posttoday

รับมือโดนฟ้อง ล้มละลาย

26 กันยายน 2561

ข่าวใหญ่ สมรักษ์ คำสิงห์ “ฮีโร่” ของคนไทย ถูก “พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด” ทำให้หลายคนเข้าใจว่า “ล้มละลาย”

โดย...ชัตน์วรี 

ข่าวใหญ่ สมรักษ์ คำสิงห์ “ฮีโร่” ของคนไทย ถูก “พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด” ทำให้หลายคนเข้าใจว่า “ล้มละลาย” และอีกหลายคนที่มีชื่อเสียงก็ถูกฟ้อง “พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด” และในที่สุดก็ถูก “ล้มละลาย” ก็เห็นมีข่าวออกอยู่บ่อยๆ

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ “ล้มละลาย” มักเกิดจากเป็นการผิดพลาดทางธุรกิจ เป็นหนี้สินไม่จ่ายชำระหนี้คืนก็ถูกเจ้าหนี้ฟ้องดำเนินคดี ยึดทรัพย์เพื่อนำมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้คืนเจ้าหนี้

“สมรักษ์” เองก็ “อ่อนซ้อม” และมีลูกหนี้จำนวนมากที่เข้าใจผิดคล้ายๆ กับกรณีของ “เทพ โพธิ์งาม” ว่ากู้เงินซื้อบ้านมาแล้ว แล้วไม่ผ่อนต่อคิดว่าเจ้าหนี้จะมายึดทรัพย์ก็หมดหนี้กันไป แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะดอกเบี้ยยังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ยอดหนี้พอกพูน จนในที่สุดเจ้าหนี้ฟ้องศาล เพื่อยึดทรัพย์มาขายทอดตลาด หากขายได้แล้วได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้อีก หรือติดตามทรัพย์อื่นมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ส่วนที่เหลือ

รับมือโดนฟ้อง ล้มละลาย

อย่างเช่น สมรักษ์ที่ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นหนี้เรื่องบ้าน 4 ล้านกว่าบาท ส่งบ้านไปแล้ว 3.5 ล้านบาท แต่เจ้าหนี้ยังมาทวงว่ายังต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยอีกรวม 9 ล้านบาท ทำให้เขาไม่จ่ายหนี้ ในที่สุดก็เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง...

กว่าจะถึงขั้นฟ้องล้มละลาย...

เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องคดีศาลจะทำการพิจารณาสืบพยานหลักฐานให้ได้ความจริง และศาลจะมีคำสั่ง “พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้”

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วถือว่าเป็นเพียงการเริ่มต้นของคดีล้มละลาย...ซึ่งศาลจะยังไม่ได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในทันที

ในกรณีดังกล่าว ทำให้ลูกหนี้ที่รับราชการยังไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นข้าราชการ และยังคงรับราชการต่อไปได้จนกว่าศาลจะพิพากษาให้ล้มละลาย

และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ ไม่ว่าจะกรณีพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวหรือเด็ดขาด ศาลจะส่งหมายแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ

ตามกฎหมายล้มละลายระบุที่เข้าข่ายฟ้องล้มละลายได้ คือ

กรณีเป็นบุคคลธรรมดา - ที่มีหนี้สินเกิน 1 ล้านบาท

นิติบุคคล - ที่มีหนี้เกิน 2 ล้านบาท

หรือผู้ที่เข้าข่ายว่า “มีหนี้สินล้นพ้นตัว” หรือ “ไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้”

หลายคนอาจจะสงสัย “ล้มละลาย” แล้วจะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร มาเรียนรู้ไปพร้อมกัน

การเป็นบุคคลล้มละลายจะมีผล...

- ไม่สามารถทำนิติกรรม นิติกรรมสัญญา ใดๆ ทั้งสิ้นได้ รวมถึงธุรกรรมการเงินต่างๆ เช่น เปิดบัญชีธนาคาร เป็นต้น

- ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในบริษัทหรือห้างร้านต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งในส่วนของการดำรงตำแหน่งนี้ หากมีความจำเป็นก็จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนจึงจะสามารถดำรงตำแหน่งได้

- ไม่สามารถรับราชการ หรือถ้ารับราชการอยู่จะต้องออกจากราชการ หรือต้องออกจากงาน ในกรณีที่บริษัทนั้นมีเงื่อนไขระบุว่าพนักงานต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

-ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปจริงๆ ก็ต้องขออนุญาตจากพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สินก่อน

- เมื่อมีรายได้เท่าไร และนำส่งรายได้เพื่อชำระหนี้ ส่งเข้ากองทรัพย์สินด้วย

รับมือโดนฟ้อง ล้มละลาย

เมื่อศาลมี “คำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์” แล้วลูกหนี้ต้องทำอย่างไร ?

1.ต้องไปพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อไปสาบานตัว และให้ถ้อยคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน พร้อมทำบัญชีแสดงกิจการและทรัพย์สิน

2.ต้องส่งมอบทรัพย์สิน บัญชี ดวงตราห้างหรือบริษัท และเอกสารต่างๆ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

3.ขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้ หรือขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายภายในเวลาที่กำหนด

4.ไปประชุมเจ้าหนี้ทุกครั้งเมื่อได้รับแจ้งกำหนดวันนัดจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

5.ไปให้ศาลไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยเมื่อได้รับแจ้งวันกำหนดนัดจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

6.ทำบัญชีรับ-จ่ายทุก 6 เดือน นับแต่ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์แจ้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุกครั้งเมื่อย้ายที่อยู่ใหม่

7.เดินทางไปต่างประเทศจะต้องขออนุญาตจากศาล หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามความจำเป็นและสมควรแก่ฐานะ

8.ขอค่าเลี้ยงชีพจากเงินได้มาในระหว่างถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามความจำเป็นและสมควร

9.ลูกหนี้ยังมีสิทธิที่จะยื่นคำขอประนอมหนี้ ไม่ว่าก่อนการล้มละลายหรือภายหลังการล้มละลายแล้ว

10.กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็สามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้

ส่วนการเสียสิทธิ เช่น กรณีลูกหนี้ไม่ไปให้การสอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สินโดยไม่มีเหตุอันสมควร ลูกหนี้อาจถูกฟ้องล้มละลาย รวมถึงการขยายระยะเวลาปลดจากการล้มละลายตามกฎหมาย

ระยะเวลาเท่าใดจึงจะพ้นสภาพการเป็นบุคคลล้มละลาย?

การถูกสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายนั้นจะมีระยะเวลา 3 ปี เมื่อครบกำหนดก็จะถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ยกเว้นกรณีที่ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหนี้ ก็อาจจะมีการขยายเวลาเป็น 5 ปี หรือ 10 ปีก็ได้

เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ก็ให้บุคคลล้มละลายติดต่อกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์สินเพื่อขอปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย หลังจากปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ก็จะสามารถทำงานและทำธุรกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ

หลังถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย หนี้จะหมดไปด้วยหรือไม่?

สำหรับบุคคลล้มละลายที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการเข้าให้การและเข้าพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น เมื่อครบกำหนดเวลาก็จะถูกปลดจากการล้มละลายทันที ซึ่งคำสั่งปลดจากการล้มละลายนี้ จะส่งผลให้บุคคลล้มละลายนั้นหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งปวงด้วย ยกเว้นแต่หนี้สินที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร หรือหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการทุจริต ฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 81/1

ใครที่ผิดพลาดเรื่องหนี้สินมาแล้ว ขอเป็นกำลังใจเริ่มต้นใหม่ หันหน้ามาเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือ เช่น กรมบังคับคดี ที่เปิดช่องทางไกล่เกลี่ยหนี้ก่อนที่จะมีการอายัดทรัพย์สิน หรือที่ให้ตกเป็น “บุคคลล้มละลาย” ก็ไม่เป็นไร “ล้ม” ได้ก็ “ลุก” ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ลูกหนี้ทุกคน