posttoday

ใครเสี่ยงกว่ากัน

09 สิงหาคม 2561

น้องคนหนึ่งหลังไมค์เล่าเรื่องรุ่นพี่ที่ทำงานให้ช่วยกู้ซื้อรถยนต์ให้ โดยใช้ชื่อและเครดิตของน้องคนนี้

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธ์ุ

น้องคนหนึ่งหลังไมค์เล่าเรื่องรุ่นพี่ที่ทำงานให้ช่วยกู้ซื้อรถยนต์ให้ โดยใช้ชื่อและเครดิตของน้องคนนี้ ส่วนเขาเป็นคนใช้รถและรับผิดชอบผ่อนค่ารถทุกเดือน เมื่อผ่อนครบกำหนด 5 ปี ก็ค่อยโอนรถให้กับรุ่นพี่

ได้ยินข้อเสนอดังกล่าว เจ้ารุ่นน้องที่ทำงานรีบปฏิเสธทันที โดยแย้งกลับไปทางรุ่นพี่ว่า “ถ้าพี่เกิดไม่ส่งค่างวดขึ้นมา ผมจะทำยังไง?”

ได้ยินรุ่นน้องแสดงอาการกังวลรุ่นพี่จึงเอามือลูบหลังพลางปลอบโยน พร้อมกับอธิบายว่า “ไม่มองอีกมุมบ้างล่ะ เกิดถ้าพี่ผ่อนตรงเวลาจนครบ 5 ปี แล้วน้องเกิดไม่โอนคืนให้พี่ล่ะ น้องเอารถพี่ไปได้ง่ายๆ เลยนะ แบบนี้พี่ไม่เสี่ยงกว่าเหรอ???”

และนั่นคือที่มาของคำถามหลังไมค์ของน้องท่านนี้ “โค้ชครับ โค้ชว่าแบบนี้ใครเสี่ยงกว่ากันครับ”

คุณผู้อ่านละครับ อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคิดว่ายังไงครับ “สองคนนี้ใครเสี่ยงกว่ากัน”

ถ้าเราเผลอไผลไปกับคำอธิบายของรุ่นพี่ เราอาจเสียเวลาแบบไม่ใช่เรื่องไปกับการนั่งขบคิดว่าใครเสี่ยงกว่าใคร ซึ่งที่จริงแล้วไม่ต้องไปเสียเวลาวิเคราะห์ให้เมื่อย หากเจ้ารุ่นน้องคนนี้เข้าใจเรื่องตั้งต้นที่ว่า

“แล้วอยู่ดีๆ ทำไมมึงต้องพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาวะเสี่ยงด้วยวะ” (โค้ชก็ตอบกลับไปประมาณนี้เลย ฮา)

เดิมตัวเองก็ไม่มีภาระหนี้ ทำไมต้องทะลึ่งไปเป็นหนี้

เดิมเครดิตดีๆ สวยๆ ทำไมไม่เก็บไว้ใช้กับเรื่องของตัวเอง

เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง จะเอากระดูกมาแขวนคอทำไมตั้ง 5 ปี

ความเสี่ยงน่ะ!! มันไม่ใช่แค่รุ่นพี่ไม่ผ่อนตามกำหนดของไฟแนนซ์เท่านั้นนะ ไหนจะรถเฉี่ยว รถชน สูญหาย อะไรต่อมิอะไรอีกล่ะ ได้เข้าไปยุ่งไปเกี่ยวทั้งหมดเลย

รุ่นพี่เองก็ช่างคิด เอาเรื่องปลายทางมาอ้าง แต่กับ 60 เดือนที่เราต้องลุ้นว่าเขาจะรักษาวินัยได้ตลอดหรือเปล่า ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่ง่ายนะ และถ้าหากหัดเอะใจสักนิดว่า ทำไมพี่เขาไม่กู้ซื้อเองวะ!! คำตอบที่ได้ก็คงสะท้อนชีวิตการเงินของรุ่นพี่ท่านนี้ได้เป็นอย่างดี

ทุกวันนี้ยังมีกรณีเบียดเบียนกันในที่ทำงานอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็น ขอยืมเงิน ให้ค้ำประกันเงินกู้ให้ แม้กระทั่งให้รุ่นน้องรูดบัตรเครดิตซื้อของให้ก่อน แล้วค่อยทยอยผ่อนคืนให้ก็ยังมี

ไม่ว่าใครเบียดเบียนใครก็ไม่ถูกต้องทั้งนั้นครับ ที่ถูกต้องคือ ต้องไม่เบียดเบียนกัน อันนั้นแหละมิตรภาพและสังคมในที่ทำงานถึงจะน่าอยู่

ครั้งหนึ่งเด็กจบใหม่ทำงานไม่ถึงสองปี ส่งข้อความมาเล่าความทุกข์ใจที่รุ่นพี่ซึ่งเป็นหัวหน้าโดยตรงมาขอให้เขาค้ำประกันเงินกู้สหกรณ์ให้ น้องคนนี้จำใจต้องเซ็นค้ำให้ด้วยกลัวว่าจะมีผลต่อการทำงาน เพราะเป็นรุ่นพี่ในแผนกเดียวกัน

สุดท้ายก็ต้องมานั่งทุกข์ใจและชดใช้หนี้แทนเขา เมื่อคนที่เป็นทั้งรุ่นพี่และเจ้านายหนีหนี้ไปกับสายลม

ใครไม่เคยอาจไม่รู้ ทนใช้หนี้ที่ตัวเองสร้างว่าหนักหนาสาหัสแล้ว ต้องมารับผิดชอบกับหนี้ที่ไม่ได้ก่อ อันนี้หนักกว่าเยอะ เจ็บทั้งกระเป๋าตังค์ แถมยังต้องมาเจ็บใจเพิ่มเข้าไปด้วย

เรื่องราวในทำนองนี้ยังคงเกิดขึ้นทุกวัน การเบียดเบียนทางการเงินที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้ผู้ที่ถูกร้องขอความช่วยเหลือเสมอ

คำแนะนำเดียวของมันนี่โค้ชที่ให้ได้สำหรับกรณีแบบนี้ก็คือ “อย่าพาชีวิตไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น” อันนี้ผมว่าดีที่สุด

ส่วนเพื่อน พี่ หรือน้องที่ทำงานจะโกรธ ก็คงต้องปล่อยครับ และคิดในแง่ดีว่า อย่างน้อยเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้เรารู้จักตัวตนของเพื่อนร่วมงานได้ดีขึ้น

สำหรับเรื่องงานที่กังวลว่า หากไม่ช่วยแล้วจะมีผลกระทบ อันนั้นเราคงไปทำอะไรไม่ได้ ถ้าเขาเป็นคนแบบนั้น สำคัญคือทำงานของเราให้ดี รับผิดชอบให้ดี อันนั้นผมว่าก็เป็นภูมิคุ้มกันคนที่จะกลั่นแกล้งเราได้ทางหนึ่งเท่าที่เราจะทำได้ครับ

ขอให้ทุกคนมีชีวิตและมิตรภาพในที่ทำงานที่มีความสุขครับ