posttoday

เก็บเงิน (ให้ได้) ล้านแรก

24 พฤศจิกายน 2559

เงินล้านสมัยนี้ไม่ได้มากมาย ซื้อบ้านได้ไม่ถึงครึ่งหลัง หรือเผลอๆ ซื้อรถมือหนึ่งสักคันจ่ายประกันจิปาถะก็แทบไม่เหลือเงินติดกระเป๋า

โดย...ราตรีแต่ง

เงินล้านสมัยนี้ไม่ได้มากมาย ซื้อบ้านได้ไม่ถึงครึ่งหลัง หรือเผลอๆ ซื้อรถมือหนึ่งสักคันจ่ายประกันจิปาถะก็แทบไม่เหลือเงินติดกระเป๋า แล้วก็ช่างแตกต่างจากตอนเก็บเงินเสียยิ่งนัก แค่ฝันอยากมีเงิน 1 ล้านบาทแรก แต่พอรับเงินเดือนมาก็มีทั้งรายจ่ายประจำ ทั้งต้องมานั่งต่อสู้กับกิเลสสิ่งที่อยากได้นานาประดามีช่างนับไม่ถ้วน สุขภาพทางการเงินรวนแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ละเดือนๆ มารู้ตัวอีกทีก็ผ่านพ้นไปหลายปีอายุปาเข้าไปเลขสาม เลขสี่ ยังไม่มีเงินเก็บเลย แบบนี้เรียกว่าสัญญาณอันตราย

ยุทธวิธีพื้นฐานที่จะมีเงิน 1 ล้านบาทแรกไว้ในบัญชี ลองทำกันดู 3 ข้อที่ไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถคนตั้งใจจริง บอกเลยไม่เกินฝัน

1.เริ่มต้นเร็วกว่าใคร

คนส่วนใหญ่เริ่มคิดเรื่องอนาคตตั้งแต่อายุเลขสอง เมื่อได้การได้งานทำเป็นมนุษย์เงินเดือน และใช้เวลาหลายสิบปีในการบรรลุเป้าหมาย เริ่มจากออมเงินให้สม่ำเสมอ ลงทุนอย่างเรียบง่าย และไม่ค่อยออกนอกเส้นทางไปไหน แม้ว่ารายได้หรืออายุจะเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยคนนิสัยแบบนี้มักเป็นเศรษฐีที่อายุ 59 ปี ดังนั้นวิธีการปรับวินัยการเงิน เพื่อเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาทแรกนั้น ต้องเริ่มจากปรับเป้าหมายใหญ่ขึ้น ใหญ่ให้มากพอที่เราจะมองข้ามอุปสรรค และความลำบากของการอดออมให้ได้ คิดถึงความสะดวกสบายที่มีบ้านโดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าทุกๆ เดือน คิดถึงความมั่นคงของชีวิต คิดถึงการใช้ชีวิตอย่างคนไม่ประมาท

2.ออมแบบจัดเต็มไปเลย

เศรษฐีเงินล้านไม่มีใครออมต่ำกว่า 10-15% ของรายได้ ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนเพื่อการเกษียณเปิดโอกาสให้ออมได้สูงสุดเท่าไร ให้ใส่เพิ่มเต็มเหยียดไว้ ผลสำรวจพบว่าเงินล้านรองรังของคนกลุ่มนี้มาจาก “เงินฟรี” ที่นายจ้างสมทบให้ถึง 28% ต่อให้เป็นมนุษย์เงินเดือนฐานเงินเดือนต่ำสุด 1.5 หมื่นบาท ก็สามารถเก็บเงินให้ถึงหลักแสนยาวไปถึงหลักล้านได้ ขอแค่มีวินัยในการใช้จ่าย และมีความขยันอดทน หรือถ้าเงินเดือนมากกว่านี้ จะต้องเก็บเงินให้ได้ประมาณปีละ 2 แสนบาท เพียง 5 ปีก็ก้าวสู่เป้าหมายแล้ว

3.จดจ่อที่เป้าหมาย

ฝึกใจให้แข็งเรื่องยั่วยวนใจไร้สาระ และมีระเบียบระบบใช้ชีวิตตลอดเวลาหลายปีโดยมีเป้าหมายแบบกัดไม่ปล่อย สัญญากับตัวเองว่าขอมี 1 ล้านบาทแรกก่อน ค่อยคิดอยากตามใจตัวเอง ออมโดยการฝากประจำไปเรื่อยๆ จนครบกำหนดถอนไปใส่กองทุนหุ้น (ตราสารทุน) โอนเข้าพอร์ตเพื่อซื้อหุ้นตอนราคาร่วง ทำแบบนี้เป็นประจำสม่ำเสมอ จนได้ล้านบาทแรก ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากมาก คนที่ทำได้เงินเดือนไม่ได้มากมาย แต่ไม่หมิ่นเงินน้อย

ตัวอย่าง การออมสม่ำเสมอของคนรับเงินเดือน โดยเพิ่มเงินขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี

ปีแรก เก็บเดือนละ 1,000 บาท เก็บได้ 1.2 หมื่นบาท

ปีที่ 2 เก็บเดือนละ 2,000 บาท เก็บได้ 2.4 หมื่นบาท

ปีที่ 3 เก็บเดือนละ 3,000 บาท เก็บได้ 3.6 หมื่นบาท

ปีที่ 4 เก็บเดือนละ 4,000 บาท เก็บได้ 4.8 หมื่นบาท

ปีที่ 5 เก็บเดือนละ 5,000 บาท เก็บได้ 6 หมื่นบาท

ปีที่ 6 เก็บเดือนละ 6,000 บาท เก็บได้ 7.2 หมื่นบาท

ปีที่ 7 เก็บเดือนละ 7,000 บาท เก็บได้ 8.4 หมื่นบาท

ปีที่ 8 เก็บเดือนละ 8,000 บาท เก็บได้ 9.6 หมื่นบาท

ปีที่ 9 เก็บเดือนละ 9,000 บาท เก็บได้ 1.08 แสนบาท

ปีที่ 10 เก็บเดือนละ 1 หมื่นบาท เก็บได้ 1.44 แสนบาท

เงินจำนวนนี้ยังไม่รวมผลตอบแทนการลงทุนที่ต้องเรียนรู้กันอีกหลายๆ วิธี รวมเงินทั้งหมดเก็บได้ 6.84 แสนบาท เคล็ดลับการก้าวสู่เป้าหมายนี้ คือ ต้องมีการสรุปรายรับ รายจ่ายทุกสิ้นเดือน ดังนั้นก็จะเห็นเงินเก็บเสมอ อย่าท้อที่มักจะมีเรื่องใช้จ่ายที่คาดไม่ถึงมาสกัดอยู่เป็นระยะ ตัวเลขที่เป็นเงินเก็บนี้เป็นกำลังใจให้ทำงานต่อได้อย่างดี

เงินหมื่นแรก แสนแรก ล้านแรก ใช้เวลานานทั้งนั้น แต่เงินเก็บก้อนแรก 1 ล้านบาทแรกนี้เอง ถ้าผ่านได้เมื่อไหร่ ล้านที่สอง ล้านที่สาม กูรูนักบริหารเงินล้วนบอกตรงกันว่า ง่ายกว่าล้านแรกเยอะเลย เพราะในช่วงแรกที่มีรายได้ เราไม่รู้ว่าต้องเก็บยังไง ต้องต่อสู้กับอุปสรรคที่คอยจะดึงเงินจากกระเป๋าอย่างไร

แถมไม่รู้จักวิธีการลงทุนให้เงินของเราทำงาน ก็ย่อมติดขัดเป็นธรรมดา แต่พอเจอทางที่ถูกต้อง ปรับนิสัยตัวเอง หาความรู้ เรียนรู้หาช่องทางการลงทุน และวางแผนในระยะยาวไว้อย่างดี ก็ดูเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาทันที