posttoday

โอนเงินไปต่างประเทศ วิธีง่ายๆ แต่จ่ายค่าธรรมเนียมมาก!

23 กรกฎาคม 2559

นานทีปีหนถึงจะมีเหตุให้ต้องทำธุรกรรมทางการเงินกับชาวต่างชาติ ถึงได้ไม่เคยรู้ว่า การโอนเงินไปต่างประเทศ

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

นานทีปีหนถึงจะมีเหตุให้ต้องทำธุรกรรมทางการเงินกับชาวต่างชาติ ถึงได้ไม่เคยรู้ว่า การโอนเงินไปต่างประเทศ มันแสนจะสะดวกสบาย ง่ายมากๆ แค่เดินไปที่สาขาธนาคารที่มีบริการโอนเงินต่างประเทศ (เพราะไม่ใช่ทุกแห่งที่จะมีบริการนี้)

ทางฝั่งคนโอนก็ใช้เวลาทำรายการไม่กี่นาที (ถ้าไม่มีคิวก่อนหน้า) ขณะที่ทางฝั่งคนรับเงินก็รอไม่กี่วันก็ได้เงินแล้ว... ดี๊ดี

ไป SWIFT ที่สาขาธนาคาร

ถามไปถามมา ได้ความว่า ระบบที่โอนเงินไปต่างประเทศแสนสะดวกที่ธนาคารให้บริการอยู่ เป็นบริการโอนเงินไปต่างประเทศด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือมีชื่อเล่นว่า SWIFT ซึ่งเป็นวิธีการโอนระหว่างธนาคารที่ใช้กันทั่วโลก

จากข้อมูลของธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ในปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 150 ประเทศ 1,500 ธนาคาร 2.5 หมื่นสาขา ทุกทวีปทั่วโลก ที่ใช้เครือข่าย SWIFT

เราสามารถโอนเงินให้กับบุคคลธรรมดา หรือบริษัทก็ได้ แต่จะโอนในระบบนี้ได้ เราต้องมี...

1.ชื่อบัญชี เลขที่บัญชี และที่อยู่ของคนรับเงินในต่างประเทศ

2.ชื่อและที่อยู่ของธนาคารที่คนรับเงินมีบัญชีอยู่

3.SWIFT Code หรือ Address SWIFT ของธนาคารที่คนรับเงินมีบัญชีอยู่ โดยจะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ และอาจจะมีตัวเลขอยู่ด้วย ความยาวไม่เกิน 11 ตัวอักษร โดย4 ตัวแรกจะเป็นชื่อธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงเทพ BKKBTHBK และธนาคารกสิกรไทยKASITHBK

ถ้าไม่มี หรือไม่รู้ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะเราสามารถค้นหา SWIFT Code ได้ที่ theswiftcodes.com ซึ่งถ้าโชคดีเจอเจ้าหน้าที่ใจดี เขาจะช่วยหาให้เราได้

แต่ถ้าจะให้ดี ต้องให้คนรับเงินไปขอ SWIFT Code จากธนาคารปลายทางมาให้จะดีที่สุด และเขียนให้ชัดเจน เพราะ SWIFT Code สำคัญมาก เพราะถ้าใส่ผิดก็เหมือนเขียนที่อยู่ผิด โอนเงินไปผิดธนาคาร ผิดสาขา และถ้าเกิดผิดขึ้นมา เราในฐานะคนโอนก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการแก้ไขให้ถูกต้อง

4.เอกสารแสดงวัตถุประสงค์ของการโอนเงินในครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้จำกัดจำนวนในการโอนเอาไว้

เพียงแต่ถ้าเป็นการโอนเงินเงินจำนวนมากกว่า 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ (หรือเทียบเท่ากรณีเป็นเงินสกุลอื่น) ไม่ว่าจะเป็นการโอนไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไรก็จะต้องยื่น “แบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ” อีกอย่างหนึ่งด้วย

หลังจากโอนเงินไปเรียบร้อยแล้วจะใช้เวลาประมาณ 2 วัน ทางฝั่งผู้รับโอนจะได้รับเงิน แต่ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการของธนาคารทางฝั่งนั้นด้วยว่า ใช้เวลาดำเนินการนานแค่ไหน

โอนเงินไปต่างประเทศ วิธีง่ายๆ แต่จ่ายค่าธรรมเนียมมาก!

 

นอน SWIFT อยู่ที่บ้าน

นอกจากนี้ เรายังเพิ่มความสะดวกสบายขึ้นไปได้อีก เพราะตอนนี้ธนาคารหลายแห่ง เปิดให้บริการโอนเงินไปต่างประเทศผ่านธนาคารออนไลน์ได้แล้ว เช่น ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา และทหารไทย

ถ้าการโอนผ่านธนาคารออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง เราสามารถโอนจากที่ไหนก็ได้ และโอนเมื่อไรก็ได้ เพราะสามารถทำรายการได้ตลอด 24 ชั่วโมง และธนาคารจะดำเนินการโอนให้ทันที ยกเว้นการทำรายการโอนนอกช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ธนาคารจะทำรายการให้ในวันถัดไป

เพียงแต่ก่อนที่จะทำรายการได้ จะต้องเปิดใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และไปสมัครบริการโอนเงินต่างประเทศไว้ก่อนถึงจะเริ่มโอนเงินได้ โดยส่วนใหญ่จะให้กรอกข้อมูลสมัครทางออนไลน์ แต่ยังต้องส่งเอกสารไปที่สาขาธนาคาร และหลังจากธนาคารได้รับเอกสารเรียบร้อยแล้ว จะใช้เวลาอนุมัติประมาณ 3-5 วัน

หลังจากนั้นก็เริ่มโอนได้เลย แต่อาจจะมีข้อจำกัดในการโอนเฉพาะบางวัตถุประสงค์ เช่น

ธนาคารกรุงเทพ เปิดให้โอนได้ ถ้าเป็นการโอนไปเพื่อ...

- ค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาในต่างประเทศ

- ส่งเงินให้ญาติที่มีถิ่นพำนักถาวรในต่างประเทศ

- โอนเงินของคนไทยที่มีถิ่นพำนักถาวรในต่างประเทศ

- ชำระค่าสินค้า

- ชำระค่าบริการ

- ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว

- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว

- เงินให้เปล่า

- เงินบริจาค

โอนเงินไปต่างประเทศ วิธีง่ายๆ แต่จ่ายค่าธรรมเนียมมาก!

 

และโอนเงินออมของชาวต่างประเทศที่ทำงานในประเทศไทย เช่น เงินเดือน โบนัส หรือค่าจ้าง

ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย เปิดให้โอนได้เฉพาะ

- ค่าการศึกษา

- ส่งเงินไปให้ครอบครัวหรือญาติพี่น้องที่มีถิ่นพำนักถาวรในต่างประเทศ

และเงินออมของชาวต่างประเทศที่ทำงานในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังถูกจำกัดจำนวนที่โอนได้แต่ละวันด้วย โดยธนาคารกสิกรไทย กำหนดวงเงินสูงสุดไว้ที่ 1 ล้านบาท/User ID/วันขณะที่ธนาคารกรุงเทพกำหนดไว้ไม่ให้โอนเกิน 2.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ/วัน ไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ/เดือน และไม่เกิน 5 เหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่าต่อปี

Western Union และ MoneyGram

แม้ว่าการโอนผ่านระบบ SWIFT จะทำให้การโอนเงินไปต่างประเทศง่ายมาก แต่ถ้าต้องการให้คนรับเงินได้รับเงินเร็วขึ้น ก็ต้องใช้บริการ “ตัวแทนรับโอนเงิน”

เจ้าใหญ่ๆ ที่มีให้บริการในประเทศไทยมีอยู่ 2 เจ้า คือ Western Union และ MoneyGram ที่โฆษณาว่า สามารถโอนเงิน-รับเงินได้ทั่วโลกภายใน 5-10 นาที

ถ้าจะโอนเงินผ่านตัวแทนรับโอนทั้งสองเจ้าก็สามารถเดินเข้าไปที่ธนาคารที่เป็นตัวแทนของแต่ละแห่ง โดยมีธนาคารหลายแห่งให้บริการโอนเงินผ่าน Western Union ขณะที่ MoneyGram จะมีอยู่ไม่กี่ธนาคาร เช่น ไทยพาณิชย์ ทหารไทย ซีไอเอ็มบี ไทย และ ออมสิน หรือจะไปที่บูธของแต่ละแห่งเองก็ได้

วิธีการโอนเงินของทั้งสองแห่งไม่แตกต่างกันมากนัก และที่สำคัญ คือ คนรับโอนไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารก็ได้

ถ้าเป็นการโอนโดย Western Union จะเริ่มจาก...

1.กรอกรายละเอียดลงใน “แบบฟอร์มการส่งเงิน”

2.ยื่นแบบฟอร์มที่กรอกเรียบร้อยแล้ว พร้อมเอกสารแสดงตน เช่น พาสปอร์ต/บัตรประชาชน และชำระเงินค่าธรรมเนียม

3.จากนั้นเจ้าหน้าที่จะส่งข้อมูลการโอนเงินของเราผ่านระบบคอมพิวเตอร์

4.เมื่อโอนเงินเรียบร้อยแล้ว เราจะได้รับใบเสร็จที่มี “หมายเลขกำกับการโอนเงิน” (MTCN) หรือหมายเลขอ้างอิงจากเจ้าหน้าที่

5.แจ้งหมายเลขกำกับการโอนเงินให้คนรับทราบ และต้องแจ้งรายละเอียด ชื่อคนส่งเงิน จำนวนเงินที่โอน และประเทศต้นทาง เพียงเท่านี้คนรับโอนก็สามารถไปรับเงินได้ที่ตัวแทนในประเทศของเขาได้แล้ว แต่ต้องไม่ลืมเช็กเงื่อนไขการรับเงินของประเทศนั้นๆ ด้วย

เมื่อการรับโอนทำได้ง่ายขนาดนี้ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะตัวแทนรับชำระเงินของ Western Union เตือนไว้ว่า “ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลการโอนเงิน และหมายเลขกำกับการโอนเงินให้ผู้อื่นทราบ นอกจากผู้รับเงินเท่านั้น”

เจอค่าธรรมเนียม...  ต้องทำใจ

วิธีการโอนเงินไปต่างประเทศง่ายๆ แบบนี้ต้องแลกมาด้วย “ค่าธรรมเนียม” ที่น่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นการโอนผ่านระบบ SWIFT หรือตัวแทนรับโอนเงิน (ตัวอย่างค่าธรรมเนียมตามตาราง)

ถ้าเป็นระบบ SWIFT จะเลือกจ่ายค่าธรรมเนียมได้ 2 แบบ ได้แก่ เก็บค่าธรรมเนียมทั้งหมดจากคนส่ง หรือคนส่งและคนรับรับผิดชอบภาระค่าธรรมเนียมร่วมกัน

แต่ถ้าต้องการให้คนรับเงินได้รับเงินโอนเต็มจำนวน เราในฐานะคนโอนก็ต้องรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมเอง

ตัวอย่างค่าธรรมเนียมการโอนเงินของธนาคารกรุงเทพ ถ้าให้คนรับเป็นคนจ่ายเงินค่าธรรมเนียมที่ธนาคารต่างประเทศเรียกเก็บเอง เราจะเสียค่าธรรมเนียมแค่ 400 บาท/รายการ แต่ถ้าคนโอนจ่ายเอง จะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1,150 บาท/รายการ (จะโอนมากโอนน้อยก็จ่ายเท่ากัน)

เราอาจจะประหยัดค่าธรรมเนียมลงไปได้หน่อย ถ้าเป็นการโอนผ่านทางอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง เพราะจะมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าไปโอนที่สาขา

ถ้าเรื่องระยะเวลาในการรับเงินโอนและความสะดวกในการรับเงินของคนรับไม่ใช่ประเด็นปัญหา เราคงต้องเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมสักหน่อยก่อนจะโอน แต่ถ้าเป็นการโอนเงินมากกว่า 1 หมื่นเหรียญสหรัฐ การใช้ระบบ SWIFT จะประหยัดกว่า

และสัปดาห์หน้าจะพาไปรู้จักกับวิธีการโอนเงินไปต่างประเทศ แบบที่เริ่มต้นไม่ง่าย แต่จ่ายค่าธรรมเนียมนิดเดียว