posttoday

วางแผนมรดก ให้ตระกูล‘จิระอนันต์’

01 ตุลาคม 2561

ละครเลือดข้นคนจาง กำลังเข้มข้น ในการหาตัวฆาตกรที่สังหาร “ประเสริฐ” พี่ชายคนโต

โดย..ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ละครเลือดข้นคนจาง กำลังเข้มข้น ในการหาตัวฆาตกรที่สังหาร “ประเสริฐ” พี่ชายคนโต ซึ่งหนึ่งในชนวนเหตุคือการแบ่งมรดกของ “อากง” ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว เมื่อ “ภัสสร” ลูกสาวหนึ่งในผู้บริหารโรงแรมได้รับส่วนแบ่งน้อยที่สุด

บางทีประเสริฐอาจไม่ต้องเสียชีวิต ถ้า “อากง” ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนส่งต่อทรัพย์สินที่ราบรื่น ซึ่งงานนี้ สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning & Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ย้อนเวลาไปขออาสาวางแผนมรดกให้ “อากง” ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

แจกแจงทรัพย์สินหลักของ “อากง” ก่อน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ธุรกิจโรงแรมจิรานันตรา 2 แห่งที่กรุงเทพฯ และพัทยา มูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านบาท สินทรัพย์สภาพคล่องประกอบด้วยเงินฝากในบัญชีธนาคารและพันธบัตรรัฐบาลรวม 220 ล้านบาท และบ้านพร้อมที่ดิน ลักษณะการเงินของตระกูลจิระอนันต์ เป็นแบบกงสี

EP.1 วางแผนทรัพย์สิน

สาธิต เข้าไปแนะนำการบริหารจัดการเงินกองกลางของครอบครัว หรือเงินกงสี ของอากง จากเดิมมอบหมายให้ ประเสริฐ ลูกชายคนโตเป็นผู้ดูแล มาตั้ง Family Holding Company ขึ้น เพื่อบริหารจัดการเงินอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เก็บรายได้ และนำไปลงทุนเพิ่มผลตอบแทนในความเสี่ยงที่ไม่สูง หลีกเลี่ยงปัญหาความไม่โปร่งใสจนอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในครอบครัว

นอกจากนี้ ถ้าบ้านอากงยังไม่มีก็ขอให้จัดทำ ธรรมนูญครอบครัว เพื่อสร้างหลักการบริหารครอบครัวที่ชัดเจน ให้เป็นที่รู้กัน เช่น ลูกเขย หรือลูกสะใภ้ มีสิทธิได้รับหุ้นหรือไม่ ซึ่งบางครอบครัว ไม่ให้แต่เปิดให้เขย-สะใภ้เข้าไปเป็นผู้บริหารได้ หรือเขียนให้ชัดเจนว่า หากมีใครต้องการขายหุ้นต้องขายให้คนในครอบครัวก่อน กำหนดราคาที่ชัดเจน เช่น ราคาตามบัญชีบวกดอกเบี้ย 10% เพื่อป้องกันการตั้งราคาสูงเกินไปจนคนในซื้อไม่ได้ต้องไปขายคนนอกแทน

วางแผนมรดก ให้ตระกูล‘จิระอนันต์’

EP.2 จัดการทายาท

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอนุมานว่าอากงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 100% ของโรงแรมจิรานันตรา มาตลอด แม้กระทั่งช่วงบั้นปลายจะวางมือให้ลูกชายและลูกสาวบริหาร เกิดจุดอ่อนตรงนี้ที่ทำให้ ภัสสร เกิดความคาดหวังว่า เมื่อตัวเองมีความสามารถเทียบเท่าผู้ชายก็ควรได้ในสิ่งที่ควรได้

สาธิต จึงแนะนำอากง ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ว่า ให้อากง ทยอยให้หุ้นแก่ทายาท เพื่อการส่งต่อรุ่นสู่รุ่น หรือ Succession Planning เพื่อให้ทายาทรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ธุรกิจของครอบครัว ซึมซับการทำงานอย่างใกล้ชิด เกิดความภาคภูมิใจ ทำให้จูงใจสานต่อธุรกิจ

อากงสามารถทยอยให้หุ้นแก่ทายาทในเป้าหมาย เช่น ให้หุ้นเล็กน้อยแก่ประเสริฐ เมธ กรกันต์ และตั่วซุง (พีท) ตั้งแต่ยังแข็งแรงดีอยู่ การให้หุ้นคนในครอบครัวในราคาพาร์ มูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ไม่เหมือนการให้เงินสดหรือสินทรัพย์อื่นต้องเสียภาษี

ผลพลอยได้ จะทำให้ภัสสรคาดเดาได้ในสิ่งที่อากงวางแผนไว้ คงไม่ให้หุ้นลูกสาวเป็นแน่ ช่วยลดความคาดหวังลง และภัสสรจะได้มีเวลาวางแผนชีวิตตัวเองได้ว่า จะแยกตัวออกไปทำธุรกิจเอง หรือวางบทบาทเป็นผู้บริหารโรงแรมเพียงอย่างเดียว

วางแผนมรดก ให้ตระกูล‘จิระอนันต์’

EP.3 จัดโครงสร้างธุรกิจ

โครง้างธุรกิจโรงแรมที่อากง ถือหุ้นใหญ่ 99% อนุมานว่าแบ่งให้ทายาท ประเสริฐ เมธ กันต์ ตั่วซุง และอาม่า ไปแล้วคนละ 0.2% หากจัดสรรตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเฉลี่ยหุ้นออกเป็น 4 ส่วน ส่วนละ 25% ให้ลูกชายและหลานชาย 4 คน ปัญหาก็เกิดอย่างที่เห็นทำให้ลูกหลานเฮิร์ตธุรกิจหยุดชะงัก ทั้งโรงแรม กทม. และพัทยา จากความขัดแย้งภายในครอบครัว

สาธิตแนะนำให้อากง ปรับโครงสร้างธุรกิจมาถือหุ้นโรงแรม ผ่านการถือหุ้นของ Family Holding Company ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อ EP.1 ที่จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงแรมจิรานันตรา เป็นการสอดแทรกโครงสร้างไปตรงกลางระหว่างอากงและบริษัท ซึ่งทางเทคนิคทางการเงินเป็นการสวอปหุ้น

ยกตัวอย่าง อากงถือหุ้นโรงแรมอยู่ ให้อากงสละหุ้นไปให้ Family Holding Company ที่ตั้งขึ้น และ Family Holding Company ออกหุ้นให้อากงแทน ส่งผลให้อากงมีหุ้น 99% ใน Holding ส่วน Holding เป็นผู้ถือหุ้น 99% ในโรงแรม

การที่ภัสสรมีความต้องการจะขอซื้อหุ้นโรงแรมที่พัทยา จึงทำได้ยาก เพราะ Holding เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงแรม ไม่ใช่ตัวบุคคลอีกต่อไป

Family Holding Company จึงเป็นเหมือนสภาครอบครัว ที่สามารถตกลงกันโดยมีโครงสร้างที่แข็งแรง และทำให้ธุรกิจแข็งแรง เหมาะกับการดูแลแบบครอบครัว พร้อมบริหารเงินกงสีไปด้วย โดย Family Holding สามารถไปลงทุนกองทุนรวมหรือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ เพื่อความยั่งยืน

การจัดโครงสร้างลักษณะนี้เรียบร้อยแล้ว แม้อากงเริ่มถอยตัวเองออกมา ลูกหลานก็พอจะเห็นรูปแบบการจัดการมรดกของอากงคร่าวๆ พอมีการเปิดพินัยกรรมมาซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่อากงทำมาตลอด จะทำให้คนในครอบครัวเถียงกันน้อยลง

วางแผนมรดก ให้ตระกูล‘จิระอนันต์’


EP.4 เหตุฉุกเฉินไม่มีพินัยกรรม

หากอากงเสียชีวิตโดยไม่มีพินัยกรรม อาม่าจัดการยากขึ้น กฎหมายไทยระบุว่าหากไม่ได้ทำพินัยกรรม ตามหลักการแบ่งมรดกต้องแบ่งตาม ทายาทโดยธรรม โดยมีสูตรง่ายๆ 1+6 โดย 1 คือ คู่สมรส และ 6 คือ 1.ผู้สืบสันดาน ลูกหรือหลานก็ได้ เริ่มที่ชั้นบุตรก่อน ประกอบด้วย ประเสริฐ เมธ ภัสสร กรกันต์ จากนั้นหากชั้นบุตรเสียชีวิตจึงเป็นมรดกแทนที่มาสู่ชั้นหลานซึ่งอากงมีหลานเยอะมาก 2.บิดา-มารดา (ไม่มี) 3.พี่น้องร่วม (ไม่ปรากฏ) 4.พี่น้องต่างบิดาหรือมารดา 5.ปู่ย่าตายาย (ไม่มี) 6.ลุงป้าน้าอา (ไม่ปรากฏ) กรณีไม่มีผู้สืบสันดานเลยจะไปสู่ลำดับสุดท้าย “แผ่นดิน”

ตามหลักการจัดสรร คือ ให้แบ่งคู่สมรส เท่ากับ ชั้นบุตร ในกรณีอากงมีคู่สมรส คือ อาม่า และลูก 4 คน ตามหลักกฎหมาย คือ มรดกประกอบด้วยหุ้น เงินสด บ้าน หาร 5 จบ!

แต่การหาร 5 มีปัญหาทันที เพราะใครจะได้หุ้น ใครจะได้บ้าน ใครจะได้ 220 ล้านบาท ตามกฎหมายระบุว่า ถ้าไม่ได้ทำพินัยกรรม ให้ผู้มีส่วนได้เสียมาร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดก ถ้าลูกทุกคนอยากขอร่วมเป็นผู้จัดการมรดก แต่ยุ่งยากและใช้เวลามาก อีกทั้ง ถ้าไม่ได้จัดโครงสร้างธุรกิจโรงแรมไว้แบบ Family Holding ธุรกิจก็ชะงักไปด้วย

วางแผนมรดก ให้ตระกูล‘จิระอนันต์’

EP.5 จัดสรรก่อนไปแฮปปี้เอนดิ้ง

ช่องว่างที่อาจเกิดปัญหาทางธุรกิจอีกอย่างหนึ่งที่ต้องระวัง คือ การถือหุ้น 25% อย่าง เมธ ที่ได้รับมรดกเป็นหุ้น 25% ขณะนี้ไม่ได้เป็นผู้บริหาร แต่กลับมีอำนาจโหวตลดทุนเพิ่มทุนที่มีผลต่อบริษัทอย่างมาก เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งมีอำนาจก็จริง แต่บางข้อต้องใช้เสียงเกิน 75%
หรือ 3 ใน 4 อยากให้อากงต้องมาคิดให้ลึกซึ้งก่อนตัดนใจ

สาธิตย้อนเวลาเข้าไปช่วยบริหารจัดการสินทรัพย์อากงตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งอากงทำพินัยกรรมดีแล้ว ต้องบอกว่า พินัยกรรมไม่มีวัน “ยุติธรรม” แต่พินัยกรรม “ชอบธรรม” ความยุติธรรมคือสมควรได้แต่อาจไม่สอดคล้องกับพื้นฐานความเป็นจริงและความยุติธรรมของแต่ละคนไม่เท่ากัน ส่วนความชอบธรรม คือ ทุกคนเห็นชอบและยอมรับ

EP.6 ตอนพิเศษ แบรนด์คู่ขนาน

มีดราม่าเรื่องไอติม “ไผ่ทอง” ที่มีการฟ้องร้องเรื่องการใช้แบรนด์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งในโลกความเป็นจริง สามารถนำโครงสร้างธุรกิจแบบ Family Holding Company ไปปรับใช้ หากธุรกิจมีความมั่นใจว่าแบรนด์สินค้าติดหูและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถตั้ง Branding Company เข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของโฮลดิ้งใหญ่ได้

หากคนในครอบครัวหรือคนภายนอก ต้องการนำชื่อแบรนด์ไปใช้ ต้องมาขออนุญาตและอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น สินค้าที่ทำ ต้องได้มาตรฐาน ซึ่งหากธุรกิจดำเนินการเช่นนี้ จะไม่มีปัญหาคนงงแบรนด์ซึ่งไม่ใช่เพียง ไผ่ทอง ยังมีหยั่นหว่อหยุ่นหรือซุปเปอร์ริช ที่หลายคนงงว่าทำไมต้องชื่อเหมือน

Family Holding Company เหมาะสำหรับครอบครัวใหญ่ที่มีลูกหลานเยอะและมีสินทรัพย์มหาศาล เพราะแนวทางการจัดการมีต้นทุนที่สูง ต้องคุ้มค่าแก่การจ้างผู้เชี่ยวชาญและต้องใช้เวลา โดยตัวอย่างในโลกความเป็นจริงของมหาเศรษฐีไทยที่จัดโครงสร้างเพื่อความยั่งยืนแล้ว เช่น ครอบครัวจิราธิวัฒน์ ใช้เวลาถึง 3 ปี อากงฝากบอกว่า “ถ้าอั๊ววางแผนไว้ดี คงไม่มีละครมรดกเลือดที่สนุกและชวนติดตามแบบนี้ให้พวกลื้อดูน่ะสิ โฮ่ๆ”