posttoday

บริหารเงิน ที่ใกล้หมดตอนสิ้นเดือน

17 กรกฎาคม 2561

“ต้นเดือนอยู่อย่างราชา ใกล้สิ้นเดือนมาอยู่อย่างยาจก” แม้ว่าเราจะวางแผนการเงินมาอย่างดีแค่ไหน

เรื่อง กั๊ตจัง ภาพ Pixabay

“ต้นเดือนอยู่อย่างราชา ใกล้สิ้นเดือนมาอยู่อย่างยาจก” แม้ว่าเราจะวางแผนการเงินมาอย่างดีแค่ไหน ก็ต้องมีพลาดกันได้เสมอ บางคราวกลางเดือนก็มีกินเลี้ยง ไปงานแต่งเพื่อน สมาร์ทโฟนพังกะทันหัน รถต้องซ่อมและรายได้จิปาถะที่ไม่คาดคิดต่างๆ มากมาย ทำให้เราไม่เหลือเงินมากพอที่จะใช้ถึงปลายเดือน วันนี้เรามาดูกันว่ามีวิธีไหนที่จะทำให้เราอยู่รอดถึงปลายเดือนโดยไม่ต้องพึ่งมาม่า

ขายของที่ไม่ใช้ออกไป

ของทุกอย่างในบ้านของเรานั้นมีมูลค่าทั้งสิ้น เราสามารถนำเสื้อผ้าที่ไม่ค่อยได้ใส่แต่ยังสภาพดีออกมาขายต่อ ของเล่นเก่าเก็บ ของใช้ที่ซื้อมาแล้วปีนึงในแค่ครั้งเดียว เช่น เครื่องทำแพนเค้ก เตาอบขนมที่ซื้อมาแล้วไม่มีเวลาได้ใช้ หนังสือที่อ่านจบแล้ว

ของเหล่านี้เราสามารถขายออกเป็นเงินเพื่อให้ผ่านช่วงเดือนที่ขัดสนไปก่อน จะได้ถือโอกาสเคลียร์ของในบ้านไปด้วยในตัว เพียงแต่คุณจะต้องรู้ล่วงหน้าก่อนอยู่แล้วว่าเงินอาจจะไม่พอใช้ถึงปลายเดือน จึงต้องประกาศขายสินค้ามือสองในบ้านก่อนล่วงหน้าเพื่อให้มีเงินเพียงพอถึงปลายเดือน

ทำกับข้าวกินเอง

เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มักจะไม่คุ้นกับการประกอบอาหารมารับประทานที่ทำงานด้วยงานหนักจนทำให้รู้สึกล้าเกินกว่าจะหยิบตะหลิวทำกับข้าว บ้างก็ประกอบอาหารไม่เป็น บ้างก็เคยลองแล้วคิดว่าต้นทุนในการทำอาหารมื้อนึงเองกับไปซื้อกินตามร้านนั้นพอๆ กัน ไม่แล้วก็รวมทุกเหตุผลที่ว่าเข้าด้วยกัน

แต่เมื่อถึงเวลาที่ไม่มีเงินจะซื้อข้าวกิน เราจึงหันไปหามาม่าเป็นที่พึ่ง การทำกับข้าวเองเพื่อประหยัดเงินจึงเป็นทางออกที่ดี เน้นการประกอบอาหารครั้งละมากๆ สัก 2-3 เมนูเก็บไว้กินได้หลายวัน หรือจะเน้นเมนูง่ายๆ เช่น น้ำพริก ผักสด ไข่ดาว ปลาทู ซื้อคราวละมากๆ จะรับประทานค่อยเอามาปรุงก็ดีเหมือนกัน

หางานเสริม

อีกแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ง่ายกว่าวิธีอื่นๆ ก็คือการหารายได้เสริมเพื่อให้มีรายได้อยู่ถึงปลายเดือน ถ้าโชคดีคุณอาจจะได้เจองานที่ใช่ งานที่ชอบก็เป็นไปได้ ปัจจุบันมีงานเสริมให้ทำมากมาย ตั้งแต่ขับรถส่งของ พนักงานพาร์ตไทม์ ประกาศรับสมัครงานมากมายในอินเทอร์เน็ตที่จะเลือกทำใกล้บ้าน หรือจะรับกลับมาทำที่บ้านก็ได้รายได้เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้นอกจากจะช่วยทำให้อยู่ถึงปลายเดือนแล้ว หากทำไปเรื่อยยังช่วยให้คุณมีเงินเก็บมากขึ้น

ใช้บริการขนส่งสาธารณะ

แม้จะไม่สะดวกสบายเท่ารถส่วนตัว แต่ก็ช่วยประหยัดค่าเดินทางไปได้มากกว่าครึ่ง ลองบริหารเวลาเดินทางให้ออกเช้าและกลับดึกกว่าปกติ เพื่อเลี่ยงสภาพการจราจรที่ติดขัดและประหยัดค่าเดินทางเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นให้มากที่สุด

ดึงเงินเก็บมาใช้

วิธีสุดท้ายที่ไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่อยากให้ทำสักเท่าไหร่ ก็คือการดึงเงินเก็บออกมาใช้เท่าที่จำเป็น เมื่อถึงผ่านช่วงวิกฤตทางการเงินแล้วค่อยทยอยนำเงินมาใส่คืนบัญชีเงินเก็บสำรอง เผื่อคราวหน้ามีเหตุจะต้องใช้อีกครั้ง อันที่จริงแล้วนอกจากเงินเก็บสำรองเราควรจะมีเงินเผื่อไว้สำหรับความเสียหายที่ไม่คาดคิด เช่น ค่าซ่อมรถ ซ่อมบ้าน ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายทางสังคมอื่นๆ ที่ไม่รบกวนค่าใช้จ่ายรายเดือนและเงินสำรองเพื่อการลงทุน