหลากหลายมิติและมีความเชื่อมโยงกัน ตัวอย่างเช่น ในมิติทางด้านรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายว่าประชาชนทุกคนในประเทศจะต้องมีรายได้ที่เท่ากัน แต่เราอยากเห็นคนที่มีความเชี่ยวชาญและทำในสิ่งเดียวกัน ควรจะได้รับผลตอบแทนที่เทียบเท่ากัน ในทางเศรษฐศาสตร์จึงอยากให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นโครงสร้างที่เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนทุกคนในระบบเศรษฐกิจนั้นอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าโครงสร้างทางเศรษฐกิจบิดเบือนไป คนบางคนหรือบางกลุ่มในระบบเศรษฐกิจที่เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจน้อยกว่า ก็ย่อมจะสร้างรายได้ได้น้อยกว่า (แม้ว่าจะมีความสามารถเช่นเดียวกัน) ก็ทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ คือ ไม่ใช่มีคนรวยกับคนจน (มีคนรวยกับคนจนเป็นเรื่องปกติ) แต่มีคนรวยมาก (กว่าที่ควรจะรวย) และมีคนจนมาก (กว่าที่ควรจะจน)

จะเห็นได้ว่า เราไม่ได้อยากเห็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้โดยการทำให้คนทุกคนจนเหมือนกันหมด และก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกันที่จะทำให้คนทุกคนในประเทศรวยเท่าเทียมกันทั้งหมด เมื่อเกิดความแตกต่างในด้านนี้ขึ้นแล้ว ก็เป็นสาเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำในมิติอื่น ๆ ทางสังคมตามมาอีก ที่สำคัญได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา คือ การที่คนในประเทศมีโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี มีคุณภาพมาตรฐานที่ดี ความเหลื่อมล้ำทางด้านสาธารณสุข คือ การเข้าถึงบริการด้านสุขอนามัยที่ดี มีคุณภาพมาตรฐานที่ดี และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงของเทคโนโลยี เป็นต้น

จากที่ได้กล่าวถึงข้างต้น การแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะ 1) โดยพื้นฐานของปัญหาจำเป็นต้องแก้ไขทั้งในเชิงปริมาณ (Quantity) และเชิงคุณภาพ (Quality) ไปพร้อม ๆ กัน 2) การดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านหนึ่ง อาจส่งผลทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในอีกด้านหนึ่งรุนแรงมากขึ้น 3) การดำเนินมาตรการจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น (Local) ซึ่งรู้ถึงปัญหาและความต้องการได้ชัดเจนกว่า ไม่เป็นการกำหนดมาตรการในลักษณะที่ถูกออกแบบมาให้เหมือนกันหมด และเป็นการกำหนดมาจากส่วนกลาง ดังนั้น การกระจายของความเจริญ ซึ่งจะต้องอาศัยการกระจายอำนาจเป็นพื้นฐานสำคัญ จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของสังคม กระจายโอกาสทางเศรษฐกิจที่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีได้ทำให้มีความหลากหลาย ความต้องการของผู้บริโภค หรือการบริโภคที่มีความแตกต่างกันออกไป ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่ได้จำกัดวงอยู่เพียงแค่การสร้าง หรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical Infrastructure) เฉพาะทางด้านการคมนาคมขนส่ง เช่น ถนน ระบบราง ฯลฯ ให้สามารถเชื่อมโยงกันได้เพียงเท่านั้น แล้วหวังหรือคิดเอาเองว่าเมื่อสามารถเดินทางติดต่อกันได้แล้ว ปัญหาต่าง ๆ ก็จะสามารถแก้ไขได้โดยง่าย

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหยั่งรากลึกลงไปกว่าที่เราจะนั่งนึกกันเอาเองมาก ในขณะที่เรามีความเจริญของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครที่มีความพร้อมมูลของสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบถ้วนเทียบเคียงได้กับเมืองใหญ่อื่น ๆ ชั้นนำในโลกได้ แต่เราก็มีประชากรจำนวนไม่น้อยเลยที่นึกไม่ออกเลยว่า รถไฟฟ้าที่ชาวกรุงเทพเบียดเสียดกันใช้เพื่อการเดินทางเป็นประจำทุกวันนั้นรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เด็กเหล่านี้โรงเรียนอยู่ห่างจากบ้านไปหลายกิโล ไม่มีแม้แต่จักรยานจะใช้เพื่อเดินทางไปโรงเรียน ยังไม่ต้องนึกถึงคุณภาพของการศึกษาที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับ หรือบริการทางด้านสาธารณสุขที่เขาจะได้รับ ว่าแตกต่างจากบริการการศึกษา บริการทางด้านสาธารณสุขที่ชาวกรุงจะได้รับมากมายแค่ไหน และในที่สุด เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้นเข้าสู่วัยทำงาน เขากลับต้องไปแข่งขันในตลาดแรงงานเดียวกัน ซึ่งแน่นอนเขาก็คงต้องจำยอมที่จะต้องไปอยู่ในกลุ่มชั้นล่างๆ ของสังคม

ปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่ค่อย ๆ ปรากฎขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงข้อขาดตกบกพร่องของการดำเนินมาตรการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่มักจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แนวทางการกำหนดมาตรการเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจจึงมักจะเป็นมาตรเชิงพื้นที่ โดยเลือกพื้นที่ที่เห็นว่ามีศักยภาพ แล้วพัฒนาให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นว่า พื้นที่ที่ไม่ได้ถูกมองว่ามีศักยภาพ (ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะมีศักยภาพ หรือเมื่อเวลาผ่านไป ได้กลายมาเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ) กลับไม่ได้รับการพัฒนา ก็ยิ่งทำให้พื้นที่เหล่านั้นมีศักยภาพแตกต่างจากพื้นที่ที่ได้รับความสนใจ ได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้นไปอีก

ช่องว่างของการพัฒนาที่กว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ นี้ ทำให้พื้นที่ที่ไม่ได้รับความสนใจในการพัฒนาไม่สามารถรักษาทรัพยากรที่มีค่าที่สุดต่อการพัฒนาของพื้นที่ไว้ได้ ซึ่งได้แก่ ทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะสูง ทรัพยากรทุน เป็นต้น ทรัพยากรที่สำคัญต่อการพัฒนาเหล่านี้ถูกดึงดูดด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่าไปสร้างการพัฒนาและความเจริญในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนให้มีการพัฒนา การอพยพโยกย้ายถิ่นของแรงงานในประเทศไทยไม่ได้เป็นการโยกย้ายของแรงงานทั่วไปเพื่อค่าจ้างแรงงานที่ดีกว่าเท่านั้น แต่เป็นการดึงแรงงานที่มีทักษะสูง มีความสามารถสูงออกจากพื้นที่ เหลือไว้เพียงแรงงานที่มีทักษะไม่เพียงพอต่อการโยกย้าย

อาจจะถึงเวลาแล้วที่การดำเนินนโยบายของภาครัฐที่จะเริ่มเปลี่ยนกรอบความคิดในเชิงการพัฒนาที่มุ่งเน้นเป้าหมายในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำมากกว่าการใช้การสร้างการเจริญเติบโตเป็นตัวนำ สำหรับบทบาทของภาครัฐ การจัดลำดับการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาจึงต้องให้น้ำหนักกับพื้นที่ที่มีศักยภาพน้อยกว่า แล้วพัฒนาให้พื้นที่นั้นมีศักยภาพสูงขึ้น พื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ก็เป็นบทบาทของภาคเอกชนเป็นหลักที่จะเป็นผู้นำในการใช้ศักยภาพที่มีก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ภาครัฐทำหน้าที่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก และกำกับดูแลให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม

การสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นในพื้นที่จึงถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะใช้เพื่อลดทอนความรุนแรงของปัญหาจากความเหลื่อมล้ำได้มาก โดยรัฐเป็นผู้นำในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม (Social Infrastructure) ที่เป็น Soft Infrastructure คือ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต และการยกระดับหรือพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรแรงงาน (หรือทุนมนุษย์) รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานของการรักษาและบำบัดสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพที่ดี ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง (Disruptive Technology) อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มที่จะกว้างมากขึ้น และสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ความรุนแรงของปัญหาที่จะมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำก็มีแนวโน้มที่จะมีมากขึ้น การกระจายของความเจริญน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งของการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดของการกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไข หรือลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย