posttoday

เศรษฐกิจดิจิทัล...อนาคตเศรษฐกิจไทย

02 สิงหาคม 2561

ในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล... อนาคตเศรษฐกิจไทย” ชี้ให้เห็นว่า ดิจิทัล จะช่วยให้เศรษฐกิจมหภาคของไทยเติบโตต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

โดย...วารุณี อินวันนา

ในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล... อนาคตเศรษฐกิจไทย” ชี้ให้เห็นว่า ดิจิทัล จะช่วยให้เศรษฐกิจมหภาคของไทยเติบโตต่อไปได้อย่างรวดเร็ว มุ่งไปที่ภาคการเกษตรที่มีประชาชนอยู่มากถึง 40% ภาคบริการที่สร้างรายได้สูง และสตาร์ทอัพ หากสำเร็จจะส่งต่อมูลค่าเพิ่มได้ในวงกว้าง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น 

สุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า วันนี้กระทรวงการคลังได้วางโครงสร้างพื้นฐาน คือ การให้ทุกหมู่บ้านมีอินเทอร์เน็ตเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลและสร้างธุรกิจต่อเนื่องได้ง่ายขึ้น การทำระบบพร้อมเพย์ การทำบัตรผู้มีรายได้น้อย การทำดิจิทัลไอดี การทำอี-เพย์เมนต์การจ่ายภาษีผ่านอิเล็กทรอนิกส์

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเปิดบัญชีได้โดยไม่ต้องมีวงเงินคงอยู่ในบัญชี และสิ่งที่กำลังทำคือจะมีการยกระดับระบบและโอนย้ายสิ่งต่างๆ ให้อยู่บนโลกดิจิทัล เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว และสนับสนุนให้ประชาชน ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น

ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า มุ่งส่งเสริมการใช้ดิจิทัลไปใน 3 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มสตาร์ทอัพ เพราะกลุ่มนี้สามารถส่งผ่านมูลค่าเพิ่มต่อไปให้กับสังคมได้ เพราะหาก 1 สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จจะทำให้ธุรกิจอื่นๆ หรือคนอื่นๆ ที่อยู่ในเครือข่ายเติบโตไปด้วย เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่กระจายในวงกว้าง

กลุ่มภาคการเกษตร ที่ใช้พื้นที่ทั่วประเทศไทยมากที่สุดถึง 75% มีคนอยู่ในภาคนี้ถึง 40% ของประเทศ แต่ยังสร้างรายได้น้อยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8.4% ของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี หากสามารถหาตลาดได้ดีขึ้น และทำให้เกิดเศรษฐกิจเชิงแบ่งบันหรือแชริ่งอีโคโนมีได้ จะทำให้ผู้ที่ได้ประโยชน์มีจำนวนมาก

ภาคบริการ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยสูงถึง 18% แต่ใช้คนน้อยเพียง 15% และยังใช้พื้นที่น้อย และใช้ทุนน้อยกว่าภาคอื่นๆ การนำเครื่องมือดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น จะสามารถกระจายรายได้มากขึ้น

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า นอกจากเศรษฐกิจดิจิทัล จะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาคแล้ว อาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น หากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ทได้ ซึ่งปัจจุบันประชากร 2 ใน 3 ของประเทศเข้าไม่ถึงดิจิทัล และยังมีจำนวนหมู่บ้านอีกครึ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้เชื่อมต่อกับดิจิทัล 

นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาให้เกิด 5จี ที่มีต้นทุนต่ำและกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะถ้าเกิดช้าอาจจะทำให้นักลงทุนไม่มาลงทุนที่ประเทศไทย และรัฐบาลต้องทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงคลื่นต่ำ เพื่อให้แข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้านได้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้ใช้พลังงานและทรัพยากรน้อยลง ต้นทุนต่ำ แต่อีกมุมหนึ่งก็เกิดการคุกคามธุรกิจดั้งเดิม จึงต้องทำให้คลื่นมีต้นทุนต่ำ เพราะเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจดิจิทัล และต้องระวังความเหลื่อมล้ำจากการเข้าไม่ถึงดิจิทัลของคนไทย