posttoday

รับมรดกต้องเสียภาษี

28 มีนาคม 2561

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการตื่นตัวกันมากเรื่องการจัดการมรดกให้กับลูกหลาน เป็นวาระสำคัญของทุกครอบครัวทั่วประเทศทีเดียว

โดย วารุณี อินวันนา

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการตื่นตัวกันมากเรื่องการจัดการมรดกให้กับลูกหลาน เป็นวาระสำคัญของทุกครอบครัวทั่วประเทศทีเดียว

ในงานสัมมนา “Journey to IPO” จัดโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่ จ.ขอนแก่น มีการหยิบยกเรื่อง “การบริหารภาษีเพื่อการสืบทอดกิจการของครอบครัว” มาแนะนำประชาชนโดย กุลนันท์ ซานไทโว กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บล.ภัทร และเปรมฤดี ปริณายก รองผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บล.ภัทร

วันนี้ขอนำเฉพาะในส่วนของภาษีมรดกกับภาษีที่ดิน เพื่อจะได้เห็นแนวทางในการจัดการภาษีให้ถูกต้อง 

ภาษีมรดก จะเก็บหลังจากเจ้าของมรดกเสียชีวิต มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 1 ก.พ. 2559 วิธีการคำนวณเพื่อเสียภาษี จะนำทรัพย์สินไปลบหนี้สินเจ้ามรดกก่อน หลังจากนั้นก็นำมาแบ่งให้กับทายาท และก็เก็บภาษีจากทายาทตามสัดส่วนที่ได้รับ แต่ยังมีทรัพย์สินที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดกอย่างทอง เพชร ภาพวาด ของโบราณ เมื่อมีการมอบให้กับทายาท ก็ต้องเสีย “ภาษีการรับให้” ซึ่งจะจัดเก็บเมื่อมีการให้กันขณะมีชีวิตอยู่ ภาษีการรับให้เป็นส่วนหนึ่งของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะให้ทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องเสียภาษี

ถ้าผู้ให้ ให้ทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ มีความสัมพันธ์เป็นบุพการีกับผู้รับให้ หรือคู่สมรส การให้โดยอุปการะ หรือโดยเสน่หา เช่น พ่อยกทองที่มีมูลค่าเกิน 20 ล้านบาทให้กับลูก ลูกมีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ 5% หรือถ้าลูกไม่เสียภาษี 5% ต้องนำไปคำนวณรวมเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปลายปี แต่ต้องเสียภาษีในอัตราภาษีก้าวหน้า 5-35% ถ้าการให้กับบุคคลอื่น ต้องเป็นการให้เพื่ออุปการะเท่านั้น หรือให้ตามขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น ให้เนื่องในวันเกิด สินสอดทองหมั้น วันปีใหม่ กำหนดไว้ให้เสียภาษีไม่เกิน 10%

สมมติจะแต่งงาน เจ้าบ่าวมีสินสอดทองหมั้นแหวนเพชรรวมมูลค่า 100 ล้านบาท เจ้าสาวจะต้องเสียภาษี 10% แต่ถ้าไม่อยากถูกเก็บภาษีในอัตราดังกล่าว จะยอมลดสินสอดลงมาให้เหลือ 10 ล้านบาท จะเสียภาษีเพียง 5% เท่านั้น

ถ้าผู้ให้ ให้ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ทำได้กรณีเดียวคือ พ่อ แม่ ให้กับลูกโดยไม่มีค่าตอบแทน มีการจำกัดมูลค่าที่ 20 ล้านบาท ถ้ามูลค่าเกิน 20 ล้านบาท ลูกจะกลายเป็นผู้รับและต้องเสียภาษี

รับมรดกต้องเสียภาษี

กรณีที่พ่อแม่ต้องการยกสินทรัพย์ทางการเงินให้ลูก เพื่อให้ลูกไปลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งบางกองทุนจะกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ 30 ล้านบาท หรือ 50 ล้านบาท จะทำให้ไม่ได้สิทธิภาษี เพราะกฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 20 ล้านบาท 

ทางออกคือ พ่อแม่มอบเงินให้ลูก 20 ล้านบาท ส่วนอีก 10 ล้านบาท ทำเป็นสัญญาให้ลูกกู้ยืม ซึ่งปัจจุบันการให้กู้เงินของบุคคลธรรมดาไม่ได้มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องคิดดอกเบี้ย พอไม่มีดอกเบี้ยคนให้กู้ ก็ไม่มีภาระภาษีตามมา

กรณีให้อสังหาริมทรัพย์แก่บุคคลอื่น ผู้ให้ต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า ซึ่งการให้อสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ดูผู้รับเป็นผู้มีเงินได้ แต่จะยึดว่าผู้ให้เป็นผู้มีเงินได้ ผู้ให้จึงต้องเป็นผู้เสียภาษีการให้

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะถูกนำมาใช้แทนภาษีโรงเรือน จะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2562 เป็นภาษีที่จะกระทบกับครอบครัวไทยเกือบถ้วนหน้าพอๆ กับภาษีมรดก เพราะจากการประเมินของผู้จัดการกองทุน พบว่าความมั่งคั่งของลูกค้าจะพบว่ามีการลงทุนในที่ดิน 25-30% และส่วนที่เป็นสินทรัพย์อื่น 25-30%

เดิมการซื้อที่ดินเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าไม่มีต้นทุนการดูแล แค่ล้อมรั้ว รอเก็บกำไรจากราคาปรับตัวขึ้น แต่เมื่อกฎหมายใหม่ออกมา ที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงถึง 3% ต่อปี จากราคาประเมิน ซึ่งราคาประเมินจะมีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี จะทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน

แม้ถึงขณะนี้อัตราภาษีจะยังไม่นิ่ง ยังถกเถียงกันอยู่ แต่รัฐบาลพยายามที่จะทำให้เสร็จและออกกฎหมายมาให้ได้ก่อนเลือกตั้ง เพื่อบังคับใช้ให้ได้ในต้นปีหน้า มติล่าสุดของอัตราการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเมื่อเดือน ก.พ. ให้ลด 40% จากอัตราในร่างกฎหมาย เพดานภาษีที่ดินเกษตรกรรมจะเหลือ 0.15% บ้านอยู่อาศัยจะเหลือ 0.3% ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมเหลือ 1.2% ที่รกร้างว่างเปล่าเหลือ 3% ทำให้ต้นทุนในการถือครองที่ดินเพิ่มขึ้นทันที

วันนี้จึงต้องมาปรับพอร์ตที่ดิน และนำที่ดินทำประโยชน์ให้เหมาะสมตามโครงสร้างภาษี และให้เหมาะกับโครงสร้างผังเมือง เช่น ถ้าที่ดินอยู่บริเวณสีลม เดิมรกร้างว่างเปล่า จะนำไปปลูกกล้วย แล้วบอกว่าเป็นการนำไปทำประโยชน์ ถือว่าเป็นการจัดการที่ดินไม่เหมาะสม ไม่สมเหตุสมผล