posttoday

บริหารการเงิน... ไม่ควรมองข้าม "การบริหารความเสี่ยง"

05 กุมภาพันธ์ 2560

"ความเสี่ยง"ที่เราควรจะต้องรู้จักวางแผนหาทางรับมือไว้ล่วงหน้า เป็นสิ่งสำคัญ ไม่แพ้เรื่องของการลงทุน

โดย...ศิวัตม์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงิน และที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ

ในทางการเงินแล้ว ผมเชื่อว่าหลายคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเงิน การลงทุนกันมากขึ้น เนื่องจากตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องรู้จักบริหารเงินเก็บที่มีอยู่ให้มันงอกเงย เพื่อให้มีเงินเก็บเพียงพอไว้ใช้ในอนาคต เพราะหลายคนเริ่มจะทราบถึงผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้ข้าวของราคาแพงขึ้น รวมถึงความรู้และเครื่องมือในการบริหารเงินแบบเดิมที่เราเคยชินกัน เช่น การออมเงินในบัญชีเงินฝาก นั้นไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องทำให้เงินเก็บงอกเงยได้อีกต่อไป จากการที่ดอกเบี้ยเงินฝากถูกปรับลดจนต่ำเตี้ยติดดิน

หลายคนจึงเริ่มหันหน้าเข้าหาการลงทุน เพราะมองว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่ง ร่ำรวย ให้ฐานะการเงินหรือชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

นั่นคือสิ่งที่เราทุกคน “คาดหวัง” ว่าหากเราสามารถหาเงินได้เยอะ ลงทุนได้กำไรมาก สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้เพิ่มขึ้น ชีวิตเราจะมีความสุขสบายและมั่นคง จนอาจทำให้เราหลงลืมไปว่า อันที่จริงแล้ว ชีวิตนั้นไม่เคยราบรื่นง่ายดายอย่างที่เราคิด เพราะมักจะมีเรื่องที่ “คาดไม่ถึง” เป็นปัญหาเกิดขึ้นกับเราอยู่เสมอ

ซึ่งผมเชื่อว่า หากใครไม่ได้มองโลกในแง่ดีจนเกินไป ก็ต้องยอมรับว่านี่คือเรื่องจริง ไม่ใช่คำพูดที่เกินเลย

คำถามก็คือ ถ้าหากชีวิตเรามันเกิดปัญหา หรือเรื่องที่คาดไม่ถึงขึ้นมา เราจะมีวิธีจัดการกับมันยังไง?

ที่สำคัญกว่านั้นคือ ถ้าเราคาดการณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เราจะมีวิธีการป้องกันหรือหาวิธีรับมือเอาไว้ก่อนล่วงหน้าได้อย่างไร? เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นแต่แรก หรือถ้าเกิด ก็ช่วยบรรเทาความเสียหายลงได้ ดีกว่าที่จะมานั่งแก้ไขภายหลังจากที่เกิดปัญหาแล้ว

นี่แหละครับคือ “ความเสี่ยง” ที่เราควรจะต้องรู้จักวางแผนหาทางรับมือไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ไม่แพ้เรื่องของการลงทุน หรือการเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้กับตัวเอง เพราะสำหรับความเสี่ยง “ทางการเงิน” นั้น ถ้าหากมันเกิดกับเราแล้ว ย่อมจะทำให้เราต้องสูญเสียเงินทอง หรือเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยที่เราไม่คาดคิด เป็นเหมือนอุปสรรคคอยขัดขวางไม่ให้เราไปถึงเป้าหมายทางการเงินอย่างที่เราตั้งใจไว้

ซึ่งความเสี่ยง ที่อาจจะทำให้ตัวเราเอง ต้องเสียเงินเสียทองโดยไม่ทันตั้งตัว ก็เช่น :

จากการเป็นโรค เช่น เจ็บป่วย ตั้งแต่ป่วยเล็กๆ น้อยๆ จนอาจไปถึงขั้นเป็นโรคร้ายแรง อย่างโรคมะเร็ง เป็นต้น

จากอุบัติเหตุ เลือดตกยางออก กระดูกหัก หรือถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ พิกลพิการ ซึ่งนอกจากเราจะเสียค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังอาจทำให้เราต้องสูญเสียรายได้ เพราะไม่สามารถทำงานได้อีกด้วย

จากความเสียหายของทรัพย์สิน เช่น รถชน น้ำท่วมบ้าน โจรขึ้นบ้าน มือถือหาย ถูกขโมย หรือชิงทรัพย์

จากการลงทุน เช่น ความผันผวนของราคาในตลาดหุ้น หรือพฤติกรรมที่ไม่แน่นอนของผู้เช่า ในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

จากอาชีพ เช่น ถูกไล่ออกจากงาน บริษัทปลดหรือลดคนงานทำให้เราต้องตกงาน หรือการทำงานอิสระที่รายได้ไม่แน่นอน

นอกจากนี้แล้ว ยังอาจจะมีความเสี่ยงที่เกิดจากตัวของเรา แต่ไปสร้างความเสียหายให้แก่คนอื่น เช่น

จากความรับผิดชอบในข้อตกลง เช่น เราทำงานผิดพลาด หรือไม่สามารถทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ได้ ทำให้บริษัท หรือคู่ค้าเสียหาย

จากชีวิตของเรา คือ การที่เราอาจจะจากไปก่อนวัยอันควร แล้วทำให้คนที่เราเลี้ยงดูอยู่ เช่น ลูก ครอบครัว หรือพ่อแม่ ต้องเดือดร้อน เพราะเป็นคนที่ต้องพึ่งพารายได้จากเราเพื่อความอยู่รอด

จะเห็นได้ว่า ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเรา ล้วนต้องเจอกับความไม่แน่นอนต่างๆ เหล่านี้มากมาย ดังนั้น เราจึงควรต้องรู้จักวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว มีอยู่ด้วยกัน 4 วิธี ซึ่งก็คือ

1.การ “รับ” ความเสี่ยง คือ การที่เราพิจารณาแล้วว่า เรามีความสามารถเพียงพอที่จะยอมรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นไว้เองได้ โดยไม่เดือดร้อน เช่น เรามีเงินหรือทรัพย์สินที่เตรียมไว้เองจำนวนมากพอที่จะชดใช้ค่าเสียหายเองได้ โดยไม่กระทบกระเทือนกับความมั่งคั่งโดยรวม

2.การ “หลีกเลี่ยง” ความเสี่ยง คือ การพยายามลด หรือไม่ให้เกิดความเสียหาย ด้วยการไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เอื้อต่อความเสี่ยงนั้น เช่น รู้ว่าถ้าเล่นการพนัน อาจจะทำให้เสียเงินเสียทองได้ ก็ไม่ควรเล่น หรือเห็นว่าฝนกำลังตกหนัก ถ้าขับรถอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ก็รอให้ฝนหยุดก่อน เป็นต้น

3.การ “ควบคุม” ความเสี่ยง คือ การที่เราอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงได้ 100% ทำให้เราต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อช่วยลดความเสียหายหรือโอกาสที่อาจเกิดความเสี่ยงนั้นๆ ลง เช่น คาดเข็มขัดนิรภัย ก่อนขับรถทุกครั้ง  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาให้ร่างกายแข็งแรง หรือการติดตั้งระบบนิรภัย เพื่อป้องกันโจรขโมย เป็นต้น

4.การ “ถ่ายโอน” ความเสี่ยง คือ การที่เราหาคนอื่นมารับความเสี่ยงแทนเรา โดยเรายอมจ่ายเงินส่วนหนึ่งให้ เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งก็คือการ “ทำประกัน” โดยที่เราจ่ายเบี้ยให้บริษัทประกัน เพื่อให้บริษัทมารับความเสี่ยงแทนเรา ซึ่งเบี้ยที่จ่ายถือเป็นเงินส่วนน้อย เมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นการ “จ่ายน้อย” เพื่อแลกกับ “วงเงินคุ้มครองสูง” นั่นเอง

เมื่อเข้าใจแล้วว่า ชีวิตของเรามีความเสี่ยง และความไม่แน่นอน ที่อาจทำให้เราต้องสูญเสียความมั่งคั่งระหว่างได้ และรู้วิธีบริหารจัดการความเสี่ยงตามแนวทางต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เราก็ควรมาพิจารณาดูชีวิตตัวเองครับว่า ชีวิตของเรามีความเสี่ยงเรื่องใดบ้าง ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และแต่เรื่องควรใช้วิธีไหนในการจัดการให้เหมาะสม

เมื่อพิจารณาจาก “โอกาส” และ “ขนาด” ของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการทำประกัน ถ่ายโอนความเสี่ยง จะเหมาะกับการจัดการความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่หากเกิดแล้วจะมีความเสียหายมาก เช่น การเกิดอุบัติเหตุ  การเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง การสูญเสียชีวิต เป็นต้น

เราจึงควรทำประกันกับความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ไว้ เปลี่ยนความเสียหายที่ไม่แน่นอน และอาจจะมีมูลค่ามหาศาล ให้กลายเป็นเรื่องแน่นอน และควบคุมได้ เท่ากับเบี้ยประกันที่เราจ่ายในแต่ละปีนั่นเองครับ

แล้วพบกันในตอนต่อๆ ไป ที่ผมจะพาไปเจาะลึกเรื่องต่างๆ ของการทำประกันและการบริหารเงินกันครับ