posttoday

ค่าเงินบาทจับตาการพบปะของทรัมป์และสี จิ้นผิง

25 มิถุนายน 2562

ค่าเงินบาทยังผันผวน รอผลการประชุม กนง. พุธนี้ และ การพบกันทรัมป์และสี จิ้นผิง ในการประชุม G20

ค่าเงินบาทยังผันผวน รอผลการประชุม กนง. พุธนี้ และ การพบกันทรัมป์และสี จิ้นผิง ในการประชุม G20

************************

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นในกรอบ 30.60-31.00 ในช่วงวันที่ 24-28 มิถุนายน ในสัปดาห์นี้ เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูง เนื่องจากมีประเด็นทั้งของไทยและต่างประเทศที่สำคัญ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประชุมนโยบายการเงินในวันพุธนี้ ซึ่งคาดว่า ธปท. จะส่งสัญญาณกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทย

ในด้านต่างประเทศ ประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงมีกำหนดพบปะกันเพื่อเจรจาการค้ากันอีกครั้งในช่วงการประชุมจี 20 ซึ่งตลาดไม่ได้คาดหวังผลสำเร็จมากนัก แต่รอดูท่าทีของผู้นำทั้งสองฝ่ายต่อทิศทางการดำเนินนโยบายกีดกันการค้าในขั้นต่อไป

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปีหลังเฟดส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาเปิดตลาดอ่อนค่าลงจากราคาปิดในสัปดาห์ก่อนหน้าจากความเชื่อมั่นต่อดอลลาร์ที่ปรับสูงขึ้นหลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นมากในช่วงกลางสัปดาห์ตามสัญญาณบากด้านการเจรจาการค้าสหรัฐฯ จีน หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ กล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่าได้คุยกับประธานาธิบดีสีจิ้น ผิงอย่างราบรื่นทางโทรศัพท์และมีกำหนดพบปะกันในการประชุมจี 20 ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน ในเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ เงินบาทยังเคลื่อนไหวแตะระดับแข็งค่ามากที่สุดในรอบปีที่ 30.80 โดยเฉพาะหลังจากที่นายเจอโรม โพเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าพิจารณาการลดดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งยังปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะยาวลงมาที่ 2.5% จากไตรมาสก่อนที่ 2.8% สะท้อนความเห็นของเฟดที่พร้อมลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ตลาดมั่นใจ 100% ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมเดือนกรกฎาคม

ทั้งนี้ เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงท้ายสัปดาห์หลังกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าการส่งออกไทยเดือนพฤษภาคมกดตัวต่อเนื่อง โดยได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่ยังยืดเยื้อ และปิดตลาดที่ระดับ 30.853 (ณ เวลา 17.00 น.)

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นที่นักลงทุนต่างจับตามองคือการประชุม FOMC ในช่วงกลางสัปดาห์ ซึ่งปรากฏว่า FED มีมติ 9-1 เสียงในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25-2.50% อย่างไรก็ตามถ้าดูจาก Dot Plot ที่ประกาศในครั้งนี้ มีคณะกรรมการ 7 จาก 17 ท่านที่เห็นว่า FED ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ความเห็นดังกล่าวถือว่าอยู่ในโทน Dovish มากขึ้นเมื่อเทียบกับการประชุมในครั้งก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงต่ำกว่า 2% และตลาด Priced in โอกาสที่ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือน ก.ค. แล้วถึง 100% ในขณะที่ถ้อยแถลงของทางฝั่ง ECB ก็ส่งสัญญาณอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง หรือเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE หากเงินเฟ้อยังไม่ถึงระดับเป้าหมายของ ECB

เมื่อสถานการณ์นโยบายการเงินทั่วโลกเป็นไปในทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับความกังวลเรื่องสงครามการค้ายังคงอยู่ จึงทำให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและตลาดตราสารหนี้ ทั้งนี้เราเห็นเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. เป็นต้นมา สะท้อนผ่านค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนหลุดระดับต่ำกว่า 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ประเด็นนี้เองเป็นสิ่งที่ติดตามเพราะล่าสุด ธปท. ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าการแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้อาจไม่สะท้อนพื้นฐานของประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ นักลงทุนต้องติดตามว่า ธปท. จะมีมาตรการดูแลเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นการพิจารณาผ่อนคลายนโยบายทางการเงินก็เป็นได้ โดย ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.79% 1.76% 1.78% 1.88% 2.00% และ 2.21% ตามลำดับ

ในส่วนของกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 12,479 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,990 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 11,989 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1,500 ล้านบาท