posttoday

มีเงิน = มีความสุข จริงหรือ?

03 กรกฎาคม 2561

การมีเงินทองมากมาย จะทำให้คนเรามีความสุขจริงๆ น่ะหรือ?

เรื่อง ภาดนุ ภาพ Pixabay

การมีเงินทองมากมาย จะทำให้คนเรามีความสุขจริงๆ น่ะหรือ? เชื่อว่าน่าจะเป็นคำถามที่ติดอยู่ในใจของใครหลายๆ คนอย่างแน่นอน

ลองไปดูประโยคสนทนาต่อไปนี้ และอ่านเรื่องราวด้านล่างดูสิ แล้วคุณจะพบกับคำตอบในแบบของตัวเอง

“ไม่รู้หาเงินไปทำไมกันนะคะ” เสียงป้าหมอนวดแผนโบราณพูด ในขณะที่กำลังนวดบ่าของผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ พร้อมกับพูดต่อ “เดี๋ยวนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มานวดมีปัญหาคล้ายๆ กับคุณนี่แหละค่ะ บ่าแข็ง หลังตึง ปวดแขน ปวดขา ปวดตึงท้ายทอย เหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากความเครียดทั้งนั้น”

“ก็ยังไม่รวยนี่คะป้า ยังต้องหาเงิน ทำยังไงได้ล่ะ ถ้ารวยเมื่อไรก็คงจะสบายกับเขาบ้าง” หญิงสาวตอบ

“แต่ป้าว่าบางทีรวยก็อาจไม่มีความสุขก็ได้นะ ถ้าไม่รู้จักพอ รวยแล้วก็อยากรวยขึ้นไปอีก เลยไม่รู้ว่าตรงไหนถึงจะเรียกว่ารวย ก็เลยไม่สบายสักทีไง” ป้าหมอนวดแผนโบราณ กล่าว

หลายครั้งที่เราอดนึกสงสัยไม่ได้ว่า ถ้ามีเงินมากๆ แล้วชีวิตเราจะมีความสุขจริงๆ หรือ เพราะเท่าที่เห็น คนรวยหลายๆ คนก็หาความสุขในชีวิตไม่ได้ แต่บางคนก็สามารถมีความสุขได้ทั้งที่มีเงินไม่มาก จุดหักเหของความสุขหรือความทุกข์ น่าจะอยู่ที่ระดับรายได้ที่เกินความ “พอเพียง” หรือต่ำกว่าความ “พอเพียง”

แต่ระดับรายได้ที่เกินความพอเพียงก็อาจทำให้เกิดทุกข์ได้ เช่น เกิดความกังวล กลัวเงินทองจะสูญหาย กลัวจะถูกขโมย กลัวคนอื่นจะรวยกว่า เกิดความโลภอยากมีเงินมากๆ ทำให้เกิดความเครียด หักโหมทำงานหนักเพื่อต้องการหาเงินมาให้มากขึ้นจนลืมดูแลตัวเอง

สุดท้ายบั้นปลายชีวิต สถานที่พักผ่อนคือโรงพยาบาลที่มีห้องพิเศษอย่างดี มีพยาบาลดูแลพร้อม แต่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บที่เบียดเบียน

อีกประเภทหนึ่งคือ ระดับรายได้ที่ต่ำกว่าความพอเพียง จริงๆ แล้วข้อนี้น่าจะเรียกว่าระดับรายได้ต่ำกว่า “ความต้องการ” มากกว่า ส่วนใหญ่จะเกิดกับคนที่ใช้จ่ายเกินตัว หรือประเภทรายได้ต่ำรสนิยมสูง ชีวิตก็เป็นทุกข์ ต้องดิ้นรนกู้หนี้ยืมสินเขา ที่ไหนมีให้กู้ เสียดอกเบี้ยเท่าไรไม่ว่า ขอให้ได้กู้เป็นพอ ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ บัตรเครดิตมีกี่ใบ เบิกเงินสดล่วงหน้าครบทุกใบ ในที่สุดก็เป็นหนี้บานตะไท

คำตอบสุดท้ายของความสุข น่าจะอยู่ที่การยึดหลักพอเพียง ไม่ว่าระดับรายได้เท่าไรก็สามารถมีความสุขได้ หากเรารู้จักการใช้จ่ายที่พอเหมาะกับฐานะ ก่อนอื่นต้องกำหนดความต้องการของตัวเองให้เหมาะสมกับรายได้ รู้จักจัดสรรรายได้ ส่วนหนึ่งแบ่งไว้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อีกส่วนหนึ่งเก็บออมไว้สำหรับอนาคตที่พอดี มิใช่เก็บจนกระทั่งชีวิตปัจจุบันต้องอดมื้อกินมื้อ อันนี้ก็ไม่เห็นด้วยนัก

ฉะนั้น ต้องแยกให้ถูกระหว่างคำว่า “ประหยัด” กับ “มัธยัสถ์” ทำทุกอย่างให้พอดี ไม่สบายจนเกินไปหรือลำบากจนเกินไป หากมีเหลืออีกบางส่วนก็สามารถนำมาลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลบ้าง ก็จะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างพอเหมาะพอควรกับฐานะโดยไม่ฟุ้งเฟ้อจนเกินไป พูดง่ายๆ คือต้องระมัดระวังอย่าให้เกินเส้นความพอดี จะได้ไม่เป็นทุกข์ไงล่ะ

ต้องยอมรับว่าเงินยังเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิต ดังนั้นการรู้จักหาเงินและใช้เงินให้อยู่ในระดับที่เรียกว่า “พอเพียง” เงินก็จะช่วยให้ชีวิตเรามีความสุข แต่เมื่อไรก็ตามที่การหาเงินและการใช้เงินของเราเกินหรือต่ำกว่าความพอเพียง เมื่อนั้นเงินก็อาจทำให้เราเป็นทุกข์ได้เช่นกัน