posttoday

ดันไทยศูนย์กลาง ระดมทุนไอซีโอ

09 สิงหาคม 2561

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่อนุญาตให้ทำระดมทุน ICOs (Initial Coin Offering)

โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่อนุญาตให้ทำระดมทุน ICOs (Initial Coin Offering) สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบและถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกเกณฑ์รองรับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่านไอซีโอ และการให้ความเห็นชอบไอซีโอพอร์ทัล โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 ก.ค. 2561

ล่าสุดเมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ปลดล็อกให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน ยกเว้นสถาบันการเงินดำเนินการเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ เช่น บริษัทลูกที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะ อย่างบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันวินาศภัย หรือบริษัทประกันชีวิต สามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องคริปโทเคอเรนซี และสินทรัพย์ดิจิทัลได้แล้ว 

Crypto Economy ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ของโลก สิ่งสำคัญจะต้องเร่งสร้างพื้นฐานรองรับ คือ “ความรู้” และ “ความเข้าใจ” ที่ถูกต้อง 

การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริการ บริษัท ไอโครา และนิลทิตา เลิศเรืองศุภกุล ประธานเจ้าหน้าที่กลยุทธ์ บริษัท ไอโครา ร่วมให้แสดงความคิดเห็นว่า หลังจากที่ประเทศไทยมีการออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการระดมทุนไอซีโอที่ชัดเจนแล้ว ทำให้ขณะนี้มีต่างประเทศหลายประเทศสนใจที่จะเข้ามาระดมทุน เช่น รัสเซีย จีน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางการระดมทุนไอซีโอได้ และอาจจะมีการจัดตั้งหน่วยงานคล้ายๆ กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะส่งเสริมการระดมทุน เมื่อทุกฝ่ายดำเนินการตามกฎหมายก็จะมีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่ภาครัฐจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องการเก็บภาษีด้วยว่าการทำไอซีโอ คือการระดมทุน ไม่ใช่เป็นการหารายได้ หรือการหากำไรที่จะมาการจัดเก็บภาษี 

“ไอซีโอ เป็นเรื่องใหม่ในโลก ซึ่งหากไทยมีความพร้อมก่อนก็มีโอกาสที่จะขึ้นเป็นศูนย์กลางการระดมทุนไอซีโอได้”

ทุกวันนี้ยังมีคนเข้าใจผิดๆ ว่า ไอซีโอ คือ บิตคอยน์ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจก่อน ไม่ใช่ “บิตคอยน์” และไม่ได้ทำให้รวยเร็วทันที ปลายปีที่แล้วให้คำจำกัดความว่าไอซีโอ คือ การระดมทุนแบบใหม่ แต่วันนี้ให้คำนิยามใหม่ว่า ไอซีโอ จะเป็นการให้โอกาสรายย่อยมีส่วนร่วมลงทุนกับธุรกิจนั้น ทุกอุตสาหกรรมจะมีการเปิดประตูสร้างการกระจายความเสี่ยง กระจายการเข้าถึงโอกาส รวมถึงการกระจายเงินทุน และการมีส่วนรวม

ทั้งนี้ โลกมีการปฏิวัติเทคโนโลยี ไม่ใช่เทคโนโลยีการเงินเท่านั้น ทุกอุตสาหกรรมจะถูกดิจิทัลดิสรัปชั่น (Digital Disruption) ทั้งหมด สิ่งสำคัญจะต้องสร้างระบ “อีโคซิสเต็ม” ที่ดีจะต้องมีองค์ประกอบ 1.ด้านฝ่ายกำกับ และมีออกกฎหมายหรือกฎระเบียบอย่างเข้าใจ
สามารถยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง 2.ภาคธุรกิจ หรือภาคเอกชนต่างๆ จะต้องเข้าใจเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เช่นนั้นจะต้องทำธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ ไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ และ 3.ภาครัฐก็ต้องปรับตัวนำระบบบล็อกเชนมาใช้ ซึ่งทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุน รวมถึงลดปัญหาคอร์รัปชั่นได้

สิ่งที่ต้องการจะเห็น คือ รัฐควรปูพื้นฐานเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ซึ่งประเทศสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกามีการปรับระบบการศึกษาแล้ว เช่น อาชีวะไม่ใช่เรียนแค่เครื่องยนต์ดีเซลเท่านั้น เดี๋ยวนี้พัฒนาระบบเครื่องเป็นไฟฟ้ากันแล้ว หรือการเรียนไฟแนนซ์ ก็ไม่ใช่แบบเดิมๆ แล้ว จะมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องยอมรับว่า ไทยขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ด้านนี้มาก   

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าระบบการศึกษาควรที่จะให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเพราะหากเป็นภาครัฐดำเนินการนั้นอย่างน้อยจะต้องใช้ระยะเวลา 4-5 ปีขึ้นไป ที่จะเปลี่ยนแปลงได้แต่ละรุ่น (เจน) และมีความยุ่งยากและมีขั้นตอนมากในการเขียนหลักสูตรที่จะขอนุมัติจากทางการ ถ้าเป็นเอกชนสามารถที่จะมีความคล่องตัวและปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ได้ทันต่อสถานการณ์

ทั้งนี้ สมาคมฟิคเทค ได้ร่วมกับไอโครา จัดทำหลักสูตร “คริปโท แอสเซทรีโวลูชั่น” หรือ คาร์ (Crypto Asset Revolution [CAR]) ซึ่งนับเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่มีเนื้อหาครอบคลุม เจาะลึกในเรื่องของ Crypto Economy  ซึ่งจะทำให้เข้าใจระบบ Crypto Currency (คริปโทเคอเรนซี) และไอซีโอ รวมถึงเข้าใจเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อเตรียมพร้อมในการพาเศรษฐกิจของประเทศไทยก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจโลกในรูปแบบดิจิทัล โดยที่ผ่านมาได้เปิดคอร์สรุ่นแรกระหว่างวันที่ 12 มิ.ย. -14 ส.ค. 2561 ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างมาก เพื่อปูพื้นฐานให้ไทยก้าวสู่เป็นศูนย์กลางระดมทุนดิจิทัลในอนาคต