posttoday

เสบียงสำรอง พร้อมชนความเสี่ยงระยะสั้น

16 สิงหาคม 2560

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธุ์ THE MONEY COACH

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธุ์ THE MONEY COACH

สําหรับคนที่ วางแผนจะมีอิสรภาพทางการเงิน พื้นฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่มีไม่ได้ก็คือ การสะสมเงินสำรองไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน (Emergency Basket) ครับ

การสะสมเงินก้อนที่ว่านี้อาจไม่ได้มากมายถึงขั้นทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองรวย หรือมีเงินมากมาย แต่ก็มากพอที่จะใช้บริหารจัดการค่าใช้จ่ายในวันที่ชีวิตเกิดเรื่องไม่คาดฝัน อาทิ ตกงาน ถูกเบี้ยวค่าแรง หรือจ่ายไม่ตรงเวลา ฯลฯ ได้โดยไม่ต้องก่อหนี้เพิ่มให้กับตัวเอง

สำหรับคนทำงานทุกคน ผมแนะนำว่าเราควรจะมีเงินออมเก็บสะสมไว้ให้มีเพียงพอใช้จ่ายได้อย่างน้อย 6 เดือน ยกตัวอย่างง่ายๆ หากตัวเรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนตกเฉลี่ยเดือนละ 3 หมื่นบาท ก็ควรมีเงินสะสมเอาไว้เผื่อสำรองใช้จ่าย เท่ากับ 30,000 x 6 = 180,000 บาท

แต่สำหรับคนที่วางแผนจะลาออกจากการทำงานมาเป็นผู้ประกอบการ หรือทำอาชีพฟรีแลนซ์ ก็อาจเผื่อเหลือเผื่อขาด เผื่อแผนการไม่เป็นไปดังที่ใจหวังเพิ่มอีกสัก6 เดือน รวมเป็น 1 ปีเลยก็น่าจะเข้าที

จากประสบการณ์ให้คำปรึกษาของผม พบว่าหลายคนที่ทำกิจการส่วนตัวและฟรีแลนซ์ไม่คิดเผื่อเงินก้อนนี้ไว้ เมื่อเริ่มกิจการหรือเริ่มชีวิตฟรีแลนซ์แล้วพบกับสภาวะรายได้ที่ไม่แน่นอน ทำให้หลายคนต้องเข้าสู่วงจรหนี้ ส่งผลให้ชีวิตเจ้าของกิจการและอาชีพอิสระจบลงแบบไม่สวยเท่าไร

อะไรใดๆ ในโลกการเงินและการลงทุนนั้น เผื่อไว้สักนิดเหลือย่อมดีกว่าขาดเสมอครับ

โดยส่วนใหญ่แล้ว คนที่วางแผนการเงินกับผม ผมมักจะแนะนำให้เก็บสะสมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเป็นเป้าหมายแรกของการออมเงิน

10 เปอร์เซ็นต์ที่เราหักสะสมก่อนใช้จ่ายในแต่ละเดือน ให้นำมาสะสมในเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินให้เต็มก่อนเป็นอันดับแรก (คนที่ยังติดปัญหาหนี้สิน ก็เริ่มออมได้ตามกำลังนะครับ)

ในระหว่างเดือนระหว่างปี หากมีเงินก้อนใหญ่เข้ามาในชีวิต อาทิ คอมมิชชั่น โบนัส เงินปันผล หรือรายได้อื่นๆ ก็สามารถแบ่งมาเติมตะกร้านี้ เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมาย 6 เดือนได้เร็วยิ่งขึ้น

หลายคนฟังตรงนี้แล้วอาจจะรู้สึกท้อ เพราะจะว่าไปการเก็บเงินสำรองให้ได้ถึงเพียงพอใช้จ่าย 6 เดือนนั้น ถ้าไม่มีวินัยมากพอ ต้องยอมรับครับว่า ไม่ง่ายเลย

คิดง่ายๆ เก็บออมเดือนละ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป้าหมาย 600 เปอร์เซ็นต์ (6 เดือน โดยประมาณ) ก็ต้องใช้เวลาเก็บกันอย่างน้อย 60 เดือน หรือ 5 ปี

แต่ก็อย่างที่บอกครับว่า ถ้ามีวินัยมากพอและมีรายได้ทางอื่นแล้วรู้จักจัดสรรและบริหาร เช่น ทุกครั้งที่ได้คอมมิชชั่น โบนัส หรือเงินปันผล เราตั้งเป็นกติกากับตัวเองเลยว่าจะออมครึ่งหนึ่ง แล้วกินใช้จ่ายเติมเต็มความสุขอีกครึ่งหนึ่ง เพียงเท่านี้ทุกอย่างก็ง่ายและเร็วขึ้นได้แล้ว

คิดง่ายๆ ปีหนึ่งเราได้โบนัสสัก 2 เดือน แล้วเก็บออมในตะกร้าเผื่อฉุกเฉินสัก 1 เดือน แค่นี้ก็ได้เงินออมเพิ่มอีก 1 ใน 6 ของเป้าหมายแล้ว (5 ปี ก็จะเหลือแค่ 3 ปี)

อีกคำถามหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ เราควรนำเงินก้อนที่สะสมเพื่อสำรองเผื่อฉุกเฉินไปเก็บไว้ที่ไหนดี ควรนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้งอกเงยดีหรือไม่

หลักคิดสำคัญของเงินก้อนนี้ ก็คือ การเตรียมพร้อมไว้รับมือกับภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเราไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ดังนั้น เงินก้อนนี้ต้องพร้อม มีสภาพคล่องสูง และไม่ควรอยู่ในที่ที่อาจทำให้มูลค่าของเงินผันผวน เพิ่มหรือลดอย่างรวดเร็วตามภาวะตลาด

ด้วยเหตุนี้ทองคำ หุ้น และอนุพันธ์ต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรลืมไปได้เลย เพราะมีความผันผวนสูง ในขณะเดียวกัน ประกัน หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ล็อกเงินกันยาวๆ ก็อาจไม่เหมาะเช่นกัน เพราะสภาพคล่องต่ำ

ที่น่าจะเหมาะและแนะนำก็คือ เงินฝาก จะออมทรัพย์หรือประจำก็ได้ เพราะถอนได้หมด เงินต้นไม่ลดหายไปไหน(เต็มที่ก็โดนเงินเฟ้อแทะนิดหน่อย)

หรืออาจเลือก กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) หรือตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) ภาครัฐ ที่ลงทุนในพันธบัตรหรือตั๋วเงินคลัง (หุ้นกู้เอกชนชั้นนำก็ยังพอไหว) เพราะพวกนี้ก็สภาพคล่องใช้ได้ ถอนวันนี้พรุ่งนี้ได้เงิน และความเสี่ยงจากมูลค่าเงินลดลงก็ต่ำมาก ถือว่าเป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจ

ถึงตรงนี้ใครหลายคนที่ห่วงเรื่องการลงทุนอาจจะแย้งว่า รอจนเก็บเงินสำรองได้ครบ กว่าจะได้เริ่มลงทุน เสียโอกาสกันพอดี

เรื่องนี้ผมกลับเห็นต่างครับว่า ถ้าเงินแค่แสนสองแสนยังเก็บไม่ได้ ผมว่าอย่าหวังอะไรเรื่องการลงทุนเพื่อความร่ำรวยเลยครับ และในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถเก็บเงินเพิ่มอีกก้อน แบ่งเงินโบนัสหรือคอมมิชชั่นไปสะสมเพิ่มได้อีกส่วนหนึ่ง เพื่อการลงทุนได้ (แถมการลงทุนบางอย่างไม่ต้องใช้เงินตัวเองเสียด้วยซ้ำ)

ระหว่างนี้ก็ศึกษาหาความรู้เพื่อตัวเองให้พร้อม หรือจะทยอยลงทุนขนานกันไปได้ก็ทำได้สบายๆ ครับ

โลกแห่งการเงิน ไม่ได้มีเฉพาะ “โอกาส” เพียงอย่างเดียว แต่ยังมี “ภัย”ทางการเงินที่หากเราไม่เตรียมตัวให้ดีให้พร้อม ชีวิตเราก็ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงตลอดเวลา

ที่สำคัญก็คือ เรารู้ตัวหรือเปล่าว่าทุกวันที่ใช้ชีวิตอยู่นี้ “เราทุกคนมีความเสี่ยง”