posttoday

จับตาสัญญาณการผ่อนคลายนโยบายการเงินจากการประชุมอีซีบี

22 กรกฎาคม 2562

สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทผันผวนมาก เงินบาทอ่อนค่าหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการป้องกันเก็งกำไรเงินบาทเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2562

สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทผันผวนมาก เงินบาทอ่อนค่าหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการป้องกันเก็งกำไรเงินบาทเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2562

**********************************

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.60-30.90 การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปที่น่าจะได้เห็นสัญญาณการผ่อนคลายนโยบายชัดเจนขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ประธานอีซีบีนายดรากี้ได้ส่งสัญญาณการออกมาตรการผ่อนคลาย อาทิ การลดดอกเบี้ยนโยบาย และการกลับมาใช้มาตรการคิวอีหลังจากที่ยุติมาตรการไปตั้งแต่สิ้นปี 2018 โดยสัญญาณที่ผ่อนคลายจะทำให้เงินยูโรอ่อนค่า และหนุนค่าเงินดอลลาร์

นอกจากนี้ จับตาความคืบหน้าจากการเจรจาการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กลับมาข่มขู่ขึ้นภาษีนำเข้าอีกระลอกจากจีนและกล่าวหาว่าจีนยังไม่นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มตามที่ได้ให้สัญญาไว้ ด้านตัวเลขเศรษฐกิจจะมีการประกาศตัวเลขการส่งออกไทยที่คาดว่าจะยังอ่อนแอ ประกอบกับ จีดีพีของสหรัฐฯ ที่ตลาดมองว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวสูงถึง 3.1% QoQ saar และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของประเทศเศรษฐกิจหลักน่าจะยังสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอย่างมาก เงินบาทอ่อนค่าอ่อนค่าต่อในช่วงต้นสัปดาห์ตามการปรับตัวของนักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทแข็งหลังจาก ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศมาตรการป้องปรามเก็งกำไรเงินบาทเมื่อวันที่ 12 ก.ค. และธปท. ได้กล่าวย้ำความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่ชี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถแก้ไขได้ทุกปัญหา

อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์หลังจากความเห็นของเฟดที่สนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายการเงินสิ้นเดือนนี้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันความเสี่ยงการชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท จากความเชื่อมั่นต่อการลงทุนไทยที่มากขึ้น หลังจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings เพิ่มแนวโน้มของอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นด้านบวก จากทรงตัว สะท้อนความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับเพิ่มอับดับจากปัจจุบันที่ BBB+ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้น ปิดตลาดที่ระดับ 30.783 (ณ เวลา 17.00 น.)

ตลาดตราสารหนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้เคลื่อนไหวทรงตัวอยู่ในกรอบและยังไม่ได้มีปัจจัยใหม่เข้ามาสนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยที่การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรถูกจำกัดจากประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร รวมไปถึงการดำเนินนโยบายการเงินทั่วโลกเป็นไปในทิศทางที่ผ่อนคลาย

โดยล่าสุดธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ระดับ 1.50% ผิดจากที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.75% รวมไปถึงธนาคารกลางอินโดนีเซียลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps มาอยู่ที่ระดับ 5.75%

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2562 ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงและถ้าพิจารณาจาก CME Group’s Fed Watch tool มีโอกาส 60% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 bps ในขณะที่ตลาดได้เพิ่มโอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 50bps ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในปลายเดือนนี้จาก 25% มาเป็น 40% ภายหลังจากสมาชิกเฟดได้ให้ความเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินในภาวะที่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูงขึ้น ในขณะที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยมีความชันลดลง ซึ่ง ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.75% 1.72% 1.73% 1.74% 1.82% และ 1.95% ตามลำดับ

ในส่วนของกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 13,017 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 12,014 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 973 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 30 ล้านบาท