posttoday

ซะกาตและความยากจนของมุสลิมไทย

04 มิถุนายน 2562

ประเทศไทยมีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม 4-6 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนยากจนอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัญหาหนึ่งมาจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลที่ไม่เท่าเทียม

ประเทศไทยมีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม 4-6 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนยากจนอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัญหาหนึ่งมาจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลที่ไม่เท่าเทียม

*************************

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร. ศรัณย์ ศานติศาสน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ประชากรจำนวนมากบนโลกใบนี้อาศัยอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งในฐานะของชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและวัฒนธรรม ประเทศไทยมีประชากรที่เป็นมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและวัฒนธรรมอยู่ประมาณ 4-6 ล้านคน เป็นกลุ่มประชากรที่มีลักษณะเฉพาะหลายประการ โดยมีวิถีชีวิตที่แบ่งออกเป็นสองด้าน คือ ด้านการปฏิบัติศาสนกิจ (อิบาดะหฺ) และด้านการปฏิบัติต่อสังคม (มุอามะลัต) ในด้านการปฏิบัติศาสนกิจประกอบด้วยหลักศรัทธา (รุกุ่นอิมาน) 6 ประการ และหลักปฏิบัติ (รุกุ่นอิสลาม) 5 ประการ หนึ่งในหลักปฏิบัติ 5 ประการคือ การจ่ายซะกาต ที่เกี่ยวข้องกับการให้และการรับซึ่งสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของมุสลิมทุกคน ทั้งที่เป็นผู้ให้และผู้รับ

ปัญหาคุณภาพชีวิตของมุสลิมไทยบางปัญหามีความรุนแรงกว่าคนไทยกลุ่มอื่น โดยเฉพาะมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กว่าร้อยละ 85 ของประชากรนับถือศาสนาอิสลาม มุสลิมในพื้นที่นี้มีส่วนแบ่งกว่าร้อยละ 40 ของมุสลิมไทยทั้งประเทศ ปัญหาเหล่านี้ที่สำคัญประกอบด้วย ความยากจน การบริโภคยาสูบ และยังมีบางปัญหาที่ถูกมองข้าม เช่น การศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับศาสนาและวัฒนธรรม การสูญเสียสิทธิถือครองที่ดินชายทะเล ซึ่งการดูแลแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จ สามารถใช้แนวทางหรือยุทธศาสตร์ที่แตกต่างไปจากแนวทางหรือยุทธศาสตร์ที่ใช้กับคนไทยกลุ่มอื่น ถ้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา เข้าใจและให้ความสำคัญกับลักษณะเฉพาะทางศาสนาและวัฒนธรรมของประชากรกลุ่มนี้

ปัญหาการกระจายรายได้เป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศ ทั้งในแง่ของสังคมและเศรษฐกิจ ปัญหาสำคัญนี้มีสองมิติ ในมิติหนึ่ง คือปัญหาความยากจน ซึ่งบอกให้รู้ถึงการมีอยู่และความรุนแรงของปัญหา ที่เกิดจากการที่คนบางคนหรือคนบางกลุ่ม ต้องมีชีวิตอยู่อย่างขาดแคลน ไม่สามารถมีกิจกรรมหรือปฏิบัติงานได้ตามปกติ เพราะมีรายได้ต่ำจนกระทั่งไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ในอีกมิติหนึ่ง คือปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ที่บอกให้รู้ถึงการมีอยู่ และความรุนแรงของปัญหาที่เกิดจากช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนหรือระหว่างกลุ่มคน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการกระจายการถือครองและใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ ตลอดจนผลได้ที่เกิดจากการพัฒนาประเทศว่าเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึงมากน้อยเพียงใด

ประเทศไทยไม่เคยมองข้ามความสำคัญของปัญหานี้ ทุกๆ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ไขหรือลดความรุนแรงของปัญหานี้ ตั้งแต่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยคาดหวังว่าจะช่วยสร้างการจ้างงานและรายได้ให้แก่ประชาชน การกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นโดยคาดหวังว่าจะลดช่องว่างระหว่างกรุงเทพฯกับภูมิภาคต่างๆ การส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคมในการพัฒนาเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งดูเหมือนว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เมื่อปัญหาความยากจนโดยรวมมีแนวโน้มลดลงและปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ค่อนข้างจะทรงตัว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาไปในแต่ละภูมิภาค ความสำเร็จดังกล่าวกลับไม่เท่าเทียมกัน และยิ่งเมื่อพิจารณาไปตามกลุ่มชาติพันธ์ และศาสนา ก็ดูเสมือนว่าประชากรบางกลุ่ม เช่น มุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกมองข้าม ทำให้ไม่ได้รับผลพวงจากความสำเร็จในการพัฒนาประเทศเหมือนประชากรกลุ่มอื่น ซึ่งสถานการณ์นี้ก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ทั้งโดยกลไกของภาครัฐหรือภาคประชาสังคม เพื่อไม่ให้คนบางคนหรือคนบางกลุ่มมีรายได้ต่ำ ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ และต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างขาดแคลน เพื่อให้คนเหล่านี้หรือคนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตและมีกิจกรรมหรือปฏิบัติงานได้ตามปกติ เช่นเดียวกับคนอื่นๆ หรือคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ซึ่งสื่อให้เห็นถึงความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ และความสำเร็จในการกระจายผลพวงของการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นการป้องกันปัญหาความขัดแย้ง และความแตกแยกในสังคมในท้ายที่สุด

จากความจริงที่ทุกรัฐบาล หลายหน่วยงานของรัฐ และองค์กรภาคเอกชนหลายองค์กร ต่างเห็นความสำคัญของปัญหาและพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข ซึ่งทำให้ปัญหาความยากจนในภาพรวมลดลง แต่ปัญหาความยากจนในพื้นที่ที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ กลับรุนแรงกว่าและลดลงช้ากว่าพื้นที่อื่น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลภูมิหลังทางศาสนาของประชากรที่ตกอยู่ในความยากจนที่พบว่า ปัญหาความยากจนในมุสลิมไทยรุนแรงกว่าปัญหาความยากจนในคนไทยโดยทั่วไป ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศไทยอาจกำลังเผชิญกับปัญหาที่เรียกว่าความผิดพลาดในการชี้เป้าหมายความยากจน (Poverty Targeting)

ปัญหาความผิดพลาดนี้แยกได้เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นความผิดพลาดจากการที่คนจนจริงไม่ได้รับความช่วยเหลือ (Type I Error หรือ Exclusion Error) เป็นการปล่อยทิ้งให้ปัญหาความยากจนไม่ได้รับการดูแลแก้ไข และสะสมไว้จนอาจถึงจุดที่ยากเกินกว่าที่จะเยียวยา อีกส่วนหนึ่งเป็นความผิดพลาดจากการที่คนไม่จนจริงได้รับความช่วยเหลือ (Type II Error หรือ Inclusion Error) เป็นการสูญเปล่าของงบประมาณที่ใช้ ซึ่งการใช้กลไกแก้ปัญหาความยากจนในระดับท้องถิ่นผนวกกับการบริหารจัดการที่ดีจะช่วยลดความผิดพลาดเหล่านี้ได้ ในกรณีของประเทศไทย การที่ปัญหาความยากจนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงในอัตราที่ช้ากว่าส่วนอื่นๆ ของประเทศ สาเหตุหนึ่งน่าจะเกิดจากการจัดสรรงบประมาณแก้ไขปัญหาความยากจนไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภูมิภาค

แม้ว่าความผิดพลาดทั้งสองส่วนอาจได้รับการแก้ไขหรือบรรเทาได้ แต่รัฐยังต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการแก้ไขหรือเพียงแต่บรรเทาปัญหาความยากจนในแต่ละปี ผลการคำนวณจากค่าช่องว่างของความยากจนชี้ว่า การดึงมุสลิมไทยทุกคนที่ตกอยู่ในความยากจนให้หลุดพ้นจากปัญหานี้ รัฐอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนเกือบ 6 พันล้านบาท เพื่อช่วยให้มุสลิมไทยกว่า 7 แสนคนหลุดพ้นจากความยากจน และถ้าปัญหานี้ยังไม่บรรเทาลง ก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนเดียวกันนี้ทุกปี ซึ่งหมายความว่าแหล่งที่มาของเงินก้อนนี้ต้องมากพอและยั่งยืน

ช่องทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือ การบริจาคทานภาคบังคับหรือการจ่ายซะกาต (Zakat) ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ซึ่งกำหนดให้ในทุกรอบปีมุสลิมที่มีรายได้ถึงพิกัดจะต้องจ่ายซะกาต ซึ่งหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้ว จะต้องจัดเก็บซะกาตได้อย่างน้อย 730 บาท จากมุสลิมไทยที่มีรายได้ถึงพิกัดแต่ละคน จึงจะได้งบประมาณจำนวนนี้ ในขณะที่ครัวเรือนมุสลิมไทยมีทรัพย์สินเฉลี่ยประมาณ 750,000 บาท/ครัวเรือน ซึ่งหมายถึงศักยภาพที่จะจ่ายซะกาตได้ประมาณ 5,000 บาทต่อคนในแต่ละปี เป็นจำนวนที่มากเกือบเจ็ดเท่าของงบประมาณที่ต้องการ และสามารถจ่ายได้ทุกปี เป็นการช่วยบรรเทาภาระทางงบประมาณของภาครัฐครับ