posttoday

จัดสรรเงินแบบไหน พอใช้ตลอดวัยเกษียณ

03 มกราคม 2560

เป้าหมายของพอร์ตการลงทุนสำหรับคนเกษียณเป็นการบริหารพอร์ตเพื่อให้เงินพอใช้ตลอดอายุเกษียณ

โดย...โพสต์ทูเดย์ WEALTH plus

เงินก้อนสุดท้าย หรือเงินที่เตรียมไว้สำหรับใช้ตลอดวัยเกษียณอย่างน้อยที่สุดจะต้อง

1.จัดสรรให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน และ

2.เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อ

หรือบางคนจะเพิ่ม ข้อ 3.ไปด้วยก็ได้ คือ เหลือเป็นมรดกทิ้งไว้ให้ลูกหลาน

เพราะฉะนั้น “เป้าหมายของพอร์ตการลงทุนสำหรับคนเกษียณจึงเป็นการบริหารพอร์ตเพื่อให้เงินพอใช้ตลอดอายุเกษียณ ไม่ใช่การรักษาเงินต้น” สาธิต บวรสันติสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต แนะนำ พร้อมกับให้แนวทางการจัดพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมสำหรับคนเกษียณว่า ควรจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

- ควรเป็นการลงทุนที่มีความมั่นคง

- ควรกระจายความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท

- พอร์ตส่วนใหญ่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ

- อย่างน้อยควรให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ

- ควรมีสภาพคล่องสูง เพราะอาจจำเป็นต้องขายหลักทรัพย์เพื่อมาใช้จ่าย 

- ควรให้รายได้ประจำอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งหมดนี้ ควรกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ 3 ประเภท ตามสัดส่วน ดังนี้

สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล กองทุนตลาดเงิน 40-80%

สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง เช่น หุ้นกู้เอกชน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว 20-40%

สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นกองทุนหุ้น 5-15%

จัดสรรเงินแบบไหน พอใช้ตลอดวัยเกษียณ

หรือถ้าจะดูจาก “ระยะเวลาที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่” ก็สามารถจัดพอร์ตให้เหมาะสำหรับวัยเกษียณในแต่ละช่วงอายุ หรือตามจำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ ตามที่ ซู สตีเฟน แนะนำเอาไว้ใน morningstar.com โดยแบ่งรูปแบบการจัดพอร์ตเอาไว้ 5 แบบ

1.คุ้มครองเงินต้น

เหมาะกับคนที่คิดว่าคงจะมีอายุอยู่ได้อีกไม่เกิน 10 ปี หรืออายุไม่ถึง 70 ปีพอร์ตลงทุนแบบนี้จึงมีเงินสดอยู่ถึง 25%
และอีก 55% เป็นตราสารหนี้ แต่ก็ยังมีสัดส่วนหุ้นอยู่ถึง 20%

2.อนุรักษ์

เหมาะสำหรับคนที่คิดว่าจะมีอายุยืนมากกว่า 70 ปี หรือมากกว่า 10 ปี หลังเกษียณ แต่ก็ยังไม่ต้องการรับความเสี่ยงมากเกินไป ขอเพียงแค่ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินเฟ้อสักหน่อย จึงควรจะลดสัดส่วนของเงินสดให้เหลือเพียง 10% ขณะที่ตราสารหนี้ยังอยู่ที่ 55% ตามเดิมแต่เพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นขึ้นมาเป็น 35%

3.สมดุล

สำหรับคนที่คิดว่าอายุจะยืนมากกว่า 15 ปี นับจากวันเกษียณ และต้องการเอาชนะเงินให้ได้ไม่น้อยกว่า 3% ต่อปี แถมยังสามารถยอมรับความผันผวนจากการลงทุนที่อาจจะมีทั้งปีที่ดีและที่ย่ำแย่ ก็สามารถใส่เงินลงทุนไว้ในตลาดหุ้นได้ถึง
50% ตราสารหนี้ 45% และเงินสดอีกเพียง 5%

4.เติบโต

เหมาะสำหรับคนที่คาดว่าอายุจะยืนยาวมากกว่า 15 ปี หลังเกษียณเช่นกันแต่ต้องการเอาชนะเงินเฟ้อมากกว่า 4%
ต่อปี เพราะฉะนั้นต้องยอมรับการขาดทุนในบางปี เพราะจะเพิ่มการลงทุนหุ้นเพิ่มเป็น60% ลดตราสารหนี้ลงมาเหลือ 35% และคงเงินสดไว้ที่ 5%

5.ก้าวหน้า

เหมาะสำหรับคนที่คาดว่าจะมีอายุยืนยาวไป 20 ปี นับจากวันเกษียณ (ซึ่งมีความเป็นไปได้มากสำหรับคนในยุคปัจจุบัน) ซึ่งต้องยอมรับว่า ผลตอบแทนมีความผันผวนสูงและอาจจะต้องเจอกับภาวะขาดทุนอย่างน้อยสองปี ติดต่อกันเพราะมีการลงทุนหุ้นสูงถึง 75% ตราสารหนี้20% และเงินสด 5%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เป็นการลงทุนหุ้นสามารถกระจายความเสี่ยง โดยการลงทุนสินทรัพย์หลากหลายประเภท หุ้นหลากหลายกลุ่มก็ได้ เช่น ลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก หุ้นต่างประเทศรวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ และทองคำ