posttoday

บ่วงมนุษย์เงินเดือน

07 สิงหาคม 2561

ชีวิตมนุษย์เงินเดือนสบายกว่าฟรีแลนซ์ตรงไหน ที่เห็นชัดก็คือเมื่อสิ้นเดือนหรือครึ่งเดือนเวียนมาก็จะมีเงินไหลเข้าบัญชี

โดย...ธปท.

ชีวิตมนุษย์เงินเดือนสบายกว่าฟรีแลนซ์ตรงไหน ที่เห็นชัดก็คือเมื่อสิ้นเดือนหรือครึ่งเดือนเวียนมาก็จะมีเงินไหลเข้าบัญชี แต่ความแน่นอนแบบนี้ก็ทำให้มนุษย์เงินเดือนหลงลืมนึกถึงอนาคตในวันที่ไม่มีเงินเดือนไหลเข้าบัญชีเหมือนแต่ก่อน หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่คิดถึงแค่ปัจจุบัน ไม่ได้คิดถึงช่วงชีวิตหลังเกษียณหรือยามที่ไม่ได้ทำงานแล้วว่าจะใช้เงินเดือนละเท่าไร และวันนั้นจะมีเงินหรือรายได้พอไหม แสดงว่าคุณกำลังติดอยู่ในบ่วงมนุษย์เงินเดือน

ทุกคนต่างมีเวลาเพียงช่วงหนึ่งของชีวิตในการเก็บเงินไว้ใช้ช่วงบั้นปลายของชีวิต แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าอีกนานและตอนนี้ก็มีเรื่องอื่นในชีวิตที่น่าทำอีกตั้งเยอะ ไม่ว่าจะท่องเที่ยว แต่งงาน ซื้อบ้าน ซื้อรถ ไว้ใกล้เกษียณค่อยเก็บเงินก็ได้ และเคยชินกับการมีเงินใช้ทุกเดือน ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนอาจลืมไปว่าในโลกนี้ยังมีอีก 2 สิ่งที่มีผลต่อเงินของเรา เวลายิ่งนานก็ยิ่งมีผลมาก ได้แก่ (1) เงินเฟ้อ ซึ่งก็คือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้เงินมีค่าลดลงเมื่อเวลาผ่านไป (2) ดอกเบี้ยทบต้นที่ทำให้เงินงอกเงย เพราะดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกทบเข้ามาเป็นเงินต้นหากเราไม่ถอน เงินต้นก็จะเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยที่ได้ก็มากขึ้นกว่าที่เคยได้ อย่างที่กล่าวกันว่ายิ่งออมเร็วเท่าไรยิ่งมีเวลาให้ดอกเบี้ยทำงานให้เงินเติบโตยิ่งขึ้นไป

เดี๋ยวนี้มีโปรแกรมให้ลองคำนวณว่าต้องออมหรือลงทุนสำหรับไว้ใช้หลังเกษียณเท่าไร เช่น โปรแกรมคำนวณของตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (www.set.or.th) ซึ่งมีเครื่องมือวางแผนการเงินที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินต่างๆ รวมถึงโปรแกรม “ออมเท่าไรพอใช้เกษียณ” ซึ่งใช้ง่ายเพียงแค่เรากรอกข้อมูลที่จำเป็น

เช่น ปัจจุบันอายุ 25 ปี เงินเดือนปัจจุบัน 2.5 หมื่นบาท ค่าใช้จ่ายปัจจุบัน 18,750 บาท (ส่วนเหลือจากออม 1 ใน 4 ของรายได้ ซึ่งเท่ากับ 6,250 บาท) และตั้งสมมติฐานเองว่าอยากเกษียณที่อายุ 60 ปี และมีอายุขัย 80 ปี อัตราเงินเฟ้อ 2% ต่อปี อัตราผลตอบแทนจากการออมและลงทุนทั้งก่อนและหลังเกษียณเท่ากันคือ 3% ต่อปี เมื่อคำนวณออกมาจะได้เงินที่ต้องการสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ 5,751,109 บาท จึงต้องออมหรือลงทุนเพื่อเกษียณจำนวนเดือนละ 7,755 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้จะนำเงินออม 1 ใน 4 ของรายได้มาออมเพื่อการเกษียณเพียงอย่างเดียวก็ยังไม่พอสำหรับเป้าหมาย 5.75 ล้านบาท

ดังนั้น ควรสำรวจรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ค่าปาร์ตี้ ค่าเหล้า ค่าบุหรี่ ค่าหวย แล้วลดรายจ่ายเหล่านั้นลง หรือจะหารายได้เสริมจากสิ่งที่ตัวเองถนัด เพื่อนำมาออมเพิ่มอีกอย่างน้อย 1,505 บาท/เดือน หรือหาผลตอบแทนที่สูงกว่านี้เพื่อให้ใช้เงินต้นน้อยกว่า 7,755 บาทก็ได้

บ่วงมนุษย์เงินเดือน

หลังจากคำนวณเสร็จจะเกิดคำถามว่ามีวิธีไหนบ้างที่เหมาะกับการออมเงินหรือลงทุนเพื่อเกษียณ จริงๆ แล้วมีหลายวิธี ทั้งภาคบังคับและลงมือทำเอง สำหรับภาคบังคับที่มักพบว่าอัตราสะสมต่อเดือนของคนส่วนใหญ่ยังคงต่ำอยู่ก็คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งอยากแนะนำให้หักเงินสะสมในอัตราสูงสุด 15% ของเงินเดือน ถือเป็นการออมก่อนใช้ แถมด้วยเงินสมทบจากนายจ้างหรือรัฐบาลเหมือนได้เงินเดือนเพิ่ม อีกทั้งเงินสะสมสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

สำหรับตัวอย่างของสิ่งที่เราสามารถลงมือทำได้เองสำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อเกษียณก็คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มี
นโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายเหมือนกองทุนรวมทั่วไป ลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ 5,000 บาท (แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่า) ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้ 1 ปี) สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อรวมกับรายการอื่นๆ ตามที่กรมสรรพากรกำหนด เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ประกันชีวิตแบบบำนาญต้องไม่เกิน 5
แสนบาท ซึ่งเงินลงทุนใน RMF สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกับ PVD และ กบข.

แต่จะสามารถขาย RMF ได้เมื่ออายุ 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) ถ้าใครมี PVD กบข. หรือ RMF ก็สามารถใส่ข้อมูลเพิ่มเติมลงไปในโปรแกรมคำนวณข้างต้นได้เลย จะทำให้การคำนวณเงินเกษียณมีความแม่นยำมากขึ้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นการออมหรือลงทุนแบบไหน อย่าลืมว่านอกจากผลตอบ
แทนแล้ว ควรเลือกออมหรือลงทุนให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ด้วย ซึ่งก่อนการเปิดบัญชี
กับบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จะต้องทำแบบประเมินความเสี่ยงเพื่อประเมินว่ารับความเสี่ยงในการลงทุนได้แค่ไหน และเมื่อรู้ผล
การประเมินความเสี่ยงแล้ว เราก็อาจ
ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงตามผลการประเมิน หรือหากไม่อยากใส่ไข่ไว้
ในตะกร้าใบเดียวก็สามารถนำผลการประเมินมาใช้จัดสรรเงินออมและเงิน
ลงทุนเพื่อให้มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมก็ได้

อย่ามัวแต่ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โดยไม่วางแผนการเงินเพื่อใช้หลังเกษียณ เพราะเวลามักเดินเร็วกว่าที่รู้สึก วางแผนและลงมือทำตั้งแต่วันนี้เลยดีกว่า เผื่อวันไหนที่อยากลาออกจากงานประจำ หรือถึงเวลาเกษียณจะได้เดินออกไปอย่างสบายๆ เพราะมีความพร้อมทางการเงินเรียบร้อยแล้ว แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ใคร นอกจากตัวคุณเองว่าจะหาความรู้และเริ่มลงมือเมื่อไร