posttoday

หลักการบริหารความเสี่ยงทั้ง 4 ข้อ ที่อาชีพฟรีแลนซ์ต้องรู้

16 พฤษภาคม 2561

ปัจจุบันกระแสคนหันมาเป็นฟรีแลนซ์หรือทำงานรับจ้างอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพที่ปรึกษาอิสระ รับจ้างออกแบบ ขายของออนไลน์หรือแม้แต่อาชีพค้าขายทั่วไป

โดย...ธนาวัฒน์ สิริวัฒน์ธนกุล

ปัจจุบันกระแสคนหันมาเป็นฟรีแลนซ์หรือทำงานรับจ้างอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพที่ปรึกษาอิสระ รับจ้างออกแบบ ขายของออนไลน์หรือแม้แต่อาชีพค้าขายทั่วไป ที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อฟรีแลนซ์ไม่มีรายได้ประจำ อย่างเช่นคนทำงานราชการหรือพนักงานบริษัททั่วไปแล้วก็คงจำเป็นจะต้องมีการวางแผนการเงินอย่างรัดกุมเป็นพิเศษโดยเฉพาะเรื่องของการวางแผนบริหารความเสี่ยงทางการเงิน เนื่องจากอาชีพอิสระนั้น มีความไม่แน่นอนสูงกว่าคนทำงานประจำอยู่มาก และนี่คือหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ ที่ผมอยากจะฝากไว้สำหรับคนที่ทำงานฟรีแลนซ์เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงทางการเงินได้อย่างรัดกุมครับ

1.พยายามหาแหล่งรายได้ให้มากกว่า 1 ทาง

สำหรับฟรีแลนซ์นั้นการมีรายได้เพียงแค่ช่องทางเดียว ถือว่าสุ่มเสี่ยงมาก เพราะถ้าหากรายได้ช่องนั้นเกิดขาดหายไป จะทำให้ฟรีแลนซ์สูญเสียรายได้ทั้งหมดทันที ดังนั้นคนที่เป็นฟรีแลนซ์จึงควรใช้วิธี“กระจายความเสี่ยง” ในการรับรายได้ด้วยการไม่พึ่งพารายได้ทางใดทางหนึ่ง แต่กระจายการรับรายได้ให้มาจากหลายๆ ช่องทาง เพื่อที่ว่า หากขาดรายได้ทางใดทางหนึ่งแล้วก็ยังเหลือรายได้ในช่องทางอื่นๆ มาหล่อเลี้ยงได้ เช่น คนที่ทำอาชีพค้าขายก็อาจพยายามพัฒนาระบบการขาย ด้วยการสร้าง “ตัวแทน” มาช่วยกระจายสินค้าและหาลูกค้าให้

ขณะเดียวกันก็อาจนำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ มาเปิดคอร์ส “สอน” ขายของออนไลน์อย่างถูกวิธี หรือสร้างช่องทางบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น ยูทูบ หรือเฟซบุ๊ก เพื่อหาช่องทางรับค่าโฆษณาหรืออาจมีคนมาว่าจ้างให้ลงโฆษณาเพิ่มให้ได้ก็จะทำให้ฟรีแลนซ์มีรายได้มาจากหลายๆ ช่องทางมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ช่องทางรายได้อื่นๆ นั้น หากเป็นไปได้ก็ควรเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับเรื่องหลักๆ ที่ฟรีแลนซ์ทำ เพราะหากฟรีแลนซ์กระจายรายได้ ด้วยการพยายามทำหลายเรื่องที่ไม่สอดคล้องกัน เช่น ขายของ รับจ้างออกแบบ ไปพร้อมๆ กับทำอาหารขาย อาจจะทำให้ฟรีแลนซ์ไม่สามารถพัฒนางานที่ทำจนมีคุณค่าสูงๆ ได้เท่ากับการโฟกัสไปที่งานประเภทเดียว

2.พยายามกระจายรายจ่ายที่เป็นเงินก้อน ออกไปในแต่ละเดือน

การกระจายรายจ่ายที่เป็นเงินก้อนออกไป เช่น ค่าเบี้ยประกัน (ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ ค่าท่องเที่ยว)ค่าสั่งสินค้ามาสต๊อกล็อตใหญ่ หรือรายจ่ายที่เป็นเงินก้อนใหญ่อื่นๆ โดยไม่นำมารวมกันจ่ายๆเยอะๆ ภายในเดือนเดียว จะช่วยให้ฟรีแลนซ์สามารถบริหารกระแสเงินสดได้ดีกว่าซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะติดขัดทางการเงินได้ เพราะลองนึกภาพว่าหากฟรีแลนซ์มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 3-4 หมื่นบาท แต่มีเดือนหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันพร้อมกัน 3 หมื่นบาท แถมเดือนนั้นยังต้องสต๊อกสินค้าอีก 2 หมื่นบาท ซึ่งรวมกันแล้วเกินกว่ารายได้ของเดือนนั้นทำให้ต้องไปดึงเงินเก็บมาใช้ แล้วเกิดเหตุฉุกเฉินอื่นที่ทำให้ต้องใช้เงินเพิ่มหรือรายได้เดือนต่อมาลดน้อยลงกว่าเดิม หรือขาดรายได้ไป ก็จะทำให้ช่วงนั้นฟรีแลนซ์เกิดอาการ “ช็อต” ได้

นอกจากนั้น ฟรีแลนซ์อาจจะใช้ประโยชน์จากการใช้ “บัตรเครดิต” มาช่วยชะลอค่าใช้จ่ายออกไปได้ประมาณ 30 วัน รวมถึงสิทธิผ่อนชำระอื่นๆ เช่นให้ผ่อนชำระ 0% นาน 10 เดือนเป็นต้น ก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยกระจายรายจ่ายออกไปได้เช่นกัน (แต่อย่าลืมว่าต้องมีเงินเก็บให้เพียงพอจ่ายค่าบัตรในเดือนถัดไปเต็มจำนวนด้วย) ดังนั้นถ้าไม่จำเป็น ฟรีแลนซ์ก็ควรที่จะระมัดระวังค่าใช้จ่ายให้มากๆ อย่าพยายามใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนเกินไปด้วย

3.มีเงินสำรองฉุกเฉินให้มากเพียงพอ

เงินสำรองฉุกเฉิน คือ สิ่งที่จำเป็นที่สุดในการบริหารเงินของฟรีแลนซ์เนื่องจากฟรีแลนซ์มีทั้งความไม่แน่นอนของทั้งด้านรายได้และรายจ่ายและยังอาจมีทั้งการที่ลูกค้าขอเครดิตเทอม ทำให้กว่าจะได้รับค่าจ้างหรือรายได้จากการทำงานให้ ต้องรอต่อไปอีกหลายเดือน ระหว่างนั้นจึงจำเป็นต้องมีเงินสำรอง เพื่อไว้ดึงมาใช้ก่อนที่รายได้จะเข้าอีกด้วย ทำให้หากฟรีแลนซ์ไม่มีเงินสำรองไว้มากเพียงพอ อาจจะทำให้มีเงินไว้ไม่พอใช้จ่ายจนกว่ารายได้จะเข้ามาได้

รวมถึงการสำรองเอาไว้เผื่อเกิดเหตุที่ต้องใช้รายจ่ายฉุกเฉินก้อนใหญ่ เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่อาจจะเข้ามาโดยไม่ทันคาดคิดอีกด้วย โดยทั่วไปจึงแนะนำให้ฟรีแลนซ์ควรมีเงินเก็บสภาพคล่อง (เช่น ในเงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน/ตราสารหนี้ระยะสั้น)ให้เพียงพอต่อรายจ่ายทั้งปีโดยเฉลี่ยเป็นอย่างน้อย

4.มีประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุไว้ให้ครอบคลุมค่ารักษา

เนื่องจากคนเป็นฟรีแลนซ์ ไม่ได้มีสวัสดิการรักษาพยาบาลต่างๆ เหมือนกับคนที่เป็นราชการที่มีสิทธิเบิกค่ารักษาจากโรงพยาบาลรัฐ หรือพนักงานบริษัทที่อาจมีประกันกลุ่ม ดังนั้น หากเจ็บป่วยขึ้นมา แล้วไม่มีสวัสดิการไว้เบิกค่ารักษา ก็อาจทำให้ค่ารักษาพยาบาล มากินเงินเก็บหรือเงินออมและเงินลงทุน ที่สะสมและสำรองอยู่ได้ ยิ่งถ้าหากโชคร้าย เกิดเป็นโรคหนักๆ หรือต้องนอนโรงพยาบาลนานๆ ด้วยแล้ว นอกจากอาจจะต้องสูญเสียเงินไปกับค่ารักษาพยาบาลก้อนใหญ่ ก็ยังทำให้ต้องสูญเสียรายได้ในช่วงพักรักษาตัว เพราะไม่สามารถทำงานได้อีกด้วย

ดังนั้นสำคัญอย่างยิ่งที่คนทำงานฟรีแลนซ์ควรจะต้องมีประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุเป็นของตัวเอง ซึ่งเบื้องต้นก็ควรทำที่เป็นสัญญาชดเชยค่ารักษาตัวในโรงพยาบาลแบบ “เหมาจ่าย” ค่ารักษาเป็นหลัก รวมไปถึง “ค่าชดเชยรายวัน” ที่จะจ่ายเงินให้เรา ตามจำนวนวันที่ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทำให้เสมือนว่าเรายังคงมีรายได้ แม้จะนอนพักรักษาตัวอยู่ด้วย เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงของค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นและป้องกันการขาดรายได้ไปพร้อมๆ กัน(อย่างไรก็ตาม ประกันสุขภาพ และอุบัติเหตุที่ทำก็ควรอยู่ในระดับที่จ่ายค่าเบี้ยอย่างเหมาะสมไม่เป็นภาระด้วย)

อาชีพฟรีแลนซ์แม้จะมีข้อดีตรงที่มีอิสระ สามารถออกแบบงานได้เอง และมีโอกาสในการสร้างรายได้ที่ไม่ถูกจำกัดเพดาน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความรับผิดชอบที่สูงกว่าคนทำงานประจำ รวมถึงต้องมีการวางแผนบริหารจัดการการเงินของตัวเองที่รัดกุมเป็นพิเศษ ซึ่งก็หวังว่า แนวทางทั้ง 4 ข้อที่ผมแนะนำไปจะช่วยให้คนทำงานฟรีแลนซ์ทุกท่านสามารถนำไปปรับใช้กับการเงินของตัวเอง เพื่อให้การเงินของเรามีความมั่นคง ลดการเกิดปัญหาการเงินลงได้นะครับ จากใจคนที่กำลังทำงานเป็นฟรีแลนซ์อยู่เช่นกันครับ