posttoday

เกษียณเท่ากับเลิกจ้าง...ลูกจ้างเฮ...นายจ้างเตรียมเงินชดเชยสำรองไว้...

06 พฤศจิกายน 2561

ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าถ้าเราโดนเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างให้เรา (เป็นค่าทำขวัญ)

พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่ แอคชัวรี) FSA, FIA, FSAT, FRM นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย

ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าถ้าเราโดนเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างให้เรา (เป็นค่าทำขวัญ) แต่ข่าวดีที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ ตอนนี้กฎหมายแรงงานได้กำหนดเพิ่มเติมว่า “การเกษียณ” เท่ากับการเลิกจ้าง ซึ่งหมายความว่านายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างในตอนที่เกษียณ อีกทั้ง กฎหมายแรงงานยังได้กำหนดอายุเกษียณไว้เป็น 60 ปี (กันคนที่ไม่ยอมกำหนดอายุเกษียณ หรือกำหนดอายุเกษียณไกลเกินไป)

โดยอัตราค่าชดเชยตามอายุงาน คือ อายุงานมากกว่า 10 ปี ได้รับการชดเชย 10 เดือน หรือ 300 วัน หากทำงาน 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับการชดเชย 8 เดือน อายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับค่าชดเชย 6 เดือน ทำงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้ค่าชดเชย 3 เดือน และทำงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 1 เดือน

ข่าวดีซ้ำสองอีก คือ ตอนนี้ยังมีประเด็นในการปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่ง ครม.ก็เพิ่งอนุมัติไปว่า ถ้าทำงานเกิน 20 ปี จะได้เงินชดเชย 400 วัน (13.3 เดือน) ซึ่งเราก็คงต้องรอฟังข่าวดีนี้กัน

ถ้าเราไปดูที่ตัวกฎหมายให้อ้างอิงถึงมาตรา 118/1 ที่ถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรค 2 เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง และกำหนดอายุของการเกษียณอายุไว้ที่ 60 ปีบริบูรณ์

นายจ้างจึงไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่า ไว้รอให้ลูกจ้างเกษียณก่อนแล้วค่อยหาเงินมาจ่ายให้ เพราะถ้าทำแบบนั้นในอนาคตบริษัทอาจจะหาเงินมาจ่ายไม่ไหว สุดท้ายคนที่เดือดร้อนก็คือลูกจ้างนี่แหละครับ

นายจ้างจึงต้องเตรียมตัวหาเงินมาสำรองเป็นกองทุนไว้แต่เนิ่นๆ หรืออย่างน้อยก็ต้องตั้งเป็นหนี้สินของบริษัท (แน่นอนว่าเจ้าหนี้คือลูกจ้าง) ไว้เตรียมจ่ายเป็นเงินชดเชยยามที่ลูกจ้างเกษียณ

และนั่นเป็นที่มาที่นายจ้างต้องคำนวณผลประโยชน์พนักงาน ให้ตั้งเงินสำรองรับรู้เป็นภาระหนี้สินของบริษัท และทยอยรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละปีเอาไว้

เกษียณเท่ากับเลิกจ้าง...ลูกจ้างเฮ...นายจ้างเตรียมเงินชดเชยสำรองไว้...

แต่การที่นายจ้างจะเตรียมจ่ายเงินในอนาคตอันไกลโพ้นเหล่านี้ มันคาดการณ์ได้ยากยิ่งเสียนี่กระไร เพราะไม่รู้แน่ว่าตกลงว่าลูกจ้างแต่ละคนนั้นจะมีเงินเดือนในตอนนั้นเท่าไรในตอนที่เกษียณ และจะมีโอกาสทำงานอยู่กับบริษัทจนถึงเกษียณเป็นจำนวนเท่าไร ใครจะอยู่ ใครจะไป ซึ่งถ้าจะให้ไปตั้งหนี้สินแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็คงจะผิดหลักการ กลายเป็นต้องตั้งเต็มจำนวนซึ่งก็จะมากเกินไปจากความเป็นจริงหลายเท่าตัว

ถ้ามองกันดีๆ แล้ว การคำนวณเงินสำรองสำหรับค่าชดเชยจากการเกษียณ เป็นการการันตีผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับตอนที่ทำงานจนถึงอายุเกษียณ ซึ่งหลักการตั้งเงินสำรองจะเหมือนกับหลักการเดียวกับแบบประกันชีวิต ที่การันตีผลประโยชน์ให้ในอนาคตที่ระบุไว้ ซึ่งหลักการที่ว่านี้จะอาศัยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยในการคำนวณ เพื่อตั้งสำรองให้เหมาะสมไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป

เพราะโอกาสที่พนักงานแต่ละคนจะได้รับเงินชดเชยก็ไม่ใช่ 100% และเรายังสามารถนำเงินไปลงทุนก่อนได้ จึงทำให้เราไม่ต้องทยอยตั้งสำรองเต็มจำนวน ซึ่งเงินที่ต้องเตรียมไว้จ่ายค่าชดเชยของแต่ละคนในยามเกษียณนั้น แทนที่จะต้องตั้งสำรองจ่ายเต็มๆ เราก็คำนวณโดยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย แล้วลดทอนด้วยหลักความน่าจะเป็น (ที่มีโอกาสไม่จ่าย) และหลักการลงทุนดอกเบี้ยทบต้น (ที่มีโอกาสให้เงินทำงานงอกเงยดอกเบี้ย)

การคำนวณทางหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย แบบประกันชีวิตที่ประมาณไปในอนาคตระยะยาว จะทำให้นายจ้างไม่ต้องตั้งสำรองเต็ม และสามารถตั้งหนี้สินได้น้อยลงไปเยอะ

วิธีการนี้มีใช้กันอยู่แล้วครับ เช่น บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทมหาชน จะใช้มาตรฐานการบัญชีไทยฉบับที่ 19 (TAS19) เรื่องผลประโยชน์พนักงาน ที่ใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัยในการคำนวณดังกล่าว เพื่อตั้งสำรองแบบนี้ไว้อยู่แล้ว

...ถึงจะซับซ้อนแต่ก็มีประโยชน์มากนะครับ... ซึ่งการคำนวณผลประโยชน์พนักงานดังกล่าว ก็เหมือนกับการคำนวณผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันชีวิต ทำให้เราสามารถใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาคำนวณให้ได้