posttoday

ความแตกต่างด้านภาษีระหว่างมนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์

27 มิถุนายน 2561

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเพิ่งเขียนบทความสั้นๆ ในหัวข้อ “มนุษย์เงินเดือนกับฟรีแลนซ์แตกต่างกันอย่างไร”

โดย...TAXBugnoms

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเพิ่งเขียนบทความสั้นๆ ในหัวข้อ “มนุษย์เงินเดือนกับฟรีแลนซ์แตกต่างกันอย่างไร” ทั้งในเรื่องของการจ้างงานต่างๆ และภาระภาษีที่เกี่ยวข้อง ลงไปที่เพจ TAXBugnoms พร้อมสรุปเป็นตารางแบบย่อๆ ให้กับแฟนเพจอ่านกันครับ

แน่นอนว่าเรื่องที่เขียนนั้น ไม่ได้จำเพาะเจาะจงที่เรื่องของภาษีเท่านั้นครับ แต่ระบุไปที่ต้นตอของการแบ่งแยกประเภทรายได้ ตั้งแต่ลักษณะงานที่แตกต่างกัน เพราะมีผลต่อสัญญาจ้างแรงงาน การจัดการต่างๆ ไปจนถึงกฎระเบียบ และประกันสังคมแบบไหนบ้าง

จากตารางจะเห็นว่าความแตกต่างนั้นมาจากการทำ “สัญญาจ้าง” เป็นหลัก ซึ่งกำหนดถึงความแตกต่างในด้านของกฎหมาย ตามมาด้วยนโยบายในการทำงานและประกันสังคม ซี่งข้อดีของกลุ่มมนุษย์เงินเดือนนี้จะเหมือนกับการเป็นคนที่อยู่ในระบบที่ค่อนข้างชัดเจน และได้รับสิทธิในการเรียกร้องมากกว่าครับ เพราะมีกฎหมายเฉพาะเจาะจงลงไปเลย

ความแตกต่างด้านภาษีระหว่างมนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์

แต่ถ้ามองต่อเนื่องมาในส่วนของการชำระภาษีและเรื่องของการวางแผนภาษี จะเห็นว่าทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไร เนื่องจากรูปด้านล่างนี้ครับ

แม้ว่าจะมี ประเภทเงินได้ที่แตกต่างกัน คือ เงินได้ประเภทที่ 1 (มาตรา 40(1)) และเงินได้ประเภทที่ 2 (มาตรา 40(2)) แต่ความเป็นจริงของทั้งสองกลุ่มนี้คือสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดเท่ากันเพียง 1 แสนบาทและเป็นการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเท่านั้น ซ้ำร้ายกว่านั้นคือกรณีที่บางคนเข้าข่ายทั้งสองกลุ่ม คือเป็นมนุษย์เงินเดือนที่รับงานฟรีแลนซ์ด้วย สิทธิการหักค่าใช้จ่ายในกลุ่มนี้จะอยู่ที่ 1 แสนบาทเท่าเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือภาษีนั่นเองครับ

ในแง่ของความแตกต่างทางด้านภาษีนั้น ดูเหมือนว่าทางฟรีแลนซ์จะต้องรับภาระหนักกว่า ในด้านของการจัดการตัวเองทั้งเอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่าย การคำนวณภาษีเพิ่มเติมตามมาตรา 48(2) สำหรับกรณีที่มีรายได้เกิน 1 ล้านบาท/ปี ที่ต้องนำมาเปรียบเทียบกับวิธีการคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิตามมาตรา 48(1) ไปจนถึงเรื่องของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีที่มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะเห็นว่ามีประเด็นของความรับผิดชอบทางภาษีที่มากกว่ามนุษย์เงินเดือนอีกด้วยครับ

ความแตกต่างด้านภาษีระหว่างมนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์

อย่างไรก็ดี การวางแผนภาษีสำหรับกลุ่มนี้ โดยส่วนตัวของผมแล้วคิดว่าควรเน้นหนักไปที่ค่าลดหย่อนภาษีที่มีอยู่ตามระบบ ที่สามารถสร้างวินัยทางการออมและลงทุนให้กับชีวิตได้ ไปจนถึงการจัดการกระแสเงินสดให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่เป็นครับ เช่น ฟรีแลนซ์อาจจะต้องสร้างวินัยโดยการตัดเงินทุกครั้งที่ได้รับ รวมถึงวางแผนการจ่ายภาษีที่หนักกว่ามนุษย์เงินเดือนที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในแต่ละเดือนอย่างครบถ้วนแล้ว

สุดท้ายแล้ว ถ้ามองในแง่ของการจัดการด้านภาษี มนุษย์เงินเดือนนั้นถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่จัดการภาษีได้ง่ายกว่าอาชีพอื่นๆ (แม้ว่าจะต้องเสียภาษีเยอะก็ตาม แต่ถ้าเทียบกับความสบายแล้วผมมองว่าภาระโดยรวมน้อยกว่ามากครับ ฮ่าๆ) ดังนั้นถ้าใครเป็นมนุษย์เงินเดือนก็อย่าเพิ่งน้อยใจไปนะครับ เพราะไม่ว่าอาชีพไหนก็สามารถจัดการภาษีได้ดี วางแผนภาษีได้เด่นไม่แพ้ใครหรอกครับ