posttoday

นายจ้างแสนดี มี Provident Fund

12 มกราคม 2560

คงไม่มีอะไรจะสร้างขวัญกำลังใจให้มนุษย์เงินเดือนได้มากเท่ากับ “โบนัสก้อนโต” ที่ตั้งตารอกันปีละครั้ง (บางบริษัทอาจจะมีลุ้นกันมากกว่าปีละครั้ง...น่าอิจฉาชะมัด) แต่จะดีกว่าไหม ถ้าจะมี “โบนัสรายเดือน” ให้ด้วย

คงไม่มีอะไรจะสร้างขวัญกำลังใจให้มนุษย์เงินเดือนได้มากเท่ากับ “โบนัสก้อนโต” ที่ตั้งตารอกันปีละครั้ง (บางบริษัทอาจจะมีลุ้นกันมากกว่าปีละครั้ง...น่าอิจฉาชะมัด) แต่จะดีกว่าไหม ถ้าจะมี “โบนัสรายเดือน” ให้ด้วย

อย่าเพิ่งคิดว่า “บ้าไปแล้ว จะมีนายจ้างที่ไหนใจดีให้โบนัสรายเดือน”

เพราะนายจ้างใจดีมีอยู่จริงๆ และมีอยู่มากถึง 17,497 บริษัท ขณะที่พนักงานผู้โชคดีมีโบนัสรายเดือนมีอยู่ทั้งหมด 3,088,102 คน

โบนัสรายเดือนที่ว่านี้ก็คือ เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงานที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนอยู่ทุกๆ เดือน

เพราะฉะนั้นก่อนที่จะได้โบนัสเป็นเงินสมทบจากนายจ้าง เราต้องสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเสียก่อน โดยเลือกได้ว่า จะส่งเงินสะสมเข้ากองทุนเดือนละเท่าไหร่ ซึ่งตามกฎหมายแล้วเราสามารถสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของค่าจ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละบริษัทด้วยว่า จะให้สะสมได้เท่าไรบ้าง

เมื่อเราเริ่มสะสมแล้ว นายจ้างก็จะช่วยสมทบให้ในอัตรา 2-15% ของค่าจ้าง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเท่ากับลูกจ้างก็ได้

และถ้าเราลาออกจากกองทุน (ไม่ว่าจะออกด้วยสาเหตุก็ตาม) เราจะได้รับเงินส่วนที่เราสะสมไว้กับกองทุน รวมทั้งดอกผลที่เกิดจากการลงทุนทั้งหมด และนายจ้างไม่มีสิทธิเข้ามายุ่มย่ามกับเงินก้อนนี้เด็ดขาด

แต่จะได้เงินสมทบที่นายจ้างนำส่งกองทุนเต็ม 100% หรือไม่ หรือจะได้มากหรือน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่า เราทำงานอยู่กับบริษัทนี้นานแค่ไหน เพราะนายจ้างบางรายจะกำหนดการให้เงินสมทบเป็นแบบขั้นบันไดตามอายุงาน เช่น

อายุงานน้อยกว่า 3 ปี จะไม่ได้รับเงินสมทบ แต่ถ้าอายุงานอยู่ระหว่าง 3-5 ปี ก็จะได้รับ 50% และจะได้รับเต็มทั้ง 100% ต่อเมื่ออายุงานเกิน 5 ปี

ลองนึกดูว่า ถ้าสะสมไปเรื่อยๆ จนถึงวันเกษียณก็จะได้เงินก้อนใหญ่ขนาดไหน

และเพื่อให้โบนัสรายเดือนจากนายจ้างเกิดประโยชน์มากที่สุดก็ต้องออมให้เต็มสิทธิ และถ้ากองทุนเปิดให้เลือกนโยบายการลงทุนได้เอง (Employee’s Choice) ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสม อายุน้อยๆ รับความเสี่ยงได้มาก ก็ลงทุนหุ้นได้มาก และจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนมากขึ้น

ถ้าทำได้แบบนี้ เวลาดูผลดำเนินงานของกองทุนจะได้ชื่นใจกับยอดเงินออมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถ้าขาดทุนก็จะเข้าใจว่า นี่เป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ต้องกังวลเกินไป ถ้าได้เลือกนโยบายที่เหมาะแล้ว

นอกจากนี้ เงินที่สะสมเข้ากองทุนยังสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 หมื่นบาท (ส่วนที่เกิน 1 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 4.9 แสนบาท ซึ่งไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง ให้หักจากเงินได้)

และเมื่อถึงวันเกษียณ (อายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี) เงินก้อนที่ได้ก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินก้อนที่ได้รับจากกองทุนไปเสียภาษี

แต่ถ้าเอาเงินออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาเกษียณก็จะต้องเสียภาษี 

ถ้าทำงานมามากกว่า 5 ปี มี 2 ทางเลือก คือ

(1) นำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมารวมคำนวณภาษีเงินได้ หรือ

(2) แยกคำนวณภาษี ตามขั้นตอนต่อไปนี้ คือ ขั้นตอนแรก นำเงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสมรวมเข้าด้วยกัน จากนั้นหักออกด้วยค่าใช้จ่าย 7,000 คูณจำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าใดหักค่าใช้จ่ายได้อีกครึ่ง (หาร 2) จะเท่ากับจำนวนเงินที่นำไปคำนวณภาษี

แต่ถ้าทำงานมาน้อยกว่า 5 ปี ไม่ได้รับยกเว้นภาษี ต้องนำเงินในส่วนของเงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสม มารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี

อย่างไรก็ตาม เรามีวิธีเลี่ยงภาษีง่ายๆ เพียงแค่เลือกที่จะออมต่อกับกองทุนเดิม หรือโอนออกไปลงทุนต่อในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (เรียกง่ายๆ ว่า RMF for PVD) เท่านี้ก็ไม่ต้องเสียภาษีสักบาท แถมยังได้ออมต่อเนื่องไปจนเกษียณอายุอีกด้วย