posttoday

วางแผนให้สุขหลังเกษียณ

04 พฤษภาคม 2561

ชีวิตหลังวัย 50 นั้นควรจะเป็นชีวิตที่เราพอจะออกแบบได้ เพื่อเตรียมรับมือหลังวัยเกษียณ มีเวลาเตรียมตัวสักอย่างน้อย 10 ปี

เรื่อง กันย์ 

ชีวิตหลังวัย 50 นั้นควรจะเป็นชีวิตที่เราพอจะออกแบบได้ เพื่อเตรียมรับมือหลังวัยเกษียณ มีเวลาเตรียมตัวสักอย่างน้อย 10 ปี ทั้งเรื่องร่างกาย จิตใจและการเงิน ยิ่งมีเวลาเตรียมตัวนานยิ่งดี ถึงแม้ว่าเราอาจยังไม่ถึงวัยนั้น แต่เชื่อเถอะว่าคนรอบข้าง หรือคนในครัว เรียนรู้จากคุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่ในบ้านของเรา ที่ท่านอาจจะเจ็บป่วยด้วยโรคอะไรบ้างเพื่อให้เราได้เฝ้าระวัง ดูวิถีชีวิตการกินอยู่ของท่าน เพื่อจะเป็นบทเรียนให้เราหลีกเลี่ยง

อย่ากังวลเกินไปจงเปิดใจยอมรับ หลายคนกังวลว่าพออายุ 50 ขึ้นไปจะก้าวเข้าสู่วัยโรยรา คนจะเรียกว่าวัยชรา กลัวการปรับตัว ปรับใจ หมดหวัง และกลายเป็นภาวะซึมเศร้า ดังนั้นหลังวัยเกษียณของผู้สูงอายุจะไม่เป็นคนชราอีกต่อไป หากปรับตัว ปรับใจ เตรียมความพร้อม ในการมีเวลาอยู่กับตัวเอง อยู่กับครอบครัวอยู่กับลูกหลาน เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าให้กับสังคม และสร้างความสุขที่ได้อยู่ร่วมกันในครอบครัว

อาจจะมีภาวะช็อกไปเล็กๆ กับการเปลี่ยนแปลงชีวิตแบบเฉียบพลัน โดยทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ต้องตื่นนอน เตรียมตัวเพื่อไปทำงาน อาจจะส่งผลกระทบด้านจิตใจไปบ้าง หนึ่งในเรื่องนั้น คือ เรื่องรายได้ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเครียด กับเรื่องการเปลี่ยนสถานภาพทางสังคม จากบุคคลที่เคยมีบทบาทหน้าที่ มีคนเคารพยกย่อง พอเกษียณตำแหน่งทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยทำทุกวันก็ไม่มี กลายเป็นเพียงคนธรรมดา เมื่อไม่มีการเตรียมความพร้อม ปรับตัวไม่ได้ ย่อมทำให้ยิ่งรู้สึกว่าภาพลักษณ์ของตัวเองแย่ลง บางคนจึงอาจมีหดหู่ภาวะซึมเศร้า เกิดขึ้น

พญ.กานติ์ชนิต ผลประไพ แพทย์ด้านจิตเวช โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า ปัจจุบันสถิติผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งประเทศไทยเองกำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงอายุไปสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้นถึง 7 ล้านคน และภายในปี 2583 ประชากรในกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนเป็น 17 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ

ดังนั้น หากผู้สูงอายุได้มีการเตรียมความพร้อมหลังการเกษียณ คือ ต้องยอมรับ ไม่ยึดติด มีความสุขในปัจจุบัน ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล และควรอยู่กับลูกหลานครอบครัวอย่างมีความสุข ตามแนวทางการสร้างสุขสำหรับวัยเกษียณ ด้วยหลัก 3 สร้าง ประกอบไปด้วย

1.สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ทำสิ่งดีๆ ให้กับตัวเองและผู้อื่น ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ทำความสำเร็จเล็กๆ ให้ได้ในแต่ละวัน และมีความสุขกับสิ่งที่ทำ

2.สร้างสุขภาพกายและใจให้ตนเอง ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน ตรวจสุขภาพประจำปี ฝึกจิต ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สดใส เมื่อรู้สึกหดหู่ เหงา เศร้า ไม่สดชื่น ควรรีบปรึกษาคนรัก ไปพบเพื่อนฝูง พูดคุยปรึกษาปัญหา ทำกิจกรรมที่ชอบ ช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

3.สร้างกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมในบ้านและนอกบ้าน เช่น งานบ้าน งานสวน เข้าชมรม เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ตามความชอบความพอใจ ความถนัด และบริบทการใช้ชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้า 

4.ลองเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ เพราะอายุไม่ใช่ข้อจำกัดในการที่จะเริ่มสิ่งที่อยากทำ เช่น ไปเรียนวาดรูป ทำขนม สร้างเพจให้ความรู้ในการใช้ชีวิตจากประสบการณ์จริงของตนเอง ยิ่งฝึกทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนจะทำให้สมองได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น

5.อย่าลืมเตรียมพร้อมเรื่องการเงินไว้ เช่น การทำประกัน การออมในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ดอกผลเป็นรายเดือนหรือรายปี อย่างน้อยเพื่อให้มีเงินก้อนใช้ไปต่อเนื่องหลายๆ ปี

6.เมื่อเกิดอาการเบื่อหน่ายหดหู่เรื้อรังควรไปพบแพทย์ อย่าปล่อยไว้ เพราะการพบแพทย์จะช่วยเยียวยาให้ดีขึ้นได้ เนื่องจากเป็นวัยที่มีการสูญเสียหลายด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม เป็นวัยที่ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างมาก ทุกปัญหามีทางออกเสมอ มองโลกแง่ดีเปิดใจเข้าไว้เพราะยังไงทุกคนก็ต้องเจอ เป็นของฟรีที่ไม่มีใครอยากได้ เมื่อหนีไม่ได้ก็ตั้งใจรับมืออย่างดีที่สุด