posttoday

1 ล้านแรกในชีวิต หาได้จากไหนกัน

12 มกราคม 2560

สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นเศรษฐีเงินล้าน ก็คือ “1 ล้านแรกในชีวิต” ซึ่งบางคนกว่าจะได้มาก็เลือดตาแทบกระเด็น ขณะที่บางคนดูเหมือนจะได้มาง่ายๆ สบายๆ จนน่าอิจฉา

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นเศรษฐีเงินล้าน ก็คือ “1 ล้านแรกในชีวิต” ซึ่งบางคนกว่าจะได้มาก็เลือดตาแทบกระเด็น ขณะที่บางคนดูเหมือนจะได้มาง่ายๆ สบายๆ จนน่าอิจฉา แต่รับประกันได้เลยว่า สำหรับคนที่สร้างตัวขึ้นมาจาก “เงินน้อย” มาเป็น “เงินล้าน” ได้ด้วยตัวเองนั้น ไม่เคยมีคำว่าง่าย อย่าคิดว่าจะสบาย

ถ้าจะนับจำนวนเศรษฐีไทยแบบคร่าวๆ คาดว่าจะมีมากกว่า 1 ล้านคน โดยประเมินจากจำนวนบัญชีเงินฝากที่มีเงินฝากตั้งแต่ 1-10 ล้านบาท มีอยู่ทั้งหมด 1,289,261 บัญชี (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2559 จากธนาคารแห่งประเทศไทย) โดยเฉลี่ยแต่ละบัญชีจะมีเงินฝากประมาณ 2.55 ล้านบาท

เพราะเชื่อได้ว่า คนที่เก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝากได้มากกว่า 1 ล้านบาทจะต้องมีสินทรัพย์ หรือความมั่งคั่งมากกว่านี้หลายเท่า

และแน่นอนว่า คนกว่าล้านคนนี้จะมีเส้นทางและวิธีการสร้าง “1 ล้านแรกในชีวิต” ที่ไม่เหมือนกัน แต่เราสามารถเดินตามแนวทางของเขาได้ แค่ลองไปศึกษาวิธีคิด วิธีการทำงานที่ทำให้ได้เงินล้านแล้วเลือกมาสักคน (หรือหลายคนก็ได้)ที่ชอบ จากนั้นก็ยึดเอาเขาเหล่านั้นเป็นต้นแบบ

ในที่นี้ขอเลือกมา 3 เส้นทางจากผู้ชาย 3 คน ที่แทบจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลย แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือ ความมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับเส้นทางที่พวกเขาเลือกแล้ว

เพียรไกร อัศวโภคาเห็นโอกาสจากธุรกิจที่ “ในไทยยังไม่มีใครทำ” ทุ่มเทสุดพลัง ทำอย่างจริงจังและจดจ่อ

“เพียรไกร อัศวโภคา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวลธ ครีเอชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล แม้จะเริ่มต้นวัยเด็กจากครอบครัวที่ล้มละลายเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ และมีชีวิตวัยเรียนที่ขอแค่ “พอผ่าน” แต่เพราะนิสัยที่มุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับสิ่งที่เขาตั้งใจจริง ทำให้เขามี “เงินล้าน” ได้จากการทำธุรกิจให้บริการวางแผนการเงิน

“หลังจากเรียนจบและทำงานประจำมาระยะหนึ่ง ผมประสบอุบัติเหตุ ซึ่งทำให้ได้นั่งคิดว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เราจบมหาวิทยาลัยระดับท็อป เราต้องรวยสิแต่จะทำอย่างไร จึงไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเจอว่า ในต่างประเทศมีอาชีพที่ปรึกษาการเงิน ที่จะช่วยบอกว่า เราต้องบริหารเงินอย่างไร ลงทุนอย่างไร ซึ่งผมอยากเจอเขามาก แต่ในเวลานั้นยังไม่มีอาชีพนี้
ในประเทศไทย”

แต่แทนที่เขาจะล้มเลิกความตั้งใจที่จะตามหานักวางแผนการเงิน เขากลับมองว่า นี่คือโอกาส

“ผมคิดว่ามีคนแบบผม คนที่ไม่รู้เรื่องการเงินและต้องการที่ปรึกษา ผมเลยเปลี่ยนจากวิศวะมาเป็นด้านการเงิน”

แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยมีความรู้มาก่อน แต่เขาไม่ปล่อยให้คำว่า “ไม่ได้จบมาด้านนี้” มาปิดกั้นโอกาส จากนั้นเขาก็เดินหน้าหาความรู้ทำความเข้าใจ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยใช้เวลาเพียง 1 ปี

“เหมือนกับเราต้องการจุดจรวดขึ้นไปบนท้องฟ้า ช่วงที่กำลังจะขึ้นต้องใช้พลังงานมากที่สุด แต่เมื่อขึ้นมาแล้วพลังงานที่เหลือจะขับเคลื่อนต่อไปได้เอง เพราะฉะนั้นในช่วงแรกต้องทำอย่างสุดโต่ง

ถ้าเราทำแบบสบายๆ วันละ 8 ชั่วโมงอาจสู้การตั้งใจทำแค่ 2 ชั่วโมงไม่ได้ และถ้าอยากจะเป็นเลิศให้ตั้งใจทำวันละ8 ชั่วโมงได้ไหม หรือ ถ้าต้องการทำให้ได้ยอดเยี่ยมตั้งใจทำวันละ 12 ชั่วโมงไปเลย ตอนเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ ผมจดจ่อแบบนี้อยู่ 1 ปี ในที่สุดก็จุดระเบิดติด”

อย่างไรก็ตาม เพียรไกร บอกว่า การทุ่มเทให้กับงานอย่างสุดโต่งแบบนี้ควรทำเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะไม่อย่างนั้นชีวิตจะเสียสมดุล

กระทรวง จารุศิระ สะสมเงินก้อน ลงทุนหุ้นแบบ “เทหมดหน้าตัก”  เงินน้อยต้องกล้า แต่กล้าอย่างรอบคอบ

ก่อนที่จะมาก่อตั้งและเป็นประธานกรรมการ ซุปเปอร์เทรดเดอร์ กรุ๊ป “กระทรวงจารุศิระ” เจ้าของตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ตลาดหุ้นไทย ปี 2556 เคยนั่งเฝ้าร้านทอง(กิจการของครอบครัว) ที่ดูแล้วไม่เหมาะกับ “ขาลุย” อย่างเขา

เพราะฉะนั้นในเวลาว่างระหว่างรอลูกค้าเข้าร้าน เขาก็เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นด้วยเงินสะสมส่วนตัวที่มีอยู่ 3 แสนบาท โดยใช้แนวทางการเลือกหุ้นจากปัจจัยพื้นฐาน บวกกับจังหวะตลาดหุ้นที่ดีต่อเนื่องทำให้ได้ผลตอบแทน 100% ในระยะเวลาไม่กี่เดือน

“การเลือกหุ้นจากปัจจัยพื้นฐานและถือลงทุนระยะยาว หรือ VI เป็นแนวทางการลงทุนที่ดี แต่เราเงินน้อย อยากรวยจากการลงทุนในตลาดหุ้นจะใช้แนวทางนี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ก็เลยแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งประมาณ 80% จะลงทุนแบบ VI และอีก 20% จะซื้อขายทำกำไรระยะสั้น หรือลงทุนแบบ Day Trade

ตอนเฝ้าร้านทองมันว่าง เห็นราคาหุ้นเคลื่อนไหวระหว่างวัน เห็นพฤติกรรมของ ‘หุ้นซิ่ง’ ว่าหุ้นที่ราคาเริ่มปรับขึ้นแล้วจะไม่จบง่ายๆ จึงเริ่มเข้าไปลงทุนหุ้นประเภทนี้ ซึ่งมีทั้งกำไร ขาดทุน และขายหมูไปก็มาก แต่ผมจะไม่ยอมติดดอยเด็ดขาด เพราะผมมีเงินทุนจำกัด จึงต้องหมุนเงินตลอด”

วินัยการลงทุนอีกอย่างหนึ่งของ กระทรวง คือ ทุกครั้งที่มีกำไรจากการลงทุนแบบ Day Trade เขาจะเติมเงินเข้าไปในพอร์ตที่เป็น VI ทำให้พอร์ตหุ้นโตขึ้นเรื่อยๆ ผ่าน 1 ล้านแรกได้ไม่ยาก และขึ้นไปจนขึ้นไปถึง 5 ล้านบาท แต่ก็ไม่รอดจากวิกฤตต้มยำกุ้งไปได้... พอร์ต 5 ล้านบาท เหลือเพียง 1.7 ล้านบาท

แต่ไม่ได้ทำให้เขาเข็ดจากตลาดหุ้นเขาลุกขึ้นมาสู้ต่อในฐานะ “นักลงทุนเต็มเวลา” และในวันนี้ถ้าจะบอกว่า เขาเป็นนักลงทุนพอร์ตร้อยล้านอาจจะน้อยเกินไป

“1 ล้านแรกที่บอกว่ายากที่สุด มันยากที่สุดจริงๆ สำหรับคนที่มีเงินทุนเริ่มต้นน้อยไม่ควรกระจายลงทุนหุ้นหลายตัว ผมแนะนำให้เลือกหุ้นที่ดีที่สุดมา 1-2 ตัวแล้วเทให้หมดหน้าตัก เพราะถ้าทำแบบนี้เราจะศึกษาหุ้นตัวนั้นอย่างดีที่สุด ลงทุนอย่างรอบคอบที่สุด บางจังหวะที่ควรกล้าจะต้องกล้า แต่กล้าอย่างมีหลักการ”

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ทำงานประจำ หาความรู้เพิ่ม เติบโตในสายงาน ออมเงินจากการทำงาน ทยอยลงทุนในตลาดหุ้นและกองทุนรวม

แม้ว่า จะเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งด้วยเงินเดือนไม่มากนัก แต่ 1 ล้านบาทแรกของ “ศกุนพัฒน์จิรวุฒิตานันท์” กรรมการบริหาร Treasurist (เจ้าของเพจ Thailand Investment Forum หรือ TIF) ได้มาจากการเก็บเล็กผสมน้อยจากการทำงานประจำ และนำไปต่อยอดโดยการลงทุนในตลาดหุ้น

“หลังจากจบ MBA ด้านการเงิน ศ.(พิเศษ) ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาสมัยเรียนปริญญาตรีก็มาชวนไปทำงานที่ บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร ดูแลเรื่องการลงทุน ซึ่งแม้จะตรงสายที่เรียนมา แต่ก็ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน ทำให้ช่วงนั้นต้องไปเรียน ไปสอบใบอนุญาตในการเป็นนักวิเคราะห์และผู้แนะนำการลงทุน เพราะคิดว่ามีประโยชน์ต่อการทำงาน

และเมื่องานหนัก ทุ่มเท ทำให้ได้ผลงานดี พอร์ตของบริษัทชนะตลาดตลอดเวลา ทำได้ดี ก็เลยเติบโตในสายงานที่ทำ รายได้มากขึ้น และมีกำลังในการออมมากขึ้นด้วย”

ศกุนพัฒน์ เล่าว่า เมื่อมีเงินออมครบ1 แสนบาท เปลี่ยนจากการเก็บในบัญชีเงินฝากมาลงทุนในตลาดหุ้น และใช้วิธีการลงทุนเป็นประจำ (DCA) โดยตั้งกฎของตัวเองเอาไว้ว่า “ถ้าไม่ใกล้ตายจะไม่เอาเงินก้อนนี้ออกมาใช้ จะไม่ถอนเงินที่ลงทุนในหุ้นมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน”

ทุกวันนี้เขายังทำตามกฎข้อนั้นอย่างเคร่งครัด เพียงแต่เปลี่ยนจากการลงทุนในหุ้นทั้งหมด มาเป็นกองทุนรวมแทน เพื่อให้มีเวลาเหลือไปทุ่มเทกับธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น

“ทุกคนอยากมีฐานะดี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ถนัดเรื่องการลงทุน ขณะที่กองทุนรวมเป็นเครื่องมือให้คนทั่วไปลงทุนไป พร้อมๆ กับการทำงานที่ถนัดได้ด้วย” ศกุนพัฒน์ กล่าว

หลังจากเห็นที่มาของ 1 ล้านบาทแรกจากทั้ง 3 เส้นทางไปแล้ว พอจะนึกออกบ้างหรือยังว่า “แล้ว 1 ล้านบาทแรกในชีวิตของเราจะมาจากไหน”

บางคนอาจจะพอมีแนวทางอยู่ในใจแต่หลายคนอาจจะไม่มั่นใจ พร้อมกับมีเสียงเล็กๆ ข้างๆ หูว่า “มันไม่มีทางเป็นไปได้”

แต่เชื่อหรือไม่ว่า เราทุกคนสามารถมีเงินล้านได้ไม่ยาก ด้วยเงินออมอยู่น้อยเดือนละไม่กี่ร้อยบาท โดยไม่ต้องทำงานในระดับบริหาร ไม่ต้องทำธุรกิจได้ดี และไม่ต้องเป็นนักลงทุนเต็มเวลา เพียงแต่ต้องนำเงินน้อยนิดของเราไปลงทุนง่ายๆ ในกองทุนรวมที่ทำให้ได้ผลตอบแทนเหมาะสม ในระยะเวลาที่นานพอ

กว่าจะเป็นเศรษฐีไม่มี 'สูตรสำเร็จ'

ในฐานะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทูมอร์โรว์ กรุ๊ป และ บริษัท สต็อคทูมอร์โรว์ ทำให้ "ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา" เห็นเส้นทางความมั่งคั่งของคนรุ่นใหม่ในหลากหลายรูปแบบ เขาจึงยืนยันได้ว่า "วิธีการสร้างความมั่งคั่งของแต่ละคนไม่มีใครเหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จ""แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวในยุคนี้คนที่อยากจะมั่งคั่งต้องเป็นคนที่สามารถทำอะไรได้เกิน 1 อย่าง เช่น ทำงานประจาพร้อมกับลงทุนไปด้วย หรือ ทำงานประจำและทำธุรกิจส่วนตัว และต้องทำแต่ละอย่างด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นทุ่มเท ถึงจะทำเยอะแต่ต้องโฟกัส ใช้ศักยภาพ ของตัวเองให้เต็มที่ บริหารเวลาให้ดี"และไม่ว่าจะทาอะไรคู่กับอะไร ปิยพันธ์บอกว่า "คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกคนจะต้องมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น เพราะฉะนั้นอดทนไว้เถิดจะเกิดผล"