posttoday

ค่าบาทลุ้นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน

03 มิถุนายน 2562

ค่าเงินบาทไทยยังมีความผันผวนจากพิษสงครามการค้ารอบใหม่ ที่คาดว่าจะยือเยื้อและหาข้อยุติได้ในเร็ววัน

ค่าเงินบาทไทยยังมีความผันผวนจากพิษสงครามการค้ารอบใหม่ ที่คาดว่าจะยือเยื้อและหาข้อยุติได้ในเร็ววัน

***************************

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week)โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นในกรอบ 31.50-31.90 ในช่วงวันที่ 3-7 มิถุนายน โดยปัจจัยต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทสำคัญยังมาจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยจีนมีกำหนดขึ้นภาษีครอบคลุมสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 1 มิถุนายน และความเสี่ยงที่จีนอาจออกมาตรการตอบโต้แผนการคว่ำบาตรบริษัทหัวเว่ยของสหรัฐฯ โดยการตอบโต้จากประธานาธิบดีทรัมป์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาเช่นกัน

ส่วนในยูโรโซนจะมีการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปซึ่งคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับผ่อนคลายต่อไป

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในช่วงสัปดาห์นี้จับตาการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวน โดยอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงหลังของสัปดาห์ เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์จากปัจจัยต่างประเทศทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป โดยความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ที่สูงขึ้นตามความกังวลต่อความเสี่ยงในตลาดที่ยังคงสูง โดยตลาดกังวลผลกระทบจากสงครามการค้าที่คาดว่าประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะยังคงยืดเยื้อต่อไป

ขณะที่ในยุโรป แม้การเลือกตั้งรัฐสภายุโรปจบลงแต่ความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรปยังสูงขึ้น โดยเฉพาะจากที่รัฐบาลของอิตาลีกล่าวว่าจะผลักดันการลดอัตราภาษีและจะไม่ดำเนินตามข้อบังคับด้านการจัดทำงบประมาณของสหภาพยุโรป หลังจากที่พรรคซึ่งสนับสนุนนโยบายประชานิยมของอิตาลีได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป

สำหรับด้านปัจจัยในประเทศนั้น ในช่วงต้นสัปดาห์เงินบาทไม่ได้แข็งค่าตอบรับกับเงินทุนไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์ไทยถึง 1.61 หมื่นล้านบาท ในช่วงสี่วันแรกของสัปดาห์ตามการปรับน้ำหนักของดัชนี MSCI ใหม่

ขณะที่การประกาศตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเดือนเมษายนที่เกินดุลลดลงจากเดือนก่อนมากไม่ได้ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่กลับแข็งค่าขึ้นมากในช่วงปลายสัปดาห์ ตามดัชนีเงินดอลลาร์ที่ลดลงหลังจากนายริชาร์ด คลาริดา รองประธานเฟดส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ หากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูงขึ้น รวมทั้งตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ปรับปรุงลดลงจากขยายตัวที่ 3.2 %QoQ saar มาขยายตัวที่ 3.1%QoQ saar ส่งผลให้เงินบาทปิดตลาดที่ 31.645 (ณ เวลา 17.15 น.)

ค่าบาทลุ้นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน

ตลาดพันธบัตร ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนยังคงแสดงความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงปัจจัยใหม่จากการที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ขู่ว่าจะกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกทุกชนิดในอัตรา 5% ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้และการประกาศตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 1 ประกาศครั้งที่ 2 ลดลงเหลือเพียง 3.1% QoQ จาก 3.2% ในการประกาศครั้งก่อน

ด้วยเหตุนี้นักลงทุนจึงเลือกเข้าถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ รุ่นอายุ 10ปี ปรับตัวลดลงมาใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดในรอบ 20 เดือน ทำให้ประเด็นของเรื่อง Inverted Yield Curve ถูกพูดถึงอีกครั้ง ซึ่งในปัจจุบันมีส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ติดลบแล้ว 3 คู่ คือ ส่วนต่างระหว่างรุ่น อายุ 3 เดือน-10 ปี 1 ปี-10 ปี และ 2 ปี-5 ปี และหากเรานำสถิติในอดีตมาอ้างอิงถึงความน่าจะเป็นที่วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่ภายหลังจากการเกิดสัญญาณ Inverted Yield Curve ผลลัพธ์ที่ได้จะอยู่ในช่วงปี 2021 หรือประมาณ 2ปีข้างหน้านี้เอง ในขณะที่ตลาดพันธบัตรของไทยปรับตัวสอดคล้องกับตลาดทั่วโลก กล่าวคือ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยมีความชันลดลง (Bull Flattening) โดย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.81% 1.83% 1.88% 2.06% 2.21% และ 2.43% ตามลำดับ

ในส่วนของกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 4,608 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 8,366 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,758 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ