posttoday

รวมกลยุทธ์ลงทุนกับ LTF/RMF ปลายปี

31 ตุลาคม 2561

กองทุนที่นักลงทุนหลายๆ คนให้ความสนใจ โดยเฉพาะปลายๆ ปีแบบนี้

โดย...หมอนัท

สวัสดีครับ กลับมาพบกันกับผมหมอนัท อีกครั้งในคอลัมน์ Fund Clinic แห่งนี้เช่นเคยครับ ในครั้งที่แล้วที่ผมเองได้เล่าให้ฟังถึงกอง ETF ต่างประเทศที่เป็นแบบ SMART Beta กันไปเป็นที่เรียบร้อยครับ

โดยส่วนตัวผมคิดว่ากองทุน ETF นั้นเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนครับ ถึงแม้ว่าบ้านเราจะยังไม่เป็นที่นิยมก็ตาม แต่ผมก็เริ่มเห็นแล้วว่าในอนาคตอันใกล้น่าจะเริ่มมีบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ให้ความสำคัญมากขึ้นครับ ซึ่งผมคิดว่าหาก ETF ได้รับความนิยมมากขึ้น มันน่าจะสร้างผลดีให้กับนักลงทุนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายของกองทุนที่จะช่วยในการสร้างพอร์ตให้ได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอมากขึ้นบนค่าใช้จ่ายของกองทุนที่ไม่แพงอีกด้วย

แต่คราวนี้เรากลับมาที่ประเทศไทยของเรา กับกองทุนที่นักลงทุนหลายๆ คนให้ความสนใจ โดยเฉพาะปลายๆ ปีแบบนี้ครับ แถมในภาวะที่ตลาดผันผวนแบบรายวันแบบนี้ แน่นอนหลายท่านคงทราบแล้วว่ากองทุนที่ผมกำลังจะพูดคุยในครั้งนี้คือ กองทุน LTF/RMF นั่นเองครับ

แต่ครั้งนี้ผมไม่ได้มาคุยกันในเรื่องของข้อกำหนดต่างๆ ของกองทุนลดหย่อนภาษีทั้งสองกองทุนนี้นะครับ แต่จะเน้นไปที่กลยุทธ์ในการลงทุนกับกองทุน LTF/RMF ในช่วงปลายปีแบบนี้ครับ เพราะว่าทุกๆ ปีผมมักจะได้รับคำถามว่า ซื้อกองทุนอย่างไรดี ซื้อปลายปีแบบนี้จะแพงไปหรือยัง หรือว่ารออีกหน่อยจะดีกว่ากัน หรือว่ามีเทคนิคอะไรในช่วงปลายปีแบบนี้ ถ้าใครอยากทราบแล้วละก็ตามผมมาเลยครับ กับกลยุทธ์ในการลงทุนกับ LTF/RMF

วิธีที่ 1 ซื้อแบบสม่ำเสมอทุกสัปดาห์หลังจากนี้เป็นต้นไป (DCA หรือ Dollar Cost Average) โดยปกติเราจะซื้อกองทุนแบบสม่ำเสมอทุกๆ เดือนไป แต่เนื่องจากว่าใกล้ๆ สิ้นปีแบบนี้ เวลาเหลืออีกเพียงไม่กี่เดือน หากลงทุนแบบรายเดือนเหมือนเดิม ผมเชื่อว่าเราจะได้ราคาหน่วยลงทุนที่ค่อนข้างจะสูงครับ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงเราอาจจะทำการ DCA ทุกๆ สัปดาห์เพื่อกระจายความเสี่ยงและถัวเฉลี่ยราคาหน่วยลงทุนครับ

วิธีที่ 2 DCA + Market Timing ง่ายๆ ครับ เราก็แค่แบ่งเงินเป็น 2 ก้อน โดยก้อนแรกเราจะทำการซื้อเฉลี่ยทุกสัปดาห์ หรือว่า DCA แบบปกติ เพื่อให้ได้ราคาเฉลี่ยที่ไม่แพงมากนักครับ จากนั้นเงินอีกก้อนเราจะเก็บเอาไว้ซื้อตามจังหวะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงครับ เพื่อให้ได้หน่วยลงทุนที่ราคาถูกลงไปอีกครับ ซึ่งบางคนอาจจะชอบวิธีนี้เพราะว่าได้ลุ้น ได้ความมีวินัยไปพร้อมๆ กัน

แต่ว่าวิธีนี้ก็มีข้อจำกัดครับ อาจจะทำให้เราคำนวณการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีผิดพลาดได้ เนื่องจากหากเป็นปีที่หุ้นดี เราก็อาจจะไม่ได้ลงทุนเพิ่มเติม และซื้อกองทุนไม่ถึงสิทธิที่จะลดหย่อน

วิธีที่ 3 หากนักลงทุนลืมซื้อ LTF/RMF มาตลอดทั้งปี ซื้อกองทุนในช่วงปลายๆ ปีที่มีแนวโน้มราคาหุ้นสูงขึ้น แทนที่นักลงทุนจะซื้อกองทุน LTF/RMF แบบหุ้นล้วนๆ ก็อาจจะพิจารณากองทุนที่มีสัดส่วนหุ้นไม่สูงมากนักเพื่อลดความเสี่ยงของการลงทุนลงครับ เช่น ถือกองทุน LTF ที่มีหุ้น 70% ตราสารหนี้ 30% แบบนี้ครับ

หรือว่าบางคนที่ชอบซื้อ RMF ก็อาจจะซื้อกองทุน RMF แบบตราสารหนี้ไปก่อน หากมั่นใจแล้วว่าตลาดหุ้นไม่ได้แย่ หรือว่าไม่ได้เกิดวิกฤตตามมา เราก็ค่อยๆ ทยอยย้ายกองทุน RMF ตราสารหนี้ มาลงทุนในกองทุนหุ้น RMF แทนครับ

วิธีที่ 4 หากนักลงทุนไม่อยากคิดมาก อยากลงทุนแบบเงินก้อน โดยที่ไม่ต้องยุ่งกับการลงทุนมากนัก และไม่อยากจับจังหวะเอง สิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญก็คือ การจัดพอร์ตการลงทุนครับ ซึ่งการจัดพอร์ตจะช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนไปได้เยอะทีเดียว และยังได้ผลตอบแทนที่ดีได้อีกด้วยโดยเราสามารถที่จะเอากองทุน LTF/RMF มาจัดพอร์ตพร้อมๆ กันก็ได้ครับ เช่น เลือกกองทุน RMF ตราสารหนี้เพื่อให้ความเสี่ยงไม่สูงจนเกินไป แต่ในส่วนสัดส่วนการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอาจจะใช้ LTF เป็นตัวลงทุน เนื่องจาก LTF จะมีหุ้นอยู่ในกองทุนเป็นสัดส่วนที่สูงอยู่แล้วครับ

น่าเสียดายจริงๆ ครับ ในครั้งนี้ผมหมดเวลาเสียแล้ว โดยในครั้งหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังถึงกองทุน RMF ที่เป็นกองทุนผสม ซึ่งน่าจะเหมาะสำหรับนักลงทุนที่อยากลงทุนยาวๆ และไม่ต้องการที่จะจัดพอร์ตเองให้เมื่อย ประมาณว่าซื้อกองทุนเดียวก็พอสำหรับการลงทุนเพื่อการเกษียณของเราครับ ส่วนวันนี้ผมขอลาไปก่อน สวัสดีครับ