posttoday

ลอนดอน มหานครฟินเทคของโลก

24 กรกฎาคม 2561

ท่านผู้อ่านที่กำลังติดตามและสนใจธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการเงิน หรือฟินเทค

โดย Mr.Fintech นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรีฟินโนเวต

ท่านผู้อ่านที่กำลังติดตามและสนใจธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการเงิน หรือฟินเทค เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมมีโอกาสเดินทางไปลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับคณะ Rise Innovation Tour เพื่อสัมผัสว่า ทำไมกูรูหลายๆ คนถึงกล่าวว่า ถ้าอยากดูระบบ Ecosystem ของฟินเทค ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลกก็ต้องเดินทางมาที่กรุงลอนดอน แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐก็ยังไม่สมบูรณ์แบบเท่าที่นี่

การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นการค้นหา เจาะลึก และทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่มาที่ไปของระบบ Ecosystem ที่แท้จริง ผมขอสรุปให้ผู้อ่านเข้าใจแบบสั้นๆ ง่ายๆ ถึงองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบของลอนดอน

1.Open Banking คือ หัวใจสำคัญที่สุดที่ทำให้สตาร์ทอัพสายฟินเทคในอังกฤษเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เรื่องของเรื่องนี้เกิดจากการที่รัฐบาลอังกฤษออกกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเลือกใช้บริการทางการเงินที่ดีที่สุดและสะดวกที่สุด ซึ่งรัฐบาลบังคับให้ทุกธนาคารหรือสถาบันการเงินของอังกฤษต้องเปิดให้มีการเข้าถึงข้อมูล ใช้ระบบ Automated Programing Interface หรือ API (ซึ่งผมมักจะนิยาม API ว่าคือเต้าปลั๊กสามตาที่อนุญาตให้สตาร์ทอัพมาเชื่อมต่อและขอข้อมูลอันเป็นประโยชน์จากธนาคารไปใช้ได้)

ตัวอย่างง่ายๆ ที่สังเกตได้ก็คือ ปัจจุบันมีบัญชีหลายธนาคารและมีหลายโมบายแบงก์กิ้งแอพพลิเคชั่นบนหน้าจอสมาร์ทโฟน จะเปิดเช็กยอดเงินคงเหลือหรือยอดค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตก็ต้องไล่เปิดทีละแอพ สำหรับผู้บริโภคการที่ต้องเปิดแอพไล่ดูทีละแอพของแต่ละธนาคารถือเป็นความไม่สะดวกของผู้บริโภค ดังนั้น ที่อังกฤษจึงมีแอพจำนวนมากที่รวบรวมข้อมูลจากทุกธนาคารที่มีไว้ในแอพเดียวได้ แน่นอนว่าสามารถเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค โดยสามารถเปิดเข้าไปใช้งานเพียงแอพเดียวก็เห็นยอดเงิน

2.การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งจากข้อ 1 เรื่อง Open Banking ก็เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลอังกฤษ โดยในการเดินทางครั้งนี้เรามีโอกาสได้พบกับคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งทำงานแบบมีศูนย์กลางที่เป็นเซ็นเตอร์ มีเพียงหน่วยงานเดียวทำงานกำกับดูแลทุกสายการเงิน ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร หลักทรัพย์ หรือประกัน (หากเทียบกับในประเทศไทยแล้วค่อนข้างแตกต่าง โดยแยกหน่วยงานกันดูแลทำให้บางครั้งจะเห็นมาตรฐานที่แตกต่างกัน) และที่ไม่ธรรมดาก็คือ อังกฤษพยายามทำสิ่งที่เรียกว่าเป็น Global Sandbox ขึ้นมา โดยเมื่อเข้าร่วมและทดสอบผ่านแล้วสามารถนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมทางการเงินนั้นไปใช้ที่ไหนในโลกก็ได้

นอกจากนี้ คณะเดินทางยังได้พบกับวุฒิสมาชิกและ สส.ที่ดูแลงานในด้านฟินเทคโดยตรง และกำลังช่วยกันแก้ไขไม่ให้เรื่องเบร็กซิต (อังกฤษโหวตออกจากสหภาพยุโรป) มีผลกระทบต่อวงการฟินเทคในอังกฤษ ซึ่งเรื่องที่เป็นผลกระทบโดยตรงคือ แรงงานฝีมือด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี มีแนวโน้มว่าหลังจากที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป แล้วแรงงานเหล่านั้นอาจจะไม่อยากย้ายมาทำงานที่อังกฤษอีกต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นใน รายละเอียดอาจจะต้องติดตามกันต่อไป แต่สิ่งที่ผมยกเรื่องนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า โดยรวมแล้วภาครัฐของอังกฤษในทุกระดับให้ความสำคัญกับฟินเทคอย่างมาก

3.ระบบการศึกษาที่นี่แข่งขันกันกับสหรัฐอเมริกาโดยตรง มหาวิทยาลัยในอังกฤษเริ่มเปิดภาควิชาฟินเทคเช่นที่ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด หรือที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก็เปิดภาควิชา Alternative Finance (ซึ่งก็คือฟินเทคนั่นเอง) โดยผมได้มีเจอทีมงานวิจัยของเคมบริดจ์ ที่ทำวิจัยเรื่องฟินเทคอย่างจริงจัง และเจาะลงถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผมเชื่อว่านี่เป็นเรื่องที่ดีและได้ประสานกับสมาคมฟินเทคประเทศไทย เพื่อที่จะได้ข้อมูลเชิงลึก

4.ธนาคาร นี่คือจิ๊กซอว์ที่สำคัญสุดที่ทำให้ระบบ Ecosystem เกิด โดยธนาคาร ศึกษา เข้าใจ และให้ความร่วมมือในกฎหมาย Open Banking ผมเชื่อว่าทัศนคติธนาคารเหล่านั้นรู้ดีว่าถ้าจะอยู่ท่ามกลางกระแสของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในปัจจุบันให้รอดก็ต้องทำงานกับฟินเทค อย่างจริงจัง ซึ่งทางคณะของเราพบกับธนาคาร Barclays ซึ่งเป็นธนาคารอันดับ 1 ของโลกที่จริงจังเรื่องฟินเทคมากที่สุด มี Accelerator ของตัวเองที่ใหญ่ และเป็นแบงก์ที่ลงทุนในฟินเทคมากที่สุดในโลก (เกือบ 30 สตาร์ทอัพฟินเทคต่อปี) และอีกธนาคารคือ RBS Natwest ที่เพิ่งปรับองค์กร (Digital Transformation) ให้ทำงานร่วมกับฟินเทคได้

สุดท้ายการเดินทางในครั้งนี้ทำให้ผู้บริหารสถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ และสตาร์ทอัพได้พบกับ “ของจริง” ประสบการณ์จริง และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งพวกเราก็จะเร่งนำความรู้ความเข้าใจเหล่านั้นกลับมาปรับใช้เพื่อให้ประเทศไทยไม่น้อยหน้าใครในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งตอนนี้เราเองก็เริ่มมีความโดดเด่นและให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ไม่น้อยกว่าประเทศอื่นแล้ว

เดือนหน้าผมจะมาเล่าถึงวงการสตาร์ทอัพในประเทศอื่นให้ฟังอีกว่าเค้าไปถึงไหน และไปถึงไหนแล้วครับ