posttoday

DIY จัดพอร์ตลงทุนที่ใช่ ด้วยตัวคุณเอง

08 พฤษภาคม 2562

ความฝันของใครหลายๆ คนที่เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง เพื่อหวังที่จะรวยทางลัดหรือเกษียณให้เร็วที่สุด

ความฝันของใครหลายๆ คนที่เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง เพื่อหวังที่จะรวยทางลัดหรือเกษียณให้เร็วที่สุด

********************

โดย...ไชยวัฒน์ คมโสภาพงศ์ ฝ่ายธุรกิจบริหารทรัพย์กลุ่มลูกค้าบุคคลพิเศษ ธนาคารกสิกรไทย

“อิสรภาพทางการเงิน”ความฝันของใครหลายๆ คนที่หวังจะได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ ทำให้ทุกคนมุ่งหน้าเข้าสู่เส้นทางการลงทุน เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง เพื่อหวังที่จะรวยทางลัดหรือเกษียณให้เร็วที่สุด แต่พอเอาเข้าจริงก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะถ้าสถานการณ์การลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาด แทนที่จะได้กำไรกลับขาดทุน ถูกลดทอนความมั่งคั่ง ความฝันที่จะมีอิสรภาพทางการเงินก็จะยิ่งห่างไกลออกไปอีก

ขณะเดียวกันการที่เราไม่ลงทุนเลย ก็มีความเสี่ยงที่เงินของเราก็จะมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ จากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทางที่ดีเราควรมีการวางแผนการลงทุน จัดสรรเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมาจะได้ไม่สูญเงินไปทั้งหมด

ดังนั้นการรู้ถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเองและความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ลงทุน เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถออกแบบพอร์ตการลงทุน เลือกสินทรัพย์ให้เหมาะสมสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ เพื่อไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ในระยะยาว

แต่ก่อนที่เราจะเข้าสู่ขั้นตอนออกแบบพอร์ตการลงทุน ผมขอพูดถึงสินทรัพย์ทางการเงิน (Asset Class) เรียงตามระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์จากต่ำไปสูง เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจถึงเครื่องมือที่เราจะนำมาใช้ในการจัดพอร์ตการลงทุน

DIY จัดพอร์ตลงทุนที่ใช่ ด้วยตัวคุณเอง

1. เงินสด หรือ เงินฝากธนาคาร สภาพคล่องสูง ให้ผลตอบแทนต่ำ ความเสี่ยงต่ำ เราควรมีเงินสดสำรองไว้กรณีฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือนของค่าใช้จ่ายรายเดือน ด้านการลงทุนเราควรมีเงินสดส่วนหนึ่งไว้ในพอร์ตอยู่เสมอ เพราะมันคือสภาพคล่องที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์การลงทุนได้เมื่อเห็นโอกาส

2. ตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย มากหรือน้อยตามอายุและความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ที่ออกตราสาร นักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของกิจการ ส่วนผู้ที่ระดมทุนคือ ภาครัฐ บริษัทเอกชน ที่มีสถานะเป็นลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยและไถ่ถอนเงินตามสัญญาที่ระบุไว้ ความเสี่ยงของตราสารหนี้อยู่ที่ความน่าเชื่อถือของผู้ที่ออกตราสารและดอกเบี้ยที่ได้รับอาจต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ก่อให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสนั้นเอง โดยผลตอบแทนของตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก แต่จะมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้น ดังนั้นเราควรมีตราสารหนี้ไว้ในพอร์ตการลงทุน เลือกรูปแบบตราสารหนี้ให้เหมาะกับการลงทุนของตนเอง ตัวอย่างตราสาร เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้บริษัทเอกชน

3. หุ้น สำหรับการลงทุนในหุ้นนั้นจะเปรียบเสมือนเราเป็นเจ้าของกิจการ ตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่เราถืออยู่ ผลตอบแทนที่ได้จะอยู่ในรูปของเงินปันผล และกำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น เพราะฉะนั้นการลงทุนในธุรกิจที่ยอดเยี่ยมและราคาที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่เราควรพิจารณา ซึ่งในแง่ของความเสี่ยง หุ้นมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงกว่าตราสารหนี้และเงินฝาก แต่ก็แลกมาด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่าเช่นกัน

4. สินทรัพย์ทางเลือก เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุน ที่มีไว้เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนและช่วยให้พอร์ตการลงทุนของเรากลมกล่อมมีรายได้จากสินทรัพย์ที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์

ซึ่งในปัจจุบันกองทุนรวม เป็นเครื่องมือการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่เพิ่งเริ่มลงทุนไปจนถึงนักลงทุนที่ต้องการไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน แถมกองทุนรวมบางชนิดอย่าง LTF และ RMF ยังได้สิทธิ์ลดหย่อนทางภาษีอีกด้วย เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่กองทุนรวมจะเป็นที่นิยมในการนำมาจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) เพียงแค่แบ่งสัดส่วนของกองทุนในแต่ละประเภท ตามสไตล์และเป้าหมายของแต่ละบุคคล สามารถทำได้ง่าย สะดวก ไม่ยุ่งยาก

มาถึง 5 ขั้นตอนการออกแบบพอร์ตลงทุนง่ายๆ ที่คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

1. กำหนดเป้าหมายของพอร์ตการลงทุน บางคนอาจจะมีเป้าหมายเดียวหรือหลายเป้าหมายก็ได้ การเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุนก็จะแตกต่างกันออกไปตามลำดับความสำคัญและระยะเวลาที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย

2. สำรวจตนเอง ผ่านการทำแบบประเมินความเสี่ยง (Suitability Test) เพื่อให้เรารู้ถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตัวเอง และสามารถวางแผนการลงทุนคร่าวๆ ได้ว่าควรลงทุนกับสินทรัพย์ประเภทใด ในสัดส่วนเท่าไร จึงจะได้ผลตอบแทนสูงสุดในระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ ซึ่งแบบประเมินความเสี่ยงที่ว่า หาทำได้ง่ายในเว็บตลาดหลักทรัพย์ หรือตามสาขาธนาคารที่เราเปิดบัญชี

3. จัดพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุน เช่น วัยเริ่มทำงานต้องการวางแผนเกษียณ อาจจะจัดพอร์ตเชิงรุก (Aggressive) มีสัดส่วนของกองทุนรวมหุ้นสูง 70% เพราะอายุยังน้อย ไม่มีภาระ มีอายุในการลงทุนยาว สามารถรับความเสี่ยงได้สูง

4. เริ่มลงทุน ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าเรามีแผนการลงทุนที่ดีแล้ว แต่ขาดวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เป้าหมายการลงทุนที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกก็ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้

5. ติดตามผลและปรับกลยุทธ์การลงทุนให้ทันกับสถานการณ์ จะช่วยให้การลงทุนไปถึงเป้าหมายได้จริงมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงและวัตถุประสงค์การลงทุน

DIY จัดพอร์ตลงทุนที่ใช่ ด้วยตัวคุณเอง

จากตัวอย่างการจัดพอร์ตที่ผมให้เป็นแนวทาง DIY เบื้องต้น นักลงทุนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ปรับเพิ่มหรือลดสัดส่วนสินทรัพย์แต่ละประเภทให้เหมาะสมกับสไตล์ของคุณเอง ไม่มีถูกไม่มีผิด สำคัญที่การกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์หลายๆรูปแบบ สร้างวินัยการลงทุนให้เป็นนิสัย เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ เราต้องหมั่นดูแลรดน้ำ ใส่ปุ๋ย การลงทุนก็เช่นกัน เราควรติดตามและประเมินผลการลงทุนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว จงจำเอาไว้ว่า “เราไม่ได้ปลูกถั่วงอกที่หวังผลเพียงไม่กี่วัน หรือกี่สัปดาห์ แต่เรากำลังปลูกต้นไม้ใหญ่ที่จะให้ร่มเงา ออกดอก ออกผล รอเวลาที่จะเก็บเกี่ยวในอนาคต”