posttoday

เงินปันผลกับการเสียภาษี เรื่องที่พูดได้ตลอดปีและตลอดไป

14 มีนาคม 2561

หนึ่งในปัญหาของการยื่นภาษีที่วนเวียนมาอยู่ทุกปี นั่นคือเรื่องของเงินปันผล หรือ ส่วนแบ่งกำไรที่เราได้รับจากการลงทุน

โดย...Tax Bugnoms

หนึ่งในปัญหาของการยื่นภาษีที่วนเวียนมาอยู่ทุกปี นั่นคือเรื่องของเงินปันผล หรือ ส่วนแบ่งกำไรที่เราได้รับจากการลงทุน มีทั้งคำถามว่าควรจะยื่นภาษีไหม ควรจะทำยังไง ไปจนถึงแบบไหนถึงจะมีประโยชน์ที่สุด 

จริงๆ แล้วผมเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายครั้งแล้วครับ ตั้งแต่ในเพจ TAXBugnoms และบล็อกภาษีข้างถนน แต่คำถามเหล่านี้ก็ยังมีเข้ามาเรื่อยๆ อยู่เสมอ ซึ่งผมมองว่าเป็นเพราะว่าคนเริ่มลงทุนนั้นมากขึ้น และมีความสนใจในเรื่องของการวางแผนภาษีมากขึ้น ดังนั้นถือเป็นโอกาสอันดีที่จะหยิบเรื่องเหล่านี้มาเล่าแบบชัดๆ กันอีกครั้งหนึ่งครับ

โดยประเด็นที่ผมอยากให้ชี้ชัดก่อนที่จะตอบคำถามว่า เวลามีรายได้จากเงินปันผลนั้นควรจะเอามารวมภาษีหรือไม่ คุณควรตอบคำถามให้ได้ทั้งสองข้อนี้ก่อนครับ

1.เงินปันผลที่ได้มานั้น เป็นเงินได้ประเภทไหน? เงินปันผลที่ได้มาในปัจจุบันที่เราเรียกกันอย่างชินปากนั้น จะมีทั้งเงินปันผลจากหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ กองทุนรวมที่ไม่มีสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งตรงนี้ต้องแยกให้ได้ก่อนครับว่าเป็นเงินได้ประเภทไหน เพราะจะมีอยู่ 2 ประเภทคือ เงินได้ประเภทที่ 4 (เงินปันผล) และเงินได้ประเภทที่ 8 (ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวม) ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีสิทธิประโยชน์ในการเสียภาษีที่ต่างกัน

หลักการของข้อนี้ที่ต้องฟังให้ชัด คือ เมื่อคุณแยกประเภทของเงินปันผลออกมาเป็นเงินได้ประเภทไหนแล้ว ถ้าหากคุณจะยื่นภาษี คุณต้องยื่นเงินได้ประเภทนั้นทั้งหมดทุกจำนวน เช่น ถ้าจะยื่นเงินได้ประเภทที่ 4 (เงินปันผล) ก็ต้องเอาทุกตัวมายื่นภาษี หรือจะยื่นเงินได้ประเภทที่ 8 (ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวม) ก็ต้องเอาทุกประเภทมายื่นภาษีเช่นกันครับ หรือจะยื่นทั้งคู่ หรือเลือกที่จะไม่ยื่นเลยก็ได้

2.คุณเสียภาษีในฐานอัตราภาษีเท่าไร อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นมีแต่ตั้ง 5-35% สิ่งที่คุณควรจะรู้คือ ก่อนที่จะรวมเงินได้จากเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรตามข้อ 1 ที่ว่ามานี้ คุณเสียภาษีในอัตราที่เท่าไร เพราะจะมีผลต่อการตัดสินใจของคุณครับ เพราะถ้าหากคุณเสียภาษีเกินกว่าอัตรา 10% ซึ่งมากกว่าอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่คุณโดนหักไว้เมื่อได้รับเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไร คุณไม่ควรนำเงินปันผล (ส่วนแบ่งกำไร) ที่เป็นเงินได้ประเภทที่ 8 มารวมคำนวณภาษี เพราะมันจะทำให้คุณต้องเสียภาษีมากขึ้นครับ

ยกตัวอย่างเช่น คุณมีเงินได้สุทธิ (หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน) อยู่ที่ 1 แสนบาท แปลว่าคุณจะเสียภาษีในอัตรา 20% ถ้าหากคุณนำเงินปันผลในกลุ่มนี้มารวมคำนวณตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป คุณจะเสียภาษีในอัตรา 25% ทันที แต่คุณเสียภาษีจากการหัก ณ ที่จ่ายไว้เพียงแค่ 10% เท่านั้น ดังนั้นเท่ากับว่าเงินปันผลกลุ่มนี้จะทำให้คุณเสียภาษีเพิ่ม 15% ครับ แต่ถ้าหากคุณเสียภาษีต่ำกว่าฐาน 10% คุณควรเอามารวมคำนวณเพื่อขอคืนภาษีครับ

แต่สำหรับเงินได้ประเภทที่ 4 ที่เป็นเงินปันผลจากหุ้นทั้งหลาย ผมแนะนำให้มาลองรวมคำนวณดูก่อนในทุกอัตราภาษี เพราะว่าบางทีแล้วมันจะมีเรื่องของเครดิตภาษีเงินปันผลที่ช่วยให้คุณได้คืนภาษีเพิ่มเติมครับ (ใครสนใจตรงนี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมในหัวข้อ ภาษีกับการลงทุน ใน Youtube Channel TAXBugnoms ครับ)

เห็นไหมครับว่า ถ้าหากคุณสามารถตอบคำถามทั้ง สองข้อนี้ได้ คุณจะตอบได้ทันทีว่าควรนำเงินปันผลที่ว่านี้มารวมคำนวณภาษีหรือไม่ และสำหรับคนที่ได้ภาษีคืนนั้น ผมแนะนำให้คุณตรวจสอบเอกสารหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายเงินปันผลเหล่านี้ไว้ด้วยครับ เพราะคุณจะต้องถูกทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเหล่านี้เพิ่มเติมเพื่อคืนภาษีให้กับคุณครับ

สุดท้ายนี้ ผมขออวยพรให้ทุกคนยื่นภาษีอย่างถูกต้อง และได้คืนภาษีอย่างทั่วหน้านะครับ :)