posttoday

จัดการดี ไม่ต้องหนีซอง

04 ธันวาคม 2561

“งานนี้ใส่ซองเท่าไหร่ดี” หลายครั้งที่เราคงเคยถามตัวเอง หรือได้ยินคนรอบข้างถามคำถามนี้บ่อยๆ

เรื่อง ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

“งานนี้ใส่ซองเท่าไหร่ดี” หลายครั้งที่เราคงเคยถามตัวเอง หรือได้ยินคนรอบข้างถามคำถามนี้บ่อยๆ ยิ่งช่วงปลายปี งานมงคลก็ต่อคิวรอเราไปร่วมแสดงความยินดีเพียบ

โดยเฉพาะงานแต่งงานที่มารัวๆ ช่วงหน้าหนาว แถมยังมีงานอื่นๆ เช่น งานกฐินช่วงหลังออกพรรษา หรืองานที่กระจายตัวทั่วทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นงานศพ งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ เพื่อนหรือญาติคลอดลูก ฯลฯ

เจอแบบนี้การเงินของเราก็อาจสะดุดเพราะภาษีสังคมที่มักหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใจหนึ่งก็สงสารตัวเอง แต่อีกใจก็กลัวจะเสียเพื่อนหรือความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของซองกลายเป็นเรื่องที่ตัดสินใจลำบาก แถมถ้าไม่วางแผนล่วงหน้า รับรองว่ากระเป๋าแบนแน่นอน

เราจึงขอแนะนำ 5 วิธีการจัดการค่าใช้จ่ายทางสังคมแบบง่ายๆ ที่จะสามารถช่วยให้เราผ่านเรื่องแบบนี้ไปได้อย่างสบาย แถมได้ใจเจ้าภาพอีกด้วย

1.จ่ายเท่าที่เราไหว ในปีหนึ่งๆ เรามักต้องจ่ายค่าภาษีสังคมให้กับหลายกลุ่ม ทั้งครอบครัว เพื่อนสนิท เพื่อนสมัยเรียน เพื่อนร่วมงาน บางครั้งอาจเป็นคนที่เรารู้จักห่างๆ

เพราะฉะนั้น “จงจ่ายเท่าที่ไหว” โดยประเมินจากฐานะของเราเอง ไม่จำเป็นต้องโชว์ความใจกว้างด้วยการทุ่มใส่ซองหนาๆ เพื่อรักษาหน้าหรือทำให้เราดูเป็นคนใจดี

ตั้งงบประมาณในใจว่าความสนิทระดับไหนควรจะใส่ซองเท่าไหร่ หรือดูความจำเป็นของเจ้าของงานประกอบ เช่น บ่าวสาวที่เรารู้ว่าเขาต้องช่วยกันผ่อนเรือนหอ ก็น่าจะให้มากกว่าคู่ที่ฐานะทางบ้านดีอยู่แล้ว

และอย่าเอามาตรฐานการใส่ซองของคนอื่นมาเทียบกับตัวเรา ถึงแม้ว่าเงินเดือนเราและคนรอบข้างจะไม่ต่างกันมาก แต่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแต่ละคนอาจจะต่างกัน

ถ้ากังวลว่าเราจะใส่ซองน้อยเกินไปจนดูไม่ดี ก็ใช้วิธีการฝากซองพร้อมแนบการ์ดน่ารักๆ เขียนข้อความแสดงความยินดีแทนการเข้าร่วมงาน ทำแบบนี้แล้วจะได้สบายใจไม่รู้สึกผิด

2.ตั้งงบต่อเดือน ปกติแล้วในการจัดงานต่างๆ เจ้าภาพมักจะมีการเชิญล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน

ดังนั้น เราจะทราบแล้วว่า เดือนหน้ามีงานกี่งานที่เราต้องเตรียมใส่ซอง แล้วตั้งงบประมาณโดยดูจากรายได้ ค่าใช้จ่ายจำเป็น และเงินออมของเราเป็นหลักไม่ให้เกินกำลังจนเกินไป

เช่น เดือนหน้าจะมีงานแต่ง 2 งาน คิดว่าจะใส่ซองงานละ 1,000 บาท เราก็จะต้องแบ่งเงินไว้สำหรับเดือนหน้าเป็นจำนวน 2,000 บาท

หรือจะดำเนินการเชิงรุกลองสืบข่าวจากเพื่อนๆ ล่วงหน้าว่าใครมีแววจะสละโสดหรือน่าจะมีเหตุการณ์อื่นๆ เกิดขึ้น ก็จะได้ช่วยให้เราตั้งงบสำหรับเดือนนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น

3.ทยอยเก็บล่วงหน้า ถึงแม้ว่าภาษีสังคมจะไม่ได้จ่ายทุกเดือน แต่การทยอยเก็บเงินไว้ล่วงหน้า คงจะเป็นทางออกที่ดีที่จะทำให้เราไม่ชอร์ต ไม่ต้องวิ่งหนีซอง

เช่น แบ่งเงินเดือนละ 5-10% ไว้สำหรับจ่ายภาษีสังคมโดยเฉพาะ จะหยอดใส่กระปุก หรือเก็บในบัญชีออมทรัพย์หรือออมทรัพย์พิเศษได้ตามสะดวก ถึงช่วงมีงานก็ดึงเงินที่เก็บไว้มาใช้

วิธีนี้จะช่วยคลายความกังวลในการหาเงินใส่ซองได้เป็นอย่างดี เพราะเราให้โอกาสตัวเองเตรียมตัวล่วงหน้าไม่กระชั้นชิดอุ่นใจเพราะมีเงินพร้อมจ่ายอยู่แล้ว สิ้นปีถ้ามีเงินเหลือก็เอาไปออมหรือลงทุนต่อไปได้

4.จ่ายแล้วจด ใส่ซองทุกครั้ง อย่าลืมจดบันทึกว่าเราใส่ซองไปเท่าไหร่ ไม่ใช่เพื่อที่จะหวังได้เงินคืนในภายหลัง แต่การจดบันทึกจะช่วยให้เราสามารถวางแผนค่าใช้จ่ายในอนาคตได้ด้วย

เช่น ลองจดค่าภาษีสังคมที่จ่ายไปทั้งหมดในปีนี้ เพื่อนำมาตั้งงบประมาณภาษีสังคมในปีต่อไป และไม่ใช่เฉพาะค่าใส่ซองที่ต้องจด แต่ควรรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นในการไปร่วมงาน เช่น ค่าเดินทาง เสื้อผ้าหน้าผมให้เข้าธีมงาน ของขวัญ ฯลฯ

เพราะการจดบันทึกรายจ่ายทุกอย่างจะเหมือนเป็นกระจกสะท้อนที่ทำให้เราสามารถวางแผนการใช้จ่ายได้ดีขึ้น ทำให้รู้ว่าเรามีค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทมากเท่าไหร่ในหนึ่งปี และเราอาจเจอวิธี ลด ละ เลิก ค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นมาเปลี่ยนเป็นเงินออมได้อีก

5.หัดปฏิเสธบ้าง ในที่นี้ไม่ใช่การปฏิเสธรับซอง แต่คือการยอมรับกับเจ้าภาพว่าช่วงนี้สถานะการเงินของเราเป็นอย่างไร เรามีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายมากแค่ไหน

จัดการดี ไม่ต้องหนีซอง

หากเป็นกลุ่มคนที่สนิทกันอาจจะขอช่วยงานตามความสามารถของเราแทน เช่น เป็นพิธีกร ถ่ายภาพ เตรียมของชำร่วย ช่วยจัดการพิธี หรือขอเปลี่ยนเป็นให้ของขวัญทำมือจากใจของเราแทน

เรื่องของความเหมาะสมในการใส่ซองไม่มีข้อกำหนดที่แน่ชัด เราจึงควรดูฐานะของตนเองเป็นหลัก อย่าใส่น้อยไปจนดูไม่เต็มใจ หรือมากเกินไปจนตัวเองลำบาก

ส่วนฝั่งเจ้าภาพผู้จัดงานก็ให้นึกถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของงานเข้าไว้ ไม่จัดงานเกินกำลังทรัพย์ที่มี

อย่ายอมเป็นหนี้เพราะการจัดงานแล้วหวังเรียกทุนคืนจากซอง

ถ้าลองทำตามนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้ความขุ่นข้องหมองใจในการจัดงานและการใส่ซองจะไม่เกิดขึ้น บัวก็ไม่ช้ำ น้ำก็ไม่ขุ่น แถมความสัมพันธ์ที่ดีของผู้จัดงานและผู้ถูกเชิญก็ยังคงอยู่ตลอดไป