posttoday

1 ล้านแรกในชีวิต หาได้จากไหนกัน

03 มกราคม 2560

สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นเศรษฐีเงินล้าน ก็คือ “1 ล้านแรกในชีวิต”

โดย... สวลี ตันกุลรัตน์

สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นเศรษฐีเงินล้าน ก็คือ “1 ล้านแรกในชีวิต” ซึ่งบางคนกว่าจะได้มาก็เลือดตาแทบกระเด็น ขณะที่บางคนดูเหมือนจะได้มาง่ายๆ สบายๆ จนน่าอิจฉา แต่รับประกันได้เลยว่า สำหรับคนที่สร้างตัวขึ้นมาจาก “เงินน้อย” มาเป็น “เงินล้าน” ได้ด้วยตัวเองนั้น ไม่เคยมีคำว่าง่าย อย่าคิดว่าจะสบาย

ถ้าจะนับจำนวนเศรษฐีไทยแบบคร่าวๆ คาดว่าจะมีมากกว่า 1 ล้านคน โดยประเมินจากจำนวนบัญชีเงินฝากที่มีเงินฝากตั้งแต่ 1-10 ล้านบาท มีอยู่ทั้งหมด 1,289,261 บัญชี (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2559 จากธนาคารแห่งประเทศไทย) โดยเฉลี่ยแต่ละบัญชีจะมีเงินฝากประมาณ 2.55 ล้านบาท

เพราะเชื่อได้ว่า คนที่เก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝากได้มากกว่า 1 ล้านบาทจะต้องมีสินทรัพย์ หรือความมั่งคั่งมากกว่านี้หลายเท่า

และแน่นอนว่า คนกว่าล้านคนนี้จะมีเส้นทางและวิธีการสร้าง “1 ล้านแรกในชีวิต” ที่ไม่เหมือนกัน แต่เราสามารถเดินตามแนวทางของเขาได้ แค่ลองไปศึกษาวิธีคิด วิธีการทำงานที่ทำให้ได้เงินล้านแล้วเลือกมาสักคน (หรือหลายคนก็ได้) ที่ชอบ จากนั้นก็ยึดเอาเขาเหล่านั้นเป็นต้นแบบ

ในที่นี้ขอเลือกมา 3 เส้นทางจากผู้ชาย 3 คน ที่แทบจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลย แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือ ความมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับเส้นทางที่พวกเขาเลือกแล้ว

1 ล้านแรกในชีวิต หาได้จากไหนกัน เพียรไกร อัศวโภคา

เพียรไกร อัศวโภคา

- เห็นโอกาสจากธุรกิจที่ “ในไทยยังไม่มีใครทำ”

- ทุ่มเทสุดพลัง ทำอย่างจริงจังและจดจ่อ

“เพียรไกร อัศวโภคา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวลธ ครีเอชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล แม้จะเริ่มต้นวัยเด็กจากครอบครัวที่ธุรกิจประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจ และมีชีวิตวัยเรียนที่ขอแค่ “พอผ่าน” แต่เพราะนิสัยที่มุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับสิ่งที่เขาตั้งใจจริง ทำให้เขามี “เงินล้าน” ได้จากการทำธุรกิจให้บริการวางแผนการเงิน

“หลังจากเรียนจบและทำงานประจำมาระยะหนึ่ง ผมประสบอุบัติเหตุ ซึ่งทำให้ได้นั่งคิดว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เราจบมหาวิทยาลัยระดับท็อป เราต้องรวยสิแต่จะทำอย่างไร จึงไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเจอว่า ในต่างประเทศมีอาชีพที่ปรึกษาการเงิน ที่จะช่วยบอกว่า เราต้องบริหารเงินอย่างไร ลงทุนอย่างไร ซึ่งผมอยากเจอเขามาก แต่ในเวลานั้นยังไม่มีอาชีพนี้ในประเทศไทย”

แต่แทนที่เขาจะล้มเลิกความตั้งใจที่จะตามหานักวางแผนการเงิน เขากลับมองว่า นี่คือโอกาส

“ผมคิดว่ามีคนแบบผม คนที่ไม่รู้เรื่องการเงินและต้องการที่ปรึกษา ผมเลยเปลี่ยนจากวิศวะมาเป็นด้านการเงิน”

แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยมีความรู้มาก่อน แต่เขาไม่ปล่อยให้คำว่า “ไม่ได้จบมาด้านนี้” มาปิดกั้นโอกาส จากนั้นเขาก็เดินหน้าหาความรู้ทำความเข้าใจ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยใช้เวลาเพียง 1 ปี

“เหมือนกับเราต้องการจุดจรวดขึ้นไปบนท้องฟ้า ช่วงที่กำลังจะขึ้นต้องใช้พลังงานมากที่สุด แต่เมื่อขึ้นมาแล้วพลังงานที่เหลือจะขับเคลื่อนต่อไปได้เอง เพราะฉะนั้นในช่วงแรกต้องทำอย่างสุดโต่ง

ถ้าเราทำแบบสบายๆ วันละ 8 ชั่วโมงอาจสู้การตั้งใจทำแค่ 2 ชั่วโมงไม่ได้ และถ้าอยากจะเป็นเลิศให้ตั้งใจทำวันละ 8 ชั่วโมงได้ไหม หรือ ถ้าต้องการทำให้ได้ยอดเยี่ยมตั้งใจทำวันละ 12-16 ชั่วโมงไปเลย ตอนเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ ผมจดจ่อแบบนี้อยู่ 1 ปี ในที่สุดก็จุดระเบิดติด”

อย่างไรก็ตาม เพียรไกร บอกว่า การทุ่มเทให้กับงานอย่างสุดโต่งแบบนี้ควรทำเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะไม่อย่างนั้นชีวิตจะเสียสมดุล

1 ล้านแรกในชีวิต หาได้จากไหนกัน กระทรวง จารุศิระ

กระทรวง จารุศิระ

- สะสมเงินก้อน ลงทุนหุ้นแบบ “เทหมดหน้าตัก”

- เงินน้อยต้องกล้า แต่กล้าอย่างรอบคอบ

ก่อนที่จะมาก่อตั้งและเป็นประธานกรรมการ ซุปเปอร์เทรดเดอร์ กรุ๊ป “กระทรวง จารุศิระ” เจ้าของตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ตลาดหุ้นไทย ปี 2556 เคยนั่งเฝ้าร้านทอง (กิจการของครอบครัว) ที่ดูแล้วไม่เหมาะกับ “ขาลุย” อย่างเขา

เพราะฉะนั้นในเวลาว่างระหว่างรอลูกค้าเข้าร้าน เขาก็เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นด้วยเงินสะสมส่วนตัวที่มีอยู่ 3 แสนบาท โดยใช้แนวทางการเลือกหุ้นจากปัจจัยพื้นฐาน บวกกับจังหวะตลาดหุ้นที่ดีต่อเนื่องทำให้ได้ผลตอบแทน 100% ในระยะเวลาไม่กี่เดือน

“การเลือกหุ้นจากปัจจัยพื้นฐานและถือลงทุนระยะยาว หรือ VI เป็นแนวทางการลงทุนที่ดี แต่เราเงินน้อย อยากรวยจากการลงทุนในตลาดหุ้นจะใช้แนวทางนี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ก็เลยแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งประมาณ 80% จะลงทุนแบบ VI และอีก 20% จะซื้อขายทำกำไรระยะสั้น หรือลงทุนแบบ Day Trade

ตอนเฝ้าร้านทองมันว่าง เห็นราคาหุ้นเคลื่อนไหวระหว่างวัน เห็นพฤติกรรมของ ‘หุ้นซิ่ง’ ว่าหุ้นที่ราคาเริ่มปรับขึ้นแล้วจะไม่จบง่ายๆ จึงเริ่มเข้าไปลงทุนหุ้นประเภทนี้ ซึ่งมีทั้งกำไร ขาดทุน และขายหมูไปก็มาก แต่ผมจะไม่ยอมติดดอยเด็ดขาด เพราะผมมีเงินทุนจำกัด จึงต้องหมุนเงินตลอด”

วินัยการลงทุนอีกอย่างหนึ่งของ กระทรวง คือ ทุกครั้งที่มีกำไรจากการลงทุนแบบ Day Trade เขาจะเติมเงินเข้าไปในพอร์ตที่เป็น VI ทำให้พอร์ตหุ้นโตขึ้นเรื่อยๆ ผ่าน 1 ล้านแรกได้ไม่ยาก และขึ้นไปจนขึ้นไปถึง 5 ล้านบาท แต่ก็ไม่รอดจากวิกฤตต้มยำกุ้งไปได้... พอร์ต 5 ล้านบาท เหลือเพียง 1.7 ล้านบาท

แต่ไม่ได้ทำให้เขาเข็ดจากตลาดหุ้นเขาลุกขึ้นมาสู้ต่อในฐานะ “นักลงทุนเต็มเวลา” และในวันนี้ถ้าจะบอกว่า เขาเป็นนักลงทุนพอร์ตร้อยล้านอาจจะน้อยเกินไป

“1 ล้านแรกที่บอกว่ายากที่สุด มันยากที่สุดจริงๆ สำหรับคนที่มีเงินทุนเริ่มต้นน้อยไม่ควรกระจายลงทุนหุ้นหลายตัว ผมแนะนำให้เลือกหุ้นที่ดีที่สุดมา 1-2 ตัวแล้วเทให้หมดหน้าตัก เพราะถ้าทำแบบนี้เราจะศึกษาหุ้นตัวนั้นอย่างดีที่สุด ลงทุนอย่างรอบคอบที่สุด บางจังหวะที่ควรกล้าจะต้องกล้า แต่กล้าอย่างมีหลักการ”

1 ล้านแรกในชีวิต หาได้จากไหนกัน ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์

- ทำงานประจำ หาความรู้เพิ่ม เติบโตในสายงาน

- ออมเงินจากการทำงาน ทยอยลงทุนในตลาดหุ้นและกองทุนรวม

แม้ว่า จะเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งด้วยเงินเดือนไม่มากนัก แต่ 1 ล้านบาทแรกของ “ศกุนพัฒน์จิรวุฒิตานันท์” กรรมการบริหาร Treasurist (เจ้าของเพจ Thailand Investment Forum หรือ TIF) ได้มาจากการเก็บเล็กผสมน้อยจากการทำงานประจำ และนำไปต่อยอดโดยการลงทุนในตลาดหุ้น

“หลังจากจบ MBA ด้านการเงิน ศ. (พิเศษ) ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาสมัยเรียนปริญญาตรีก็มาชวนไปทำงานที่ บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร ดูแลเรื่องการลงทุน ซึ่งแม้จะตรงสายที่เรียนมา แต่ก็ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน ทำให้ช่วงนั้นต้องไปเรียน ไปสอบใบอนุญาตในการเป็นนักวิเคราะห์และผู้แนะนำการลงทุน เพราะคิดว่ามีประโยชน์ต่อการทำงาน

และเมื่องานหนัก ทุ่มเท ทำให้ได้ผลงานดี พอร์ตของบริษัทชนะตลาดตลอดเวลา ทำได้ดี ก็เลยเติบโตในสายงานที่ทำ รายได้มากขึ้น และมีกำลังในการออมมากขึ้นด้วย”

ศกุนพัฒน์ เล่าว่า เมื่อมีเงินออมครบ 1 แสนบาท เปลี่ยนจากการเก็บในบัญชีเงินฝากมาลงทุนในตลาดหุ้น และใช้วิธีการลงทุนเป็นประจำ (DCA) โดยตั้งกฎของตัวเองเอาไว้ว่า “ถ้าไม่ใกล้ตายจะไม่เอาเงินก้อนนี้ออกมาใช้ จะไม่ถอนเงินที่ลงทุนในหุ้นมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน”

ทุกวันนี้เขายังทำตามกฎข้อนั้นอย่างเคร่งครัด เพียงแต่เปลี่ยนจากการลงทุนในหุ้นทั้งหมด มาเป็นกองทุนรวมแทน เพื่อให้มีเวลาเหลือไปทุ่มเทกับธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น

“ทุกคนอยากมีฐานะดี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ถนัดเรื่องการลงทุน ขณะที่กองทุนรวมเป็นเครื่องมือให้คนทั่วไปลงทุนไป พร้อมๆ กับการทำงานที่ถนัดได้ด้วย” ศกุนพัฒน์ กล่าว

......

หลังจากเห็นที่มาของ 1 ล้านบาทแรก จากทั้ง 3 เส้นทางไปแล้ว พอจะนึกออกบ้างหรือยังว่า “แล้ว 1 ล้านบาทแรกในชีวิตของเราจะมาจากไหน”

บางคนอาจจะพอมีแนวทางอยู่ในใจแต่หลายคนอาจจะไม่มั่นใจ พร้อมกับมีเสียงเล็กๆ ข้างๆ หูว่า “มันไม่มีทางเป็นไปได้”

แต่เชื่อหรือไม่ว่า เราทุกคนสามารถมีเงินล้านได้ไม่ยาก ด้วยเงินออมอยู่น้อยเดือนละไม่กี่ร้อยบาท โดยไม่ต้องทำงานในระดับบริหาร ไม่ต้องทำธุรกิจได้ดี และไม่ต้องเป็นนักลงทุนเต็มเวลา เพียงแต่ต้องนำเงินน้อยนิดของเราไปลงทุนง่ายๆ ในกองทุนรวมที่ทำให้ได้ผลตอบแทนเหมาะสม ในระยะเวลาที่นานพอ

1 ล้านแรกในชีวิต หาได้จากไหนกัน ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา

กว่าจะเป็นเศรษฐีไม่มี "สูตรสำเร็จ"

ในฐานะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทูมอร์โรว์ กรุ๊ป และ บริษัท สต็อคทูมอร์โรว์ ทำให้ "ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา" เห็นเส้นทางความมั่งคั่งของคนรุ่นใหม่ในหลากหลายรูปแบบ เขาจึงยืนยันได้ว่า "วิธีการสร้างความมั่งคั่งของแต่ละคนไม่มีใครเหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จ"

"แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวในยุคนี้คนที่อยากจะมั่งคั่งต้องเป็นคนที่สามารถทำอะไรได้เกิน 1 อย่าง เช่น ทำงานประจาพร้อมกับลงทุนไปด้วย หรือ ทำงานประจำและทำธุรกิจส่วนตัว และต้องทำแต่ละอย่างด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นทุ่มเท ถึงจะทำเยอะแต่ต้องโฟกัส ใช้ศักยภาพ ของตัวเองให้เต็มที่ บริหารเวลาให้ดี"

และไม่ว่าจะทำอะไรคู่กับอะไร ปิยพันธ์บอกว่า "คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกคนจะต้องมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น เพราะฉะนั้นอดทนไว้เถิดจะเกิดผล"

1 ล้านแรกในชีวิต หาได้จากไหนกัน