posttoday

4 ขั้นตอน เกษียณอย่างเกษม

31 พฤษภาคม 2560

โดย...ธนาวัฒน์ สิริวัฒน์ธนกุล

โดย...ธนาวัฒน์ สิริวัฒน์ธนกุล

4 เหตุผลที่เราทุกคนต้องวางแผนเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นเราอาจไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดีหรือไม่ได้เลยเมื่อเกษียณ เราอาจไม่มีลูกหลานดูแลหรือลูกหลานอาจไม่สามารถดูแลเรา เราอาจไม่มีคนอื่นมาดูแลเราให้ดีเท่ากับปัจจุบัน และเราอาจมีเวลาที่ต้องดูแลตัวเองหลังเกษียณยาวนานขึ้น ย่อมส่งผลทำให้เราทุกคนต้องตื่นตัวและวางแผนเกษียณกันตั้งแต่วันนี้

4 ขั้นตอนต่อไปนี้อาจเป็นบันไดที่ทำให้เราสามารถเกษียณได้อย่างเกษม

1.กำหนดความต้องการเงินทุนสำหรับใช้หลังเกษียณ บางคนอาจคิดว่ามี 10 ล้านบาท 20 ล้านบาทแล้วน่าจะเพียงพอสำหรับใช้ตลอดอายุขัยหลังเกษียณ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่มีตัวเลขมหัศจรรย์ที่จะใช้กับทุกคนว่าจะต้องมีเท่าไรจึงจะเพียงพอ การวางแผนให้เกษียณอย่างเกษมจึงต้องคาดการณ์ก่อนว่าบรรพบุรุษในครอบครัวมีอายุขัยเท่าใด ประวัติสุขภาพของเราและบุคคลในครอบครัวเป็นอย่างไร เพื่อให้สามารถคาดการณ์ระยะเวลาที่จะต้องมีเงินใช้อย่างเพียงพอหลังเกษียณจนสิ้นอายุขัย

การประมาณจำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณนั้น อาจคาดการณ์จากรายได้ก่อนเกษียณ หรือรายจ่ายหลังเกษียณที่ต้องการ การคาดการณ์จากรายได้ก็จะต้องทำการคำนวณรายได้ปีสุดท้ายก่อนเกษียณจากรายได้ในปัจจุบันและทำการปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วพิจารณาว่าเราใช้เงินร้อยละเท่าใดของเงินเดือน แล้วค่อยคำนวณว่าหลังเกษียณจะต้องการใช้เงินปีละเท่าใด อย่างไรก็ตามหากเราสามารถคาดการณ์วิถีชีวิตหลังเกษียณได้อย่างชัดเจน ก็อาจประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับการดำรงวิถีชีวิตดังกล่าวหลังเกษียณว่าจะต้องใช้เงินปีละเท่าใด แต่ต้องไม่ลืมว่าราคาสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่จะต้องใช้หลังเกษียณนั้นจะเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อทุกๆ ปี ถ้าหากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ปีละ 3.5% ก็อาจส่งผลทำให้ราคาสินค้าหรือบริการต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสองเท่าในช่วงระยะเวลา 20 ปี

เมื่อทราบจำนวนเงินที่ต้องการใช้ในแต่ละปีก็คูณด้วยจำนวนปีที่คาดว่าจะอยู่ต่อไปจนสิ้นอายุขัยหลังเกษียณ ก็จะทำให้ทราบว่าต้องใช้เงินเป็นจำนวนเท่าใด

2.คาดการณ์แหล่งเงินทุนสำหรับใช้หลังเกษียณ เมื่อเห็นจำนวนเงินที่ต้องการใช้ทั้งหมดหลังเกษียณก็อย่าเพิ่งตกใจจนวิญญาณกระโดดออกจากร่างละครับ บางคนอาจมีแหล่งเงินสำหรับใช้หลังเกษียณโดยที่ไม่รู้ตัว มนุษย์เงินเดือนที่ถูกหักเงินสมทบกองทุนประกันสังคมทุกๆ เดือน เมื่อเกษียณจากงานประจำที่ทำและมีอายุครบ 55 ปี ก็อาจได้รับบำเหน็จหรือบำนาญจากกองทุนประกันสังคม ส่วนข้าราชการที่ถูกหักเงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการก็จะได้รับเงินที่ถูกหักสะสม เงินที่รัฐจ่ายสมทบ และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุน นอกจากนั้นกระทรวงการคลังก็ยังเพิ่มบำเหน็จหรือบำนาญให้กับข้าราชการอีกส่วนหนึ่งเช่นกัน

นอกจากเงินออมภาคบังคับดังกล่าวแล้ว มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจได้รับเงินก้อนใหญ่เมื่อเกษียณอายุ จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่เกิดขึ้นจากความสมัครใจสะสมเงินของตนเอง และการสมทบจากนายจ้าง รวมทั้งยังอาจได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานในกรณีที่เกษียณอายุ เนื่องจากการเกษียณอายุนั้นถือว่าเป็นเหตุที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน

3.คำนวณส่วนขาดของเงินทุนที่ต้องการใช้หลังเกษียณ โดยนำจำนวนเงินที่ต้องการใช้จ่ายทั้งหมดหลังเกษียณหักออกด้วยจำนวนเงินที่มีจากแหล่งเงินทุนสำหรับวัยเกษียณต่างๆ

4.วางแผนการออมและการลงทุนเพื่อเติมเต็มชีวิตหลังเกษียณให้เกษม โดยอาจทำการออมเงินหรือลงทุนในทางเลือกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือกองทุนรวม รวมไปถึงทางเลือกอื่นๆ เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

สำหรับใครที่สนใจอยากวางแผนเกษียณเพื่อจะได้กองทุนของตัวเองที่จัดตั้งโดยมือของเราเองเอาไว้ใช้หลังเกษียณแบบที่ไม่ต้องรอให้เพจไหนหรือรายการทีวีรายการใดมาเอาชีวิตหลังเกษียณที่น่าสงสารของเราไปตีแผ่เพื่อจัดตั้งกองทุนหลังเกษียณให้กับเรา แต่ไม่แน่ใจว่าจะคำนวณถูกต้องหรือไม่ ไม่แน่ใจถึงเงื่อนไขหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของแหล่งเงินสำหรับวัยเกษียณ ก็อาจปรึกษานักวางแผนการเงินคุณวุฒิ CFP ที่คอยให้คำแนะนำอยู่ตามสถาบันการเงินต่างๆ ได้ตั้งแต่วันนี้เลยนะครับ