posttoday

เงินซื้อความสุขได้จริงไหม

11 กรกฎาคม 2562

การมีเงินแล้วจะมีความสุขเป็นเรื่องถูกบางส่วน ความสุขของชีวิตเกิดจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว การใช้จ่ายเงินระดับเหมาะสมเป็นทั้งความมั่นคงและความสุขให้กับชีวิต

การมีเงินแล้วจะมีความสุขเป็นเรื่องถูกบางส่วน ความสุขของชีวิตเกิดจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว การใช้จ่ายเงินระดับเหมาะสมเป็นทั้งความมั่นคงและความสุขให้กับชีวิต

*********************************************

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย...ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

ประเด็นเรื่อง “เงินกับความสุขเกี่ยวข้องกันหรือไม่” เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน บางท่านมองว่าจะรวยจะจนก็มีความสุขได้ ขณะที่อีกท่านมองว่ามีเงินน้อยใช้จ่ายขัดสนแล้วจะไปมีความสุขได้อย่างไร

ในปี 2553 แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) และแองกัส ดีตัน (Angus Deaton) สองนักวิชาการระดับรางวัลโนเบลแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ได้เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับเงินและความสุขของคนอเมริกัน งานวิจัยนี้ใช้ระดับรายได้เป็นตัวแทนของเงิน และระดับความพึงพอใจในชีวิตเป็นตัวแทนของความสุข

ผลปรากฎว่าเงินกับความสุขมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือถ้ามีเงินเยอะขึ้นก็จะมีความสุขมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือความสัมพันธ์นี้คงอยู่จนถึงระดับรายได้ประมาณ 75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หลังจากนั้นเงินกับความสุขก็แทบจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย

สิ่งนี้บอกเป็นนัยว่า “เงินเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความสุข” เพราะหากไม่มีเงินหรือมีน้อยก็จะไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เข้ามาในชีวิต หรือเกื้อหนุนให้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ เช่น เจ็บป่วยแต่ไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล อยากส่งลูกเรียนแต่ไม่มีเงินพอ เป็นต้น

แต่อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “ความสุขไม่ได้มาจากเงินเสมอไป” หลายคนหลงไปกับวัตถุนิยมด้วยการมีอคติว่ายิ่งมีมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี แต่สุดท้ายก็ต้องมานั่งทุกข์ใจเพราะถึงมีของต่างๆ มากมายแต่ตนเองก็ยังไม่มีความสุขเลย
ในเรื่องหลังนี้ อาจตอบได้ด้วยทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลส์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ซึ่งอธิบายว่าความต้องการของมนุษย์สามารถแบ่งเป็น 5 ขั้นคือ ด้านกายภาพ (physiological needs) ความมั่นคงปลอดภัย (safety) ความรัก (love) ความเคารพนับถือ (esteem) และการเป็นตัวตนในแบบที่ต้องการ (self-actualization)

หากนำมาพิจารณาในมิติด้านการเงินแล้ว จะพบว่าความต้องการในขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะด้านกายภาพและความปลอดภัย อันได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และความมั่นคงทางการเงินนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินโดยตรง ส่วนความต้องการในลำดับที่สูงขึ้นอย่างการเข้าสังคม การดูแลครอบครัว นั้น มีเรื่องที่เกี่ยวกับเงินบ้างเป็นบางส่วน ขณะที่ความต้องการระดับบน เช่น ความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ การค้นพบตัวตนที่แท้จริงนั้น มักไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน

เงินซื้อความสุขได้จริงไหม

ดังนั้น เงื่อนไขที่ว่าต้องมีเงินเยอะแล้วจะมีความสุขจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพียงบางส่วน เงินมีประโยชน์ในด้านการซื้อสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานและความสะดวกสบายในระดับหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นความสุขจากเงินจะถึงจุดอิ่มตัว การใช้เงินมากกว่าระดับที่เหมาะสมนี้จะกลายเป็นเพียงความสุขแบบฉาบฉวย และมักส่งผลด้านลบไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สิน ปัญหาสุขภาพจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่มีเวลาให้ครอบครัว เป็นต้น

ความสุขในชีวิตจึงเกิดจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินแต่เพียงอย่างเดียว การเดินทางสายกลางด้วยการยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้จ่ายเงินในระดับที่เหมาะสม จะเป็นเครื่องนำทางสร้างความสมดุลทั้งความมั่นคงทางการเงินและความสุขให้กับชีวิต