posttoday

งานดี...เงินงาม มีที่ไหน

14 กันยายน 2560

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ถ้าไปสมัครงาน ใครๆ ก็อยากได้งานที่เงินเดือนดีทั้งนั้น ถูกไหม

มีใครบ้างตั้งต้นคิดก่อนว่า ไม่เป็นไร เอางานดีเงินดีให้คนอื่นไป ฉันขอเป็นนางเอกสวยๆ ทำงานรับเงินน้อยๆ ก็พอ เมื่อใครๆ ก็อยากได้งานที่ได้เงินเดือนดี มาดูกันดีกว่าว่างานแบบนี้มีอยู่ที่ไหน

นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเรียนจบออกจากรั้วมหาวิทยาลัยหมาดๆ กำลังมองหางานทำ ต้องบอกน้องๆ ไว้ก่อนว่า งานระดับเจ้าหน้าที่เริ่มตั้งไข่ที่ได้เงินเดือนสูง ส่วนใหญ่ล้วนต้องเรียนจบเฉพาะทางทั้งนั้นเช่น งานโทรคมนาคม ซึ่งสาเหตุที่เงินเดือนดี เพราะธุรกิจนี้กำลังขยายในช่วงนี้มาก แต่จำนวนคนที่เรียนจบด้านนี้มีไม่พอเลยต้องจ้างด้วยค่าตัวสูง

ขณะที่สาขาวิชาชีพบางอย่างเป็นสาขาที่บริษัทไหนๆ ก็มองหา เช่น การวิเคราะห์ธุรกิจ กฎหมาย การบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะการนำข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) มาใช้ งานแบบนี้ได้เงินเดือนสูงเช่นกัน ด้านงานไอทีเป็นอีกกลุ่มที่คนเรียนจบน้อย แต่ความต้องการสูงมาก ส่วนแพทย์ก็เป็นอีกอาชีพเงินเดือนสูง

จะเห็นได้ว่าทุกอาชีพที่กล่าวมา ต้องเรียนมาเฉพาะทางทั้งสิ้น!

อย่างไรก็ตาม ก็มีบางอาชีพที่ในตอนต้นอาจจะดูเหมือนเงินเดือนไม่มาก แต่พอทำไปสักระยะ ชั่วโมงบินสูง เงินเดือนระยะยาวดูเหมือนจะดีกว่ามาก ได้แก่ งานบัญชี ใหม่ๆ ประสบการณ์ไม่มีก็ยังไม่ได้เงินเดือนมากนัก แต่เก็บประสบการณ์ไปมากๆ อนาคตมีสิทธิไต่เต้าไปถึงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ซึ่งบางบริษัทตำแหน่งนี้เงินเดือนสูงกว่าผู้บริหารในระดับเดียวกันเสียอีก

สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนสาขาวิชาชีพเฉพาะทาง เรียนสายสังคมทั่วๆ ไป อย่าเพิ่งเสียใจ เพราะยังมีอีกหลายวิธีที่จะพาเราไปสู่การได้เงินเดือนดีๆ เพียงแต่เราต้องเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองก่อน ด้วยการเสริมทักษะพิเศษต่างๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการในการทำงานยุคปัจจุบัน

เช่น การเสริมทักษะภาษาอังกฤษ ทำให้ตัวเองเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญใช้ภาษาอังกฤษมากๆ การเสริมทักษะทางด้านการนำเสนองาน และการเพิ่มทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ถ้ามีทักษะเหล่านี้อยู่กับตัวเงินเดือนที่มากกว่าคนในอาชีพเดียวกันรออยู่ข้างหน้าแน่นอน!

ทั้งนี้ นพวรรณ ฝากเตือนด้วยว่า แม้มีสารพัดทักษะล้ำเลิศ เป็นคนเก่งมาก แต่ชอบเกี่ยงงาน หรือเป็นคนอยู่ไม่ทน ทำงานที่ไหนได้ไม่นาน เปลี่ยนงานบ่อยๆ คือ มีระยะเวลาทำงานสั้นมากแค่ 3-6 เดือน หรือต่ำกว่า 1 ปี บางทีบริษัทที่หาคนอยู่อาจจะมองคนเหล่านี้ว่า เป็นคนจับจด ทำงานยังไม่ทันจะเชี่ยวชาญก็ย้ายไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นคนที่ไม่ถูกเลือกเอาได้ง่ายๆ

“การเปลี่ยนงานบ่อย สะท้อนว่าคนนั้นต้องมีปัญหา เขาจะมองว่าเป็นคนไม่มีความอดทน เพราะถ้าเป็นคนเก่งบริษัทส่วนใหญ่จะมีวิธีการรักษาคนเก่งให้อยู่ด้วยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การทำงานยาวไม่เปลี่ยนงานบ่อย ที่บริษัทสมัยนี้มอง ก็คงไม่ได้หมายถึงอยู่กัน 5-10 ปี คนรุ่นใหม่นี้คงไม่มีแล้ว แต่ขอแค่อยู่ 1-2 ปีขึ้นไป บริษัทต่างๆ ก็เข้าใจได้เพราะขนาดกูเกิลที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่คนอยากทำงานมาก อายุการทำงานเฉลี่ยยังอยู่ที่ 2 ปี”

บอกเทคนิคหางานเงินดีให้มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มหางานกันไปแล้ว คราวนี้ขอมาต่อกันที่เทคนิคสำหรับคนที่ทำงานอยู่ในบริษัทเดิม แล้วกำลังต้องการมองหางานใหม่ที่ได้เงินดีกว่ากันบ้าง

นพวรรณ แนะนำคนกลุ่มนี้ว่า ก่อนจะย้ายงาน อยากให้เริ่มจากถามตัวเองก่อนว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้อยากย้าย

ถ้าเพียงต้องการหลีกหนีปัญหา การย้ายงานไม่ใช่คำตอบ จงจำไว้ว่า ทุกที่มีปัญหา ไปที่ใหม่ก็มีปัญหาต้องเจอแน่นอน

แต่ถ้าคุณต้องการไปเพื่อเรียนรู้ ได้รับโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต ก็ควรเริ่มจากสังเกตในตลาดงานก่อน ไปดูโฆษณา ประกาศหางานในเว็บบริษัทจัดหางานบ้างว่า ตำแหน่งงานที่เราอยากไปทำ บริษัทต่างๆ ให้ทำอะไรบ้าง แล้วกลับมาจับคู่ว่าตัวเองมีทักษะเหล่านั้นหรือยัง หากยังไม่มีทักษะนั้น ไปเรียนรู้ซะ!

ลำดับถัดมาคือ ถ้าเจองานใหม่ที่ใช่ และตัวเองก็มีทักษะแล้ว อย่ามองเพียงแค่เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียว ส่วนใหญ่คนที่มองหางานใหม่มักไปมองว่า ถ้าจะไปที่ใหม่ต้องได้เงินเดือนดีกว่า

อยากแนะนำว่า บางครั้งเราต้องถอยหนึ่งก้าวเพื่อเดินไปข้างหน้าสี่ก้าว สรุปง่ายๆ ก็คือ ให้มองโอกาส มากกว่ามองที่เงินเดือน

“ถ้าอยากเปลี่ยนสายงานที่ทำ เดิมทำงานอยู่ในธุรกิจขาลง ต้องการเปลี่ยนไปทำในธุรกิจขาขึ้น อาจต้องยอมผ่อนปรน ยอมได้เงินเดือนลดลงก่อน เมื่อไปทำงานนั้นแล้วสุดท้ายอาจได้เงินเดือนมากขึ้นอย่างที่เราต้องการ อยู่ที่เราทำได้หรือไม่”

งานดี...เงินงาม มีที่ไหน

 

นพวรรณ ฝากคาถา 8 ประการดีๆ ไว้ให้มนุษย์เงินเดือนที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองปฏิบัติให้ได้ คือ

1.ต้องขวนขวายหาความรู้ ไม่ใช่แค่รู้เฉพาะทางแต่ต้องรู้ทั่วไป รู้ทุกอย่าง สรุปคือรู้ทุกเรื่องโดยมีความลึกในแต่ละเรื่อง เพื่อเชื่อมโยงสถานการณ์รอบตัว คว้าโอกาสต่างๆ ได้ทัน

2.ต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็น ไม่ใช่เป็นทาสเทคโนโลยี มานั่งเสพเทคโนโลยีไม่เป็นประโยชน์ ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ทำงานแล้วได้ประโยชน

3.ต้องมีทักษะภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ 2 หรือ 3 4 5 ขึ้นไป

4.ต้องจัดการกับข้อมูลได้ บางทีข้อมูลที่ได้อาจมีมากเกินไป อาจไม่ต้องใช้หมดเลย ต้องรู้จักตัดข้อมูลบางอย่างที่ทำให้สับสนออกไป เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง

5.ต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว อย่าคิดว่าเราเก่ง อายุเท่านี้แก่กว่าเด็กต้องเก่งกว่าเด็ก ต้องรู้จักรับฟังทั้งคนที่แก่กว่าและเด็กกว่า รวมถึงคนอายุเท่ากัน เพราะบางครั้งเขาอาจมีความรู้บางเรื่องมากกว่าที่เรามี

6.ต้องปรับตัวได้ดี ยิ่งยุคนี้องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงเร็วตามเทคโนโลยีใครปรับตัวไม่ได้ก็ไม่ทันเพื่อน

7.ต้องมีมัลติทาสก์ มีทักษะทำงานได้มากกว่า 1 อย่าง บางคนทำได้ แต่ไม่ทำ กลัวตัวเองมีงานเยอะ คิดแบบนี้ไม่ได้เพราะเราต้องกระตือรือร้น รู้จักคิดก่อน เตรียมพร้อมก่อนเหตุการณ์เกิด เพื่อแก้ไขไม่ให้เกิด หากเราเป็นฝ่ายรอ เมื่อสถานการณ์มาเราอาจเปลี่ยนไม่ทันแล้ว

8.ต้องมีทักษะการแก้ไขปัญหา แม้ปัญหาจะยาก หรือเป็นปัญหาที่มีหลายองค์กร หลายแผนกเกี่ยวข้อง เพราะเวทีเศรษฐกิจโลก (เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม) วิจัยมาแล้วว่า ทักษะการแก้ไขปัญหา คือทักษะอันดับต้นๆ ที่ปี 2563 มนุษย์ควรมีเพื่อไว้แก้ไขปัญหาที่จะล้ำลึกมากขึ้น

เมื่อรู้แนวทางที่จะพาเราไปสู่การเป็นมนุษย์เงินเดือนระดับพรีเมียมได้เงินดี งานดีแล้ว อย่าลืมลงมือทำ เพราะงานดีๆ เงินดีๆ จะไม่วิ่งมาหาคนที่ยืนอยู่เฉยๆ รอเวลา และโอกาสแน่นอน