posttoday

เรื่องเงิน...เรื่องสุดท้าย

02 สิงหาคม 2561

หลายปีก่อน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์แห่งหนึ่ง

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธ์

หลายปีก่อน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์แห่งหนึ่ง พยายามติดต่อผมไปพูดคุยเรื่องการบริหารเงินให้กับพนักงานในบริษัท นัดไปคุยหัวข้อกัน 3-4 ครั้ง แต่ผลสุดท้าย คุยกันไปมา ก็เงียบหายไป

หลังจากนั้น เขาโทรมาขอโทษขอโพยที่ทำให้ผมเสียเวลา และแจ้งว่า “ผู้บริหารเห็นว่าเรื่องเงินนั้นไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน พนักงานยังไม่จำเป็นต้องรู้ เมื่อเทียบกับทักษะในการขาย หรือการเพิ่มผลผลิต ทางเราจึงเลือกจัดหัวข้อเทคนิคการเพิ่มยอดขายและผลผลิตแทน”

อธิบายกันซะละเอียดเห็นภาพเลยทีเดียว แต่ก็ไม่เป็นไร ไม่เร่งด่วนก็ไม่เร่งด่วน เงินของเขา คนของเขา เขาก็มีสิทธิเลือกสิทธิตัดสินใจเป็นธรรมดา

โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยรับบรรยาย In-House หรือบรรยายในองค์กร ด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ

1) เวลาบรรยายวันธรรมดานั้น ตรงกับเวลาไปรับไปส่งลูกไปโรงเรียน เป็นเวลาสำคัญของผม ดังนั้นจึงต้องจัดตารางกันให้ลงตัว ถึงจะไปบรรยายให้ได้ (ไม่บรรยายก็มีกิน ต้องขออภัย 555)

2) คนเรียนหลายคนไม่ใช่คนที่ใช่ (สอนแล้วไม่มันส์ บอกเลย) เพราะเป็นคนที่ถูกเกณฑ์มาเรียน เจ้าหน้าที่ติดต่อมา ก็เลยต้องยัดคนเข้ามาเรียน เป็น KPI ตัวเอง ที่ต้องทำให้ยอดผู้เรียนเป็นไปตามเป้า (KPI กระจอกมาก แค่คนเรียนครบก็ได้เป้า)

ครั้งหนึ่งผมไปบรรยายให้บริษัทชั้นนำอันดับต้นๆ ของประเทศ สอนแล้วน่าเบื่อ ได้ตังค์แต่ไม่สนุก เพราะผู้เรียนไม่พูดความจริง อายถ้าเพื่อนรู้ว่าเป็นหนี้ อายถ้าเพื่อนรู้ว่าโง่เรื่องลงทุน ตอนเรียนนั่งนิ่งๆ ไม่หือไม่อือ พอกลับถึงบ้าน อีเมลถามคำถามหนี้เรียงกันเป็นตับเลย

หลายครั้งผมจึงรู้สึกสนุกกับการเปิดคอร์สของตัวเองมากกว่า เพราะคนที่มาเรียน คือ ตั้งใจมา ไม่ได้ถูกบังคับมาเรียน สอนแล้วสนุก ไม่เหนื่อย สอนเสร็จ เหมือนได้ชาร์จไฟให้ตัวเองด้วย

ถึงวันนี้เหมือนโลกกลับตาลปัตร เรื่องเงิน โดยเฉพาะเรื่อง “หนี้”​ กลายเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนไปเสียแล้ว หลายบริษัทพนักงานมีชีวิตจมอยู่ในกองหนี้ ทั้งหนี้ในระบบ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ของตัวเอง ไหนจะหนี้นอกระบบ ที่บุกระรานพนักงาน ถึงขั้นมีแก๊งมอเตอร์ไซค์ดักอยู่หน้าโรงงานในวันเงินเดือนออก

เมื่อหนี้เยอะ พนักงานจึงต้องเริ่มขาดงานหนีหนี้ ที่ยังอยู่ที่ยังมา ก็เครียดจนแสดงออกทางผิวหน้า หน้าตาเหมือนคนไร้วิญญาณ และนั่นจึงเป็นที่มาของคำเชิญไปบรรยายเรื่อง “หนี้” ที่หนักหน่วงและถาโถมชีวิตผมมากในช่วงเวลานี้

เรื่องเงินจะว่าไปแล้วมันก็ไม่เกี่ยวกับผลผลิตหรือยอดขายโดยตรงอย่างที่ผู้บริหารหลายแห่งเข้าใจนั่นแหละ แต่ตราบใดที่คุณยังมีลูกจ้างเป็น “คน”​ ผมก็เชื่อว่า “เงิน”​ น่าจะยังมีผลต่อชีวิตของพวกเขา

ก็ในเมื่อคนเรามาทำงานเพื่อให้ได้เงิน และนำเงินที่ได้ไปจับจ่ายปัจจัยพื้นฐานและเติมเต็มความสุขในชีวิต ถ้าสิ่งสำคัญที่สนับสนุนชีวิต กลายเป็นตัวทำลายความสุขในชีวิต สุดท้ายมันก็จะกลับมามีผลกระทบต่อหน้าที่การงานของเขาอยู่ดี

ล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้มีเจ้าหน้าที่บุคคลขององค์กรหนึ่งติดต่อให้ผมไปบรรยายเรื่องเงิน คุยกันเสียดิบดี สุดท้ายจบด้วยประโยคอันน่ารังเกียจที่ว่า “อาจารย์สอนเรื่องแก้หนี้อย่างเดียวนะคะ ผู้บริหารกำชับมาว่า ห้ามสอนเรื่องลงทุน เดี๋ยวรวยแล้วลาออกกันหมด”

นึกว่าจะคิดออก คิดได้ สุดท้ายก็คิดตื้นๆ แค่ว่า ถ้าลูกจ้างไม่เป็นหนี้กัน ก็คงจะหมดปัญหา

เรื่องเงินมันมี 4 ด้าน หาได้ (Earning) ใช้เป็น (Spending) เก็บออมอยู่ (Saving) ลงทุนต่อยอดได้ (Investing) ถ้าจะเรียนก็ต้องให้เขาเรียนให้ครบ 4 ด้าน ไม่ใช่แค่ไม่เป็นหนี้แล้วพอ

คนทำงานประจำยุคนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุนเป็นทุกคน ไม่งั้นต่อให้มีเงินเก็บเงินออม แต่ลงทุนต่อยอดเงินออมไม่ได้ ตอนแก่ตอนเลิกทำงาน พวกเขาจะเอาเงินที่ไหนไว้ใช้เลี้ยงดูตัวเอง (แค่ดอกเบี้ยเงินฝากคงไม่พอเลี้ยงชีวิตยุคนี้แล้ว)

รักพนักงานแต่ปาก ห่วงแต่ภาพลักษณ์ตัวเอง แต่ไม่เติมเต็มสิ่งที่จะทำให้พนักงานมีความสุข อย่าเสียเวลาโทรมาเลยนะครับ

ความคิดไม่ตรงกัน เจอกันยากครับ ...