posttoday

สรุปเงื่อนไขลดหย่อนภาษีด้วยประกัน สำหรับปี 2560

07 พฤศจิกายน 2560

โดย...ศิวัตม์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ

โดย...ศิวัตม์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ

สวัสดีครับ เข้าสู่ช่วงปลายปี หลายคนอาจกำลังวางแผนภาษีกันอยู่ ส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นการเลือกใช้สิทธิประเภทต่างๆ ลดหย่อนภาษี ทั้งซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างประกันชีวิต หรือกองทุนรวม รวมถึงสิทธิลดหย่อนอื่น

อย่างไรก็ตาม การจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเหล่านั้นได้ จะมีเงื่อนไขรายละเอียดที่เราต้องปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นอาจผิดเงื่อนไขโดยไม่รู้ตัว และอาจได้รับบทลงโทษจากกรมสรรพากรย้อนหลังได้ ซึ่งในส่วนของประกัน อย่างที่ทราบกันดีว่า ปี 2560 จะมีสิทธิลดหย่อนภาษีตัวใหม่เพิ่มเข้ามา คือสิทธิลดหย่อนภาษีด้วย ”ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของตนเอง”

ในตอนนี้ผมจะขอสรุปเงื่อนไขการนำประกันมาลดหย่อนภาษี เพื่อให้เราลดหย่อนภาษีด้วยประกันได้ถูกต้องและสบายใจ สำหรับค่าเบี้ยประกันที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ปี 2560 คือ ประกันชีวิตแบบทั่วไป ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันสุขภาพให้บิดามารดา และประกันสุขภาพของตนเอง ดังนี้

เงื่อนไขลดหย่อนประกันชีวิตแบบทั่วไป ประเภทตลอดชีพ สะสมทรัพย์ ชั่วระยะเวลา และควบการลงทุน (ยูนิตลิงค์และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ : ลดหย่อนได้เฉพาะค่าเบี้ยส่วนที่เป็นต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการทำประกันเท่านั้น)

1.กรมธรรม์ต้องมีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ประกันที่ออมระยะสั้นต่ำกว่า 10 ปี จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ และถึงแม้เป็นประกันที่มีสัญญาคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่หากเรา “เวนคืน” กรมธรรม์ ก่อนกรมธรรม์จะมีอายุครบ 10 ปี จะถือว่าผิดเงื่อนไข เพราะการเวนคืนทำให้สัญญากรมธรรม์สิ้นสุดก่อนครบ 10 ปี

2.เป็นกรมธรรม์ที่ออกจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการในไทย (เป็นบริษัทต่างชาติก็ได้ แต่ต้องดำเนินธุรกิจในไทย)

3.ถ้ามีเงินปันผลและ/หรือเงินคืนระหว่างสัญญาเป็นรายปี เงินคืนเหล่านั้นแต่ละปีต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันปีนั้น หากเป็นเงินคืนตามช่วงระยะเวลา เช่น มีเงินคืนทุก 3 ปี หรือ 5 ปี เงินคืนปีนั้นต้องไม่เกินกว่า 20% ของเบี้ยประกันที่สะสมรวมกันช่วงนั้นเช่นกัน

4.สำหรับประกันชีวิตของตนเองลดหย่อนได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท (สามารถทำประกันที่จ่ายเบี้ยเกิน 1 แสนบาทได้ แต่นำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 1 แสนบาท)

5.สำหรับประกันชีวิตของคู่สมรส (ถ้ามี) จะสามารถนำค่าเบี้ยประกันคู่สมรสมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 หมื่นบาท โดยที่คู่สมรสต้องไม่มีรายได้และมีความเป็นสามีภรรยากันตลอดปี (ถ้าเพิ่งมาจดทะเบียนกันระหว่างปีก็ไม่สามารถใช้สิทธิได้)

เงื่อนไขลดหย่อนประกันชีวิตแบบบำนาญ

1.กรมธรรม์ต้องมีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และจ่ายเงินบำนาญอย่างน้อยตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น

2.เป็นกรมธรรม์ที่ออกจากบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย (จะเป็นบริษัทต่างชาติก็ได้ แต่ต้องดำเนินธุรกิจในไทย)

3.ลดหย่อนได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 2 แสนบาท และเมื่อรวมค่าเบี้ยกับเงินที่จ่ายเข้า RMFกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน (ถ้ามี) รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 5แสนบาท

4.หากยังใช้สิทธิลดหย่อนของประกันชีวิตแบบทั่วไปไม่ครบ 1 แสนบาท สามารถใช้ค่าเบี้ยประกันบำนาญไปรวมกับสิทธิลดหย่อนของประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ครบ 1 แสนบาท แล้วส่วนที่เหลือมาลดหย่อนในสิทธิลดหย่อนประกันชีวิตแบบบำนาญได้ (ดังนั้นหากไม่มีประกันชีวิตแบบทั่วไปเลย จะใช้สิทธิลดหย่อนค่าเบี้ยประกันจากประกันบำนาญได้สูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท (1 แสนบาท ในโควตาประกันชีวิตแบบทั่วไป และ 2 แสนบาท ในโควตาประกันชีวิตแบบบำนาญ)

เงื่อนไขลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพให้บิดามารดาของเราและของคู่สมรส

1.ลดหย่อนได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริง  แต่รวมกันแล้วของบิดามารดาทุกคนต้องไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

2.ตัวเราต้องเป็นบุตรแท้ตามกฎหมาย (บุตรบุญธรรมใช้สิทธิไม่ได้)

3.บิดามารดาแต่ละคนต้องมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 3 หมื่นบาท

4.บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งต้องอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 180 วัน ในปีภาษีนั้น

5.ต้องเป็นเบี้ยประกันในส่วนที่เป็นความคุ้มครองสุขภาพด้านใดด้านหนึ่งใน 4 ด้านนี้เท่านั้น ได้แก่

- คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล หรือจ่ายเงินชดเชย จากการเจ็บป่วยทั่วไป

- คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล หรือจ่ายเงินชดเชย จากกรณีอุบัติเหตุ

- คุ้มครองกรณีที่เป็นโรคร้ายแรง

- เป็นการประกันภัยแบบดูแลระยะยาว (Long Term Care)

6.หากเป็นบิดามารดาของคู่สมรส คู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้เลยในปีภาษีนั้น ร่วมกับเงื่อนไขเดียวกับบิดามารดาของตัวเราเอง

7.ถ้ามีการร่วมจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพให้บิดามารดาระหว่าง พี่น้องพี่น้องแต่ละคนจะลดหย่อนเบี้ยได้ตามค่าเบี้ยที่เฉลี่ยตามจำนวนพี่น้องที่ร่วมจ่ายค่าเบี้ยนั้น เช่น ค่าเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท รวมกันจ่ายระหว่างพี่น้อง 2 คน ก็ลดหย่อนได้คนละ 7,500 บาท

เงื่อนไขลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพของตนเอง

เงื่อนไงของค่าเบี้ยประกันสุขภาพของตัวเราที่จะนำมาลดหย่อนภาษียังไม่ได้ประกาศเป็นกฎหมายชัดเจน แต่เบื้องต้นต้องเป็นค่าเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตในโควตาค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป ต้องไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนเงื่อนไขอื่นคาดว่าจะใช้ตามเงื่อนไขค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา โดยเฉพาะเงื่อนไขความคุ้มครอง แต่ต้องรอประกาศเป็นเงื่อนไขที่ชัดเจนในกฎหมายอีกครั้ง

ทั้งหมดนั่นคือเงื่อนไขค่าเบี้ยประกันที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ในปี 2560 นี้ อย่างไรก็ตาม อยากฝากไว้ว่า การที่เราจะลดหย่อนภาษีด้วยค่าเบี้ยประกัน เราควรเริ่มต้นจากการวางแผนประกัน ทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพให้เรียบร้อยก่อน จะเหมาะสมกว่าเริ่มต้นจากการอยากจะลดหย่อนภาษีเป็นหลัก

เพราะอย่างไรเสีย เราควรทำประกันเพื่อเน้นคุ้มครองความเสี่ยงมากกว่าลดหย่อนภาษี และที่สำคัญเราควรวางแผนเนิ่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอจนถึงปลายปีถึงจะค่อยมาวางแผนก็น่าจะเหมาะสมกว่าเช่นกันครับ